สัมภาษณ์พิเศษ: HPT เปิดฉากเทิร์นอะราวด์ สานเป้าใหญ่มุ่งสู่ Global Brand

ราคาหุ้น บมจ.โฮมพอตเทอรี่ (HPT) ส่งสัญญาณกลับตัวเป็นขาขึ้นรอบใหม่ได้อีกครั้ง หลังจากก่อนหน้านี้ตอบสนองปัจจัยเชิงลบเรื่องผลประกอบการปี 2563 ที่เกิดผลขาดทุนเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่ผ่านมาเนื่องด้วยผลกระทบการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ลุกลามหลายประเทศทั่วโลก ทำให้คำสั่งซื้อของฐานลูกค้าหลักต่างประเทศที่มีสัดส่วนกว่า 80% ของรายได้รวมต้องถูกชะลอไปชั่วคราว แต่เมื่อเข้าสู่ปี 2564 สถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มมีทิศทางผ่อนคลายเริ่มมองเห็นสัญญาณเชิงบวกคำสั่งซื้อของกลุ่มลูกค้าเดิมและกลุ่มลูกค้าใหม่ทยอยไหลเข้ามาในบริษัทมากขึ้น จึงทำให้บริษัทมองเห็นถึงโอกาสที่ผลประกอบการปี 64 จะสามารถกลับมาเติบโตโดดเด่นมากกว่าเท่าตัว

ย้อนรอยฝ่าโควิดผ่านจุดต่ำสุดก่อนมุ่งสู่การเติบโตก้าวกระโดดมากกว่า 100% ในปีนี้

นางสาวนิจวรรณ เชาว์กิตติโสภณ กรรมการผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บมจ.โฮมพอตเทอรี่ (HPT) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารเซรามิกระดับสากล กล่าวว่า ผลประกอบการปี 63 เกิดการขาดทุนครั้งแรกในรอบหลายปี แม้ในไตรมาส 1/63 บริษัทยังสามารถส่งออกสินค้าได้ตามปกติ แต่ด้วยการแพร่ระบาดลุกลามเข้าสู่ประเทศที่เป็นกลุ่มลูกค้าหลักที่มีสัดส่วนส่งออกกว่า 80% เช่น ประเทศสหรัฐฯ ,กลุ่มประเทศแถบยุโรป ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจประเภทโรงแรมและร้านอาหารขนาดใหญ่ที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก ทำให้บริษัทกลับมาปรับกลยุทธ์ด้วยการชะลอการผลิตสินค้าออกไปกว่า 3 เดือนเพื่อควบคุมต้นทุนและลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ทำให้บริษัทสามารถผ่านพ้นช่วงวิกฤติครั้งนี้มาได้ แม้ว่าจะขาดทุนสุทธิกว่า 8 ล้านบาท แต่ถือเป็นตัวเลขที่ไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับวิกฤติที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงในครั้งนี้

ส่วนปี 64 นี้แม้ว่าผลประกอบการไตรมาส 1/64 อาจจะยังไม่เห็นสัญญาณฟื้นตัวชัดเจน แต่จะเข้าสู่ช่วงฟื้นตัวและจะเติบโตก้าวกระโดดในไตรมาส2/64 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 กลุ่มประเทศลูกค้าหลักคลี่คลายลงอย่างชมาก ส่งผลให้มีคำสั่งซื้อสินค้าเข้ามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี ซึ่งจะเริ่มรับรู้รายได้ในไตรมาส2/64

โดยภาวะปกติแล้วบริษัทมีคำสั่งซื้อรอทยอยส่งมอบเฉลี่ยประมาณ 40 ล้านบาท แต่ล่าสุดเร่งตัวขึ้นมาอยู่ที่กว่า 50 ล้านบาทที่ต้องส่งมอบสินค้าไปถึงเดือน ก.ค.นี้ หรือรับรู้รายได้ต่อเนื่องไปถึงไตรมาส 3/64 สามารถคาดการณ์ในเบื้องต้นว่าแนวโน้มรายได้ตลอดทั้งปี 64 มีโอกาสเติบโตได้มากกว่า 100% เมื่อเทียบกับรายได้ปี 63 ขณะที่อัตรากำไรสุทธิจะสามารถกลับขึ้นมาทรงตัวเหนือ 5-10% ได้เช่นเดียวกันสนับสนุนผลประกอบการพลิกกลับมามีกำไรที่ดีอีกครั้ง หรือมีโอกาสเติบโตได้ไม่ต่ำกว่าปี 62 ที่มีกำไรสุทธิ 12.66 ล้านบาท

และอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญมีส่วนเสริมอัพไซด์ให้ผลประกอบการปีนี้คือสถานการณ์การระบาดเชื้อโควิด-19 ในประเทศอินเดีย ล่าสุดบริษัทเริ่มมีเจรจากับกลุ่มลูกค้าฝั่งยุโรปที่เดิมมีฐานการผลิตในประเทศอินเดีย แต่ต้องการย้ายฐานผลิตมาในไทย เพื่อส่งออกสินค้าไปยังประเทศอื่นๆได้ หากดีลนี้สำเร็จก็น่าจะผลักดันให้ผลประกอบการเติบโตได้มากกว่าคาดการณ์

นอกเหนือจากธุรกิจผลิตและส่งออกสินค้าที่ขึ้นตรงกับบริษัทแม่แล้ว บริษัทยังมีบริษัทย่อยในเครือ คือ บริษัท เซ็นทรัล ฮอสพิแทลลิที จำกัด (CHL) มีสัดส่วนรายได้ประมาณ 20% ที่มีการจำหน่ายสินค้าให้กับกลุ่มครัวเรือน แม้ว่าช่วงโควิด-19 ระบาดกลุ่มลูกค้าที่เป็นโรงแรมและร้านอาหารชะลอคำสั่งซื้อสินค้า แต่บริษัทปรับกลยุทธ์ด้วยการกระจายเข้าสู่กลุ่มลูกค้าเป็นครัวเรือนสัดส่วนที่มากขึ้นผ่านช่องทางทั้ง Online และ Offline ทำให้ปัจจุบันพอร์ตของลูกค้ามีกระจายหลากหลายลดความเสี่ยงพึ่งพากลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง”นางสาวนิจวรรณ กล่าว

สำหรับผู้ลงทุนและผู้ถือหุ้นที่ถือครอง “HPT-W1” บริษัทขอเชิญชวนใช้สิทธิแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญ (หุ้นแม่) ราคาใช้สิทธิ 0.49589 บาทต่อหุ้นโดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม – 3 มิถุนายน 2564 ซึ่งผู้บริหารเชื่อมั่นว่าแนวโน้มการเติบโตของผลประกอบการเติบโตขึ้นรอบนี้จะช่วยสร้างผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้นได้ดีในอนาคต

เป้าใหญ่ก้าวชั้นสู่ Global Brand

นางสาวนิจวรรณ กล่าวอีกว่า เป้าหมายใหญ่ในอนาคตบริษัทต้องการก้าวขึ้นสู่ “Global Brand” เพราะตลาดหลักของบริษัทอยู่ในต่างประเทศแล้วมีฐานลูกค้าที่รู้จักมากขึ้นเรื่อยๆ

พร้อมกับตั้งเป้าผลักดันยอดขายสินค้าแบรนด์ Petye (เพทาย) ซึ่งเป็นสินค้าที่บริษัทเป็นผู้ผลิตเองขยายตลาดทั่วโลกหวังเพิ่มสัดส่วนเป็น 30% จากปัจจุบันอยู่ที่ 15% ภายใน 3-5 ปีข้างหน้า และแม้ว่าเดิมบริษัทเน้นผลิตสินค้าประเภทเซรามิกไฟน์ไชน่าเป็นหลัก แต่ด้วยเป้าต้องการก้าวเป็นผู้นำด้านจานชามเซรามิกได้ร่วมมือกับผู้ผลิตเซรามิกประเภทอื่นๆ ทำให้สินค้าบริษัทมีความหลากหลายตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้กว้างมากขึ้น

ส่วนช่องทางการจำหน่ายสินค้ากลุ่มลูกค้าเดิมและเพิ่มฐานลูกค้าใหม่ๆ โมเดล คือ ขายแบบ B2B คู่ค้าที่มีสาขากระจายสินค้าแต่ละประเทศ อาทิ กลุ่มห้างสรรพสินค้า เจ้าของร้านค้าเครือข่าย นอกจากนั้นมุ่งมาเน้นยอดขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์และกำลังพัฒนา Virtual Showroom นวัตกรรมแสดงสินค้าภาพเสมือนจริง เพื่อทดแทนงานแสดงสินค้าที่ลดลงในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 พ.ค. 64)

Tags: , , , , ,
Back to Top