NSL ปิดเทรดวันแรกที่ 13.70 บาท สูงกว่าราคาขายไอพีโอ 14.17%

หุ้น NSL ปิดเทรดวันแรกที่ 13.70 บาท เพิ่มขึ้น 1.70 บาท (+14.17%) จากราคาขาย IPO ที่ 12.00 บาท/หุ้น มูลค่าซื้อขาย 4,060.99 ล้านบาท โดยเปิดตลาดที่ 14.60 บาท ราคาขึ้นสูงสุด 15.80 บาท และราคาลงต่ำสุด 13.70 บาท

บล.ทิสโก้ ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ราคา IPO ของ บมจ.เอ็นเอสแอล ฟู้ดส์ (NSL) ยังคงมีอัพไซด์จากมูลค่าที่เหมาะสมจากประมาณการเบื้องต้นที่ 13-15 บาท โดยมี Forward P/E ที่ 20.27 เท่า เนื่องจากบริษัทสามารถควบคุมต้นทุนซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนอัตรากำไรดีได้ขึ้นทุกปีทำให้อัตรากำไรของบริษัทมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยในไตรมาส 1/64 NSL มีอัตรากำไรที่ 7.3% เทียบกับ 4% ในช่วงไตรมาส 1/63

และคาด NSL จะมีการเติบโตของยอดขายในปี 64 ที่ 1.12% เนื่องจากสัดส่วนรายได้กว่า 90% ของบริษัทขึ้นอยู่กับยอดขายจาก 7-11 ยังคงได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอก 2 และ 3 ที่ทำให้การฟื้นตัวของการบริโภคช้าลง ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ ส่งผลให้รายได้จากสินค้าที่วางขายใน 7-11 ลดลง

แต่คาดจะมีรายได้จากธุรกิจ Food Services ที่รับผลดีจากการออกไปนอกบ้านน้อยลงและการห้ามนั่งทานอาหารในร้านเข้ามาช่วยหนุนการเติบโตของรายได้ อย่างไรก็ตามสัญญา MOU ที่ทำไว้กับ CPALL จะหมดลงในปี 69 ซึ่งหากไม่มีการต่อสัญญาจะทำให้บริษัทสูญเสียรายได้จำนวนมาก ซึ่งอาจกดดันผลการดำเนินงานของบริษัทในอนาคต

บริษัทดำเนินธุรกิจโดยผลิตและจำหน่ายอาหารสำเร็จรูป เบเกอรี่ ขนมขบเคี้ยว เนื้อสัตว์และผักแช่แข็ง โดยแบ่งเป็นประเภทหลักๆ ตามสัดส่วนรายได้เป็น 4 ประเภท คือ 1) ผลิตภัณฑ์กลุ่มเบเกอรี่และกลุ่มรองท้อง ซึ่งผลิตให้กับ CPALL และวางขายใน 7-11 ภายใต้แบรนด์ Ezy Taste, Ezy Sweet, 7 Fresh โดยรายได้จากส่วนนี้คิดเป็น 94.3% ของรายได้รวม ในปี 2563 2) กลุ่มขนมขบเคี้ยว ซึ่งสินค้าแบรนด์ของ NSL ซึ่งวางขายทั้ง Modern Trade และ Traditional Trade และคิดเป็นสัดส่วน 0.5% ของรายได้ 3) ธุรกิจ Food Services เป็นการแปรรูปเนื้อสัตว์บรรจุใส่บรรจุภัณฑ์พร้อมนำไปประกอบอาหาร รวมถึงการนำเข้าผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แปรรูปและวัตถุดิบ โดยมีทั้งรับจ้างผลิตให้แก่ Tops และจำหน่ายทาง Modern Trade ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 4.5% และ 4) รับทำ OEM ไส้ขนมและไส้เบเกอรี่ต่างๆ

บริษัทมีแผนก่อสร้างอาคารโรงงาน 2 ชั้น ซึ่งรองรับรายได้สูงสุดประมาณ 1,200 ล้านบาท เพื่อเพิ่มสายการผลิตสำหรับผลิตภัณฑ์ใหม่ของบริษัท 1.อาหารแช่แข็งพร้อมรับประทาน (Ready Meal Frozen Food) เช่น ซุป อาหารแช่แข็ง มีทบอล ซอสต่างๆ แช่แข็งเพื่อนำไปปรุงอาหารต่อไป 2.อาหารพร้อมรับประทานแบบไม่ต้องแช่เย็น เช่น แกงต่างๆ กับข้าวต่างๆ เมื่อจะรับประทานก็นำไปอุ่นร้อน 3. อาหารแห้งกึ่งพร้อมรับประทาน เช่น โจ๊กคัพ ซุป เมื่อรับประทานเติมน้ำร้อนลงไป ประมาณ 350 ล้านบาท โดยสำหรับการเริ่มก่อสร้างยังไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับสภาพตลาดและการตอบรับของสินค้า และกำลังการผลิตที่เหลือของโรงงานสาขา 2

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 พ.ค. 64)

Tags: , ,
Back to Top