นางเฮนเรียตตา โฟร์ ผู้อำนวยการบริหารองค์การยูนิเซฟ (UNICEF) ได้ออกมาเรียกร้องให้กลุ่มประเทศ G7 บริจาควัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้กับโครงการ COVAX ซึ่งเป็นมาตรการเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนวัคซีนหลังการส่งออกวัคซีนจากอินเดียหยุดชะงัก
อินเดียซึ่งเคยให้คำมั่นว่าจะส่งวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าที่ผลิตโดยสถาบันเซรุ่มแห่งอินเดีย (SII) ให้กับโครงการ COVAX นั้น ได้ระงับการส่งออกวัคซีนเพื่อนำมาใช้ในประเทศก่อนหลังเกิดการแพร่ระบาดระลอก 2 ครั้งใหญ่
สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ทางยูนิเซฟ ซึ่งทำหน้าที่จัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ผ่านโครงการ COVAX ประเมินว่าจะขาดแคลนวัคซีน 140 ล้านโดสภายในสิ้นเดือนพ.ค. และเพิ่มเป็น 190 ล้านโดสภายในสิ้นเดือนมิ.ย.
“การแบ่งปันวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่มีอยู่เกินนั้น เป็นมาตรการฉุกเฉินขั้นต่ำสุดและเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องทำทันที” นางโฟร์กล่าวพร้อมเสริมว่า สิ่งนี้จะช่วยป้องกันไม่ให้ประเทศที่อ่อนแอกลายเป็นแหล่งแพร่ระบาดใหญ่แห่งใหม่ของโรค
นางโฟร์ระบุว่า กลุ่มประเทศ G7 สามารถบริจาควัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ได้ประมาณ 153 ล้านโดส หากประเทศกลุ่มนี้แบ่งปันวัคซีนเพียง 20% ของปริมาณวัคซีนที่มีอยู่ในเดือนมิ.ย.-ส.ค. โดยอ้างจากข้อมูลวิจัยใหม่จากบริษัทวิเคราะห์และข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ Airfinity
นางโฟร์ยืนยันว่า เรื่องดังกล่าวสามารถทำได้จริงและยังคงเป็นไปตามเป้าหมายการฉีดวัคซีนให้กับพลเมืองตนเอง
ทั้งนี้ COVAX ดำเนินงานโดยความร่วมมือระหว่างองค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์กรพันธมิตรเพื่อวัคซีนหรือกาวี (GAVI) โดยพึ่งวัคซีนจากแอสตร้าเซนเนก้าเป็นส่วนใหญ่ และมีเป้าหมายที่จะจัดหาวัคซีนให้ได้ 2 พันล้านโดสในปีนี้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 พ.ค. 64)
Tags: COVAX, COVID-19, G7, GAVI, UNICEF, WHO, กลุ่มประเทศ G7, กาวี, วัคซีนต้านโควิด-19, องค์การยูนิเซฟ, องค์การอนามัยโลก, อินเดีย, เฮนเรียตตา โฟร์, แอสตร้าเซนเนก้า, โควิด-19