TK แจง Q1/64 กำไรยังโตสวนโควิด-ผุดธุรกิจนายหน้าประกันวินาศภัยนิติบุคคล Q3/64

น.ส.ปฐมา พรประภา กรรมการผู้จัดการ บมจ.ฐิติกร (TK) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/64 บริษัทมีกำไรสุทธิรวม 97.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ที่ 94 ล้านบาท และรายได้รวมเท่ากับ 538.7 ล้านบาท ลดลง 27.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้ 740.9 ล้านบาท

ขณะที่รายได้อื่น ๆ มีจำนวน 151.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.8% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อน เป็นผลมาจากการบริหารจัดการ ตั้งหน่วยงานเพื่อติดตามหนี้ค้างชำระ ติดตามลูกหนี้ให้ชำระค่างวดอย่างสม่ำเสมอ โดย TK ยังคงมีเป้าหมายในการสร้างรายได้จากการดำเนินธุรกิจในประเทศ และการขยายธุรกิจเพื่อเพิ่มสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศ

สภาวะตลาดรวมในประเทศ ยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ ไตรมาส 1/64 จำนวน 436,215 คัน เพิ่มขึ้น 1.2% จาก 431,004 คัน ในช่วงเดียวของปีก่อน และยอดจำหน่ายรถยนต์ ไตรมาส 1/64 จำนวน 194,137 คัน ลดลง 3.0% จาก 200,064 คัน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และจากนโยบายเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของบริษัทฯ ส่งผลต่อจำนวนลูกหนี้ โดยมีลูกหนี้เช่าซื้อรวม 4,249.4 ล้านบาท ลดลง 7.4% จาก 4,591.3 ล้านบาท เมื่อเทียบกับสิ้นปี 63 และมีลูกหนี้เช่าซื้อรถจักรยานยนต์ 3,775.4 ล้านบาท ลดลง 6.9%

ทั้งนี้ เป็นลูกหนี้เช่าซื้อรถจักรยานยนต์ในต่างประเทศมีจำนวน 1,084 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.0% จาก 1,062 ล้านบาท ซึ่งลูกหนี้เช่าซื้อเริ่มกลับมาขยายตัวอีกครั้งหลังจากที่หดตัวเป็นครั้งแรกในปีที่ผ่านมา เนื่องจากการระบาดของโควิด-19

ในไตรมาส 2/63 ที่ผ่านมา มีมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่ทางบริษัทฯ ไม่ได้ใช้สิทธิผ่อนปรนการจัดชั้นลูกหนี้ตามมาตรการผ่อนปรนชั่วคราวของสภาวิชาชีพบัญชีของประเทศไทย ทำให้สำรองลูกหนี้ ณ ไตรมาส 1/64 มีจำนวน 530.8 ล้านบาท ลูกหนี้ค้างชำระเกิน 3 เดือน 8.5% Coverage Ratio = 130.4% ซึ่งเปรียบเทียบกับ ณ สิ้นปี 63 ที่มีสำรองลูกหนี้ จำนวน 561.7 ล้านบาท ลูกหนี้ค้างชำระเกิน 3 เดือน 9.2% Coverage Ratio = 118.3%

ณ ไตรมาส 1/64 บริษัทมีสินทรัพย์รวม 6,796.3 ล้านบาท ลดลง 7.6% จาก 7,356.8 7 ล้านบาท เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2563 และมีหนี้สินรวม 1,318.6 ล้านบาท ลดลง 34.1% จาก 2,000.5 ล้านบาท เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2563 โดยอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E Ratio) อยู่ที่ 0.24 เท่า ลดลงจาก 0.37 เท่า เมื่อเทียบกับสิ้นปี 63 อีกทั้งยังมีเงินสดอีก 1,607 ล้านบาท พร้อมในการขยายธุรกิจ

น.ส.ปฐมา กล่าวว่า นอกจากการเพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อแล้ว TK ยังได้จัดโปรโมชั่นเพื่อกระตุ้นตลาด ซึ่งได้รับการตอบรับจากลูกค้าในระดับที่น่าพอใจ รวมทั้งยังมีกลยุทธ์ด้านการลงทุนในธุรกิจใหม่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ล่าสุด ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ได้อนุมัติจัดตั้งบริษัทย่อยใหม่ เพื่อดำเนินธุรกิจการเป็นนายหน้าประกันวินาศภัยนิติบุคคล คาดว่าจะจัดตั้งบริษัทใหม่ดังกล่าวแล้วเสร็จภายในไตรมาส 3/64 โดยนำร่องนำเสนอประกัน “โควิด-19 ซูเปอร์ ชีลด์” ให้กับลูกค้า ซึ่งได้รับความสนใจจากทั้งลูกค้าเดิมของ TK และลูกค้าใหม่

ด้านการขยายธุรกิจเพื่อเพิ่มสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศ TK ได้เตรียมความพร้อมในทุกด้านทันทีที่สถานการณ์ต่าง ๆ ปรับตัวไปในทางที่ดีขึ้น ทั้งดีลการซื้อกิจการ MFIL ในเมียนมา รวมทั้งการขยายสาขาเพิ่มในกัมพูชา และ สปป.ลาว

“จากแผนงานการเริ่มกระจายและฉีดวัคซันป้องกันไวรัสโควิด-19 ในประเทศของภาครัฐ เราเชื่อมั่นว่ากลไกดังกล่าวจะส่งผลให้สถานการณ์การแพร่ระบาดลดลงจนทำให้ประชาชนสามารถกลับมาดำเนินชีวิตได้ใกล้เคียงปกติในอนาคตอันใกล้นี้ โดยคาดว่า สิ้นปี 64 สัดส่วนลูกหนี้เช่าซื้อรถจักรยานยนต์ของ TK จะเริ่มกลับมาขยายตัวอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม TK ได้เตรียมแผนธุรกิจสำหรับทุกสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ที่ยังคงยืดเยื้อ หรือสถานการณ์ที่พลิกกลับมาดีแบบเร็วกว่าที่คาดการณ์ ด้วยแผนรุกและแผนตั้งรับ ด้วยโครงการให้ความช่วยเหลือลูกค้าในหลายรูปแบบเมื่อถึงเวลา หรือแผนด้านการเงินเพื่อความพร้อมทางทุนและบุคลากรในการขยายบริการธุรกิจเช่าซื้อ รวมทั้งธุรกิจใหม่อย่างธุรกิจนายหน้าประกันภัย หรือธุรกิจใหม่อื่น ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ” น.ส.ปฐมา กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 พ.ค. 64)

Tags: , , , , ,
Back to Top