ผู้ประกอบการอสังหาฯ ระดมสมองหาทางแก้ปัญหาโควิด-19 ระบาดในแคมป์แรงงาน

นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวในงานเสวนาออนไลน์ “มาตรการการจัดการแคมป์แรงงานก่อสร้างในสถานการณ์โควิด-19 อย่างมีส่วนร่วม EP1” ว่า การระดมความคิดเห็นครั้งนี้ จะนำไปสู่การจัดทำข้อมูลที่ชัดเจน เพื่อนำมาวางแผนป้องกันการแพร่ระบาดในเบื้องตันร่วมกันก่อน แทนที่จะรอให้ภาครัฐเข้ามาดำเนินการ หากจะโยนไปให้รัฐบาลปูพรมตรวจเชิงรุกแคมป์คนงานทั้งหมด จะเป็นการสร้างภาระหนักให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ส่วนจะใช้วิธีตรวจหาเชื้ออย่างไรนั้น ก็ต้องหารือกับทางกระทรวงสาธารณสุข

“ผู้ประกอบการพร้อมที่จะเข้ามาช่วยเหลือภาครัฐแก้ไขปัญหา ไม่ต้องไปออกกฎหมายให้ตื่นตระหนกแล้วเกิดการหลบหนี แล้วเอาเชื้อไปแพร่กระจายที่อื่นอีก ทุกฝ่ายต้องร่วมมือช่วยกัน จะให้เอาวัคซีนมาฉีดให้คนงานทั้งหมดไม่ได้ เพราะยังมีคนไทยที่ยังไม่ได้ฉีดอีกเป็นจำนวนมาก”

นายพรนริศ กล่าว

นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า เมื่อพิจารณาจากจำนวนแรงงานต่างด้าวในกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่มีอยู่ราว 1.1 ล้านคนแล้ว หากเกิดการระบาดจะทำให้มีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก ซึ่งกระทบต่อการจัดตั้ง รพ.สนาม ในแคมป์ และหากปล่อยให้ผู้ติดเชื้ออยู่ในแคมป์หรือชุมชนเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดปัญหาเชื้อกลายพันธุ์

“อสังหาฯ แนวราบที่ส่วนใหญ่อยู่ตามชานเมือง จะเป็นแคมป์ขนาดเล็กๆ มีการดูแลเรื่องสุขอนามัยไม่ดีนัก หากพบผู้ติดเชื้อแล้วแก้ปัญหาด้วยการไล่ออก ก็จะไปสร้างภาระให้กับสังคม”

นายพรนริศ กล่าว

นอกจากนี้ ยังมีข้อจำกัดเกี่ยวกับสัญญาระหว่างผู้ประกอบการ ผู้รับเหมา และลูกค้า ที่ส่งผลกระทบเป็นลูกระนาด หากการก่อสร้างไม่เสร็จภายในกำหนดเวลา หากตึงทั้งระบบโดยไม่มีการผ่อนผันก็จะแก้ปัญหาไม่ได้

พญ.วรรณา หาญเชาว์วรกุล แพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า แนวทางการควบคุมการระบาดในแคมป์แรงงานก่อสร้างนั้น ต้องใช้มาตรการองค์กร เช่น การเว้นระยะห่าง การเลี่ยงกิจกรรมรวมกลุ่ม จัดจุดล้างมือ-จุดน้ำดื่ม ห้องส้วม-ห้องอาบน้ำ เพื่อดูแลไม่ให้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เกิน 5% เพื่อชะลอการติดเชื้อและลดจำนวนผู้ป่วยอาการหนัก แต่หากมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เกิน 5% จะใช้รูปแบบ Bubble and seal

นายอดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันมีแรงงานต่างด้าวในกรุงเทพฯ และปริมณฑลอยู่ราว 1.1 ล้านคน ในจำนวนนี้ 20% จะอยู่ในภาคก่อสร้าง โดยมีส่วนหนึ่งเป็นแรงงานนอกระบบ ทำให้ไม่เข้าถึงการสื่อสาร การดูแลสุขภาพ และถูกตีตราจากสังคมว่าทำให้เกิดการระบาด และเป็นภาระ ซึ่งภาคีเครือข่ายฯ ได้เข้าไปช่วยให้ความรู้เกี่ยวกับโรคโควิด-19 ช่วยเหลือขั้นพื้นฐาน สนับสนุนการเข้าถึงสิทธิและบริการ ผลักดันนโยบายการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว โดยมีคลัสเตอร์ใหม่ที่ควรระวัง ได้แก่ ตลาด โรงงาน และก่อสร้าง ซึ่งควรมีการผ่อนผันเรื่องใบอนุญาต เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเคลื่อนย้าย ไม่เช่นนั้นแรงงานผิดกฎหมายจะหลบหนีการจับกุมไปเรื่อยๆ เพื่อหางานใหม่

โดยมีข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหาดังนี้ 1.จัดระบบในที่ทำงาน และที่พักให้ถุกสุขอนามัย 2.การเชื่อมโยงส่งต่อไปรักษา เมื่อพบการติดเชื้อ 3.การวางระบบดูแลกลุ่มแรงงานกันเองภายในองค์กร และ 4.ผู้ประกอบการมีหลักประกันสุขภาพ และร่วมผลักดันนโยบายการจัดการแรงงานข้ามชาติ

“นับตั้งแต่เกิดปัญหาโควิด-19 มีมติ ครม.ออกมา 8-9 เรื่องแล้ว แต่เป็นการแก้ปัญหาในระยะสั้นเท่านั้น”

นายอดิศร กล่าว

นพ.วลัญช์ชัย จึงสำราญพงศ์ รองผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เนื่องจากไม่มีการจัดสรรงบประมาณเพื่อดูแลเรื่องสุขภาพให้กับแรงงานข้ามชาตินอกระบบ ดังนั้น อยากให้ผู้ประกอบการดูแลในเรื่องนี้ โดยแรงงานข้ามชาติที่จะได้รับการดูแลเรื่องนี้ ต้องจ่ายค่าหลักประกันสุขภาพปีละ 1,600 บาท และผู้ติดตามปีละ 365 บาท ซึ่งเป็นเงินจำนวนไม่มาก หากเทียบกรณีติดเชื้อโควิด-19 จะมีค่าใช้จ่ายขั้นต่ำ 4 หมื่นบาทกรณีอาการไม่รุนแรง ไปจนถึง 1 ล้านบาทกรณีอาการรุนแรง

นางอัมพร จันทวิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ กรมอนามัย กล่าวว่า มาตรการหลักในการดูแลสำหรับแคมป์คนงานก่อสร้าง เพื่อรับมือสถานการณ์โควิด-19 ได้แก่

  1. ประเมินตนเองและบุคคลในครอบครัวทุกวันก่อนออกจากที่พัก ด้วยแอปพลิเคชั่นที่ทางราชการกำหนด เช่น Thai Save Thai
  2. จัดตั้งจุดคัดกรองบริเวณทางเข้าที่พัก/จุดการทำงาน
  3. ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายทุกคนก่อนเข้าทำงาน
  4. มีมาตรการติดตามข้อมูลของผู้ปฏิบัติงาน เช่น การใช้แอปพลิเคชั่นที่ราชการกำหนด
  5. ให้ผู้ปฏิบัติงานและผู้มาติดต่อทุกคนสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลา
  6. จัดให้มีที่ล้างมือพร้อมสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ไว้บริการในบริเวณต่างๆ อย่างเพียงพอ
  7. มีมาตรการควบคุมจำนวนผู้ปฏิบัติงานไม่ให้แออัด โดยลดการรวมกลุ่มระหว่างบุคคล และจัดเวลาทำงาน เวลาพักและเวลารับประทานอาหาร ให้เหลื่อมกัน
  8. จัดให้มีการเว้นระยะห่าง หรือกั้นด้วยแผ่นใสหรือวัสดุอื่นใดในบริเวณที่มีการใช้พื้นที่ร่วมกัน
  9. ประชาสัมพันธ์และกำกับดูแลให้ผู้ปฏิบัติงานปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

นายสุทธิพงษ์ วสุโสภาพล รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า การแก้ปัญหานี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อลดช่องว่าง และคงต้องก้าวข้ามนโยบายในบางเรื่อง เช่น การผ่อนผันต่อใบอนุญาต เพื่อตัดวงจรการแพร่ระบาด ซึ่งถือเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าโดยมีแผนรองรับ และผู้ประกอบการมีระบบสนับสนุนภาครัฐ ซึ่งถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วมในการออกแบบให้เป็นนโยบายสาธารณะ เพื่อให้มีนโยบายการบริหารจัดการที่เป็นเอกภาพ

นายฐาปนา บุญยประวิตร นายกสมาคมการผังเมืองไทย และเลขานุการกฎบัตรแห่งชาติ กล่าวว่า การกำหนดรูปแบบใช้งานพื้นที่ชั้นใน จะเป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาไม่ให้เกิดความโกลาหล เพราะมีผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะเห็นได้จากการจัดการของประเทสสิงคโปร์ หลังเกิดการระบาดในกลุ่มแรงงานก่อสร้าง โดยสิ้นเดือนพ.ค.นี้ จะมีการเปิดศูนย์ประสานงานสุขภาพ เพื่อให้คำปรึกษาและบริการข้อมูลที่จะนำไปใช้ในการตั้งแคมป์แรงงาน ซึ่งจะมีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาให้กลับคืนสู่ภาวะปกติโดยเร็ว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 พ.ค. 64)

Tags: , , , , , , , , , , , , , , ,
Back to Top