เพื่อไทย จัดเสวนาชำแหละงบประมาณปี 65 ผิดทิศผิดทาง ผิดที่ผิดเวลา

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวในงานเสวนา “งบ 65 ผิดทิศผิดทาง ผิดที่ผิดเวลา” ว่า การตั้งงบประมาณปี 65 และพ.ร.ก. กู้เงิน 5 แสนล้านบาทจะทำให้มีปัญหา 5 ข้อด้วยกันคือ

  1. ล้มเหลว : รัฐบาลบริหารมาแล้ว 7 ปี แต่เศรษฐกิจไม่ขยายตัว ทำให้การจัดเก็บรายได้ไม่เข้าเป้า จึงต้องตัดลดงบประมาณปี 65 และออกพ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทเพิ่มเติม นอกจากจะสร้างหนี้ให้กับประเทศแล้ว ยังสวนทางกับการเร่งฟื้นฟูพัฒนาประเทศ
  2. เสื่อมถอย : รัฐบาลเน้นกู้มากกว่าลงทุน และการกู้เกือบทั้งหมดก็เป็นการกู้มาใช้ ส่อเป็นงูกินหาง ทำเศรษฐกิจประเทศล้มครืน
  3. หนี้ล้น : รัฐบาลหารายได้ไม่เป็น และดีแต่กู้ ปัจจุบันหนี้สาธารณะประเทศพุ่งเกิน 9 ล้านล้านบาท และกำลังจะทะลุเพดานวินัยการเงินการคลังที่ 60%
  4. ใช้เงินไม่มีประสิทธิภาพ : ตลอด 7 ปี รัฐบาลใช้งบไปแล้ว 20.8 ล้านบาท จีดีพีโตเฉลี่ยเพียงปีละ 1% แต่หนี้ครัวเรือนพุ่งสูงถึง 92% จากตัวอย่างการใช้เงิน 1 ล้านล้านที่ผ่านมา ไตรมาสแรกยังติดลบ 2.6% ซึ่งน่าเป็นห่วงอย่างมาก
  5. แยกแยะจัดลำดับความสำคัญไม่ได้ : ไม่ว่าจะเรื่องการจัดหาวัคซีน หรือการจัดงบประมาณ ส่วนที่ต้องเพิ่ม เช่น การศึกษา แรงงาน สาธารณสุข กลับปรับลด หากรัฐบาลไม่มีการบริหารจัดการและวางแผนที่ดี เศรษฐกิจไทยจะไม่สามารถฟื้นได้ และจะยิ่งทำให้ประชาชนลำบากอย่างยาวนาน

ด้านนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขอตั้งฉายางบประมาณปี 65 เป็นฉบับ “5 ผิด” คือ ผิดกฎ ผิดจำนวน ผิดที่ ผิดเวลา ผิดคนใช้

  1. ผิดกฏวินัยทางการเงินการคลัง : ใน 2 มิติ โดยมิติแรกงบลงทุนน้อยกว่างบขาดดุล ขัดต่อ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง มาตรา 20 (1) ทันที แม้กระทรวงการคลังจะนำเอารายได้นอกงบประมาณเข้ามาโปะความล้มเหลวของการจัดงบประมาณ เช่น ไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ หรือการลงทุนรัฐร่วมเอกชน (PPP) แต่ถือว่าเป็นวิธีที่ไม่ถูกต้อง มิติที่สอง คือ หนี้สาธารณะต่อจีดีพีที่ทะลุเกิน 60% แล้ว จากพ.ร.ก. กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ความเสียหายจากผลกระทบการระบาดของโควิด-19 เดือนละ 1 แสนล้านบาท รวมการขาดดุลงบประมาณปี 65 อีก 7 แสนล้านบาท ซึ่งขัดต่อ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง และกรอบของวินัยการเงินการคลังแล้ว
  2. ผิดจำนวน : การตั้งงบประมาณปี 65 ที่ 3.11 ล้านล้านบาท ลดลง 5.6 % ทั้งที่เศรษฐกิจอยู่ภาวะชะลอตัว จัดเก็บภาษีไม่ได้และยังมีหนี้สูง หากเปรียบเหมือนคนเรากำลังตกอยู่ก้นเหว ขาดน้ำขาดอาหาร ไปต่อไม่ได้
  3. ผิดที่ : โดยรัฐบาลตัดงบประมาณส่วนที่ไม่ควรตัด เพราะตัดลดรายจ่ายด้านสวัสดิการและสังคมสงเคราะห์ในภาวะที่พี่น้องประชาชน “ขาดตาข่ายทางสังคม” ทั้งตัดสังคมสงเคราะห์ งบด้านการศึกษาระดับประถมวัย และมัธยมศึกษา ตัดลดส่วนของเอสเอ็มอี โดยเฉพาะงบด้านแรงงานที่ตัดลดลงถึง 30% สวนทางกับการตกงานมากที่สุดในรอบ 12 ปี
  4. ผิดเวลา : กระทรวงกลาโหม เป็นหน่วยงานที่ยังไม่ใช่เวลาในการใช้งบประมาณ แต่กลับได้รับการจัดงบ แม้จำนวนลดลงแต่เป็นแค่ภาพลวงตา เพราะสัดส่วนต่องบประมาณของกระทรวงกลาโหมเพิ่มขึ้นจาก 6.5% เป็น 6.6% และเป็นกระทรวงที่ได้รับงบประมาณติด 1 ใน 5 ที่ได้รับงบมากที่สุด
  5. ผิดคนใช้ : พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ใช้จ่ายงบประมาณไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งในการพิจารณางบประมาณของสภาจะต้องเกิดการถกเถียงอย่างรุนแรง เพื่อให้เห็นจุดอ่อนมากที่สุด และต้องแก้ไขโดยเร็วที่สุด

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 พ.ค. 64)

Tags: , , , , , , , ,
Back to Top