พาณิชย์แนะโอกาสผู้ส่งออกไม้ดอก เตรียมพร้อมทำตลาดหลังโควิดคลี่คลาย

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ไม้ดอกไม้ประดับเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญที่สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีพื้นที่ที่เหมาะสมในการปลูก จากข้อมูลปี 2562 พบว่าในตลาดโลกมีการส่งออกไม้ดอกที่สำคัญ ได้แก่ ทิวลิป กุหลาบ คาร์เนชั่น เบญจมาศ และกล้วยไม้ ประเทศที่เป็นผู้ส่งออกไม้ดอกสำคัญ 10 อันดับของโลก ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ โคลัมเบีย เอกวาดอร์ เคนยา เอธิโอเปีย เบลเยียม จีน มาเลเซีย อิตาลี และเบลารุส เป็นต้น โดยประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 11

โดยในปี 2563 ประเทศไทยมีการส่งออกไม้ดอกปริมาณ 23.39 หมื่นตัน มูลค่ารวมกว่า 1.4 พันล้านบาท มูลค่าลดลงกว่า 37.09% ตลาดส่งออกไม้ดอกสำคัญของไทย ได้แก่ ญี่ปุ่น เวียดนาม สหรัฐอเมริกา จีน อิตาลี เกาหลีใต้ เป็นต้น

ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้ให้ความสำคัญกับการส่งออกไม้ดอกของไทย โดยเฉพาะการส่งออกไปอาเซียนที่มีการส่งเสริมการใช้สิทธิ FTA ทำให้ผู้ประกอบการไทยไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าในประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 9 ประเทศ และเมื่อเปรียบเทียบการส่งออกไม้ดอกของไทย ก่อนที่จะมีความตกลง FTA (พ.ศ.2535) กับปี 2562 พบว่า อัตราการขยายตัวของการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะการส่งออกดอกกล้วยไม้ที่ขยายตัวเฉลี่ย 441% ต่อปี ทั้งนี้แม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 จะกระทบต่อการส่งออกไม้ดอกของไทยในด้านความต้องการที่ลดลง รวมถึงปัญหาการขนส่งระหว่างประเทศ แต่คาดว่าเมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง คู่ค้าของไทยจะกลับมามีความต้องการไม้ดอกมากขึ้น

สำหรับโอกาสการค้าไม้ดอกภายในประเทศ พบว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ผู้คนมีเวลาเพิ่มขึ้นจากวิถีการปรับเปลี่ยนมาทำงานที่บ้าน มีเวลาในการทำงานอดิเรกมากขึ้นทั้งการตกแต่งสวน การปลูกไม้ดอกไม้ประดับ รวมถึงการจัดงานและแสดงความยินดีในเทศกาลต่างๆ นอกจากนี้ ยังมีกระแสการท่องเที่ยวจากการเที่ยวฟาร์มดอกไม้ ทำให้ขณะนี้มีเกษตรกรบางกลุ่มรวมตัวกันดำเนินธุรกิจประเภท farm visit ควบคู่ไปกับการส่งออกไม้ตัดดอกอีกด้วย ซึ่งช่วยกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นได้มากยิ่งขึ้น

ผู้อำนวยการ สนค.กล่าวว่า สำหรับการเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการไม้ดอกส่งออก ภายหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ควรศึกษากฎระเบียบที่เกี่ยวข้องให้เข้าใจอย่างดีและเตรียมตัวด้านเอกสารที่เกี่ยวข้อง อาทิ หนังสือรับรองสุขอนามัยพืช หนังสือรับรองการรมสารเคมี ใบตราส่งสินค้าทางอากาศ ใบกำกับบรรจุหีบห่อสินค้า ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์มีระเบียบที่ควบคุมการส่งออกกล้วยไม้สด ได้แก่ การรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า การตรวจคุณสมบัติของสินค้าด้านถิ่นกำเนิดสินค้าเพื่อขอใช้สิทธิพิเศษด้านภาษีศุลกากร เป็นต้น

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างความได้เปรียบทางการค้า ตลอดจนรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดโลกไว้ นอกจากนั้น การเพิ่มช่องทางตลาดใหม่ให้กับผู้บริโภคเข้าถึงผู้ผลิตโดยตรง หรือการส่งเสริมกิจกรรมท่องเที่ยวสวนดอกไม้ โดยการสนับสนุนให้มีการรวมกลุ่มเป็นเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนก็จะช่วยกระจายรายได้ให้เกษตรกรอีกทางหนึ่ง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 พ.ค. 64)

Tags: , , , , , , , , , ,
Back to Top