นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.การบินไทย (THAI) เปิดเผยว่า ในวันนี้ที่ประชุมเจ้าหนี้ บมจ.การบินไทย ได้โหวตเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการ โดยกรมบังคับคดีจะนำส่งแผนฟื้นฟูกิจการให้ศาลล้มละลายกลางพิจารณาเห็นชอบแผนฯ ภายในวันที่ 28 พ.ค.นี้ หากเห็นชอบก็จะมีคำสั่งให้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการได้ทันที
นายชาญศิลป์ กล่าวว่า ในการประชุมเจ้าหนี้วันนี้ เจ้าหนี้ที่มีสิทธิออกเสียงเกือบทั้งหมดเข้าร่วมประชุม โดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดสิทธิออกเสียงในที่ประชุมเจ้าหนี้ประมาณ 140,000 ล้านบาท ที่ประชุมเจ้าหนี้ได้มีมติตามมาตรา 90/46 แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 โดยมีเจ้าหนี้ที่มีจำนวนหนี้รวมกัน 91.56% ของจำนวนหนี้ทั้งหมดที่เข้าร่วมประชุมและร่วมออกเสียง ยอมรับแผนฟื้นฟูกิจการที่ผู้ทำแผนได้ยื่นต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เมื่อวันที่ 2 มี.ค.64 และตามคำร้องขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการจำนวน 3 ฉบับ ที่เสนอโดยผู้ทำแผนและเจ้าหนี้อีก 2 ราย กล่าวคือ ธนาคารกรุงเทพ และชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด
แผนฟื้นฟูฯ ดังกล่าวจะมีการแต่งตั้งผู้บริหารแผน 5 ราย ได้แก่ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ , นายพรชัย ฐีระเวช, นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ และ นายไกรสร บารมีอวยชัย และนายชาญศิลป์
สำหรับผู้บริหารแผนได้เพิ่มจากเดิมที่มีจำนวน 2 ราย คือ นายปิยสวัดิ์ อดีตกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ THAI และ นายพรชัย ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง รักษาการตำแหน่งรองปลัดกระทรวงการคลัง เนื่องจาก ธนาคารกรุงเทพ (BBL) เสนอเพิ่ม 2 ราย คือ นายศิริ อดีต รมว.พลังงาน และนายไกรสร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้จัดการประนอมหนี้และกฎหมาย BBL และเป็นอดีตอธิบดีกรมบังคับคดี ส่วนชุมนุมสหกรณ์ฯ เสนอ นายชาญศิลป์
ระหว่างนี้ที่ประชุมเจ้าหนี้อยู่ระหว่างการการคัดเลือกกรรมการเจ้าหนี้ จำนวน 3-7 คน
แบงก์เจ้าหนี้ยอมปล่อยเงินกู้ใหม่ 5 หมื่นลบ.
แหล่งข่าวจากเจ้าหนี้กลุ่มสถาบันการเงินของ THAI เปิดเผยว่า ในการร่วมประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Meeting) วันนี้ เจ้าหนี้สถาบันการเงินได้ตกลงเห็นชอบแผนฟื้นฟูบริษัท ซึ่งภายใต้แผนดังกล่าวจะมีการให้วงเงินสินเชื่อเพิ่มอีกราว 5 หมื่นล้านบาท มาจาก 2 ส่วน ได้แก่ สินเชื่อจากภาคเอกชน 2.5 หมื่นล้านบาท และสินเชื่อจากภาครัฐ 2.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นสินเชื่อระยะยาว เพื่อทำให้การบินไทยสามารถดำเนินงานต่อไปได้ ซึ่งเจ้าหนี้ที่ให้สินเชื่อเพิ่มเติมกับบริษัทจะเข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการสินเชื่อ ซึ่งจะมีกรรมการจากภาคเอกชน 2 ราย จากทั้งหมด 5 ราย ซึ่งจะมีการประชุมและหารือกันอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม เจ้าหนี้มีเงื่อนไขที่สำคัญในการที่ให้เงินสินเชื่อเพิ่มเติมแก่การบินไทย ซึ่งจะต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับเจ้าหนี้ในการดำเนินตามแผนฟื้นฟูและป้องกันความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในการให้สินเชื่อเพิ่มเติม คือ การบินไทยจะต้องยังคงได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ได้รับสิทธิประโยชน์ในการประกอบธุรกิจการบิน และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง รวมถึงยังได้สิทธิประโยชน์อื่นๆ ที่ไม่น้อยไปกว่าก่อนการเข้าแผนฟื้นฟูฯ ซึ่งประเด็นดังกล่าวจะทำให้เจ้าหนี้ทั้งหมดมีความมั่นใจมากขึ้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 พ.ค. 64)
Tags: THAI, การบินไทย, ชาญศิลป์ ตรีนุชกร, ศาลล้มละลายกลาง, แผนฟื้นฟูกิจการ