ครม.ไฟเขียวโครงการพัฒนาน้ำบาดาลส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่-แหล่งน้ำอุปโภค-บริโภค

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบโครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแปลงใหญ่ ประกอบด้วย

1. โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแปลงใหญ่ กรอบวงเงิน 601.75 ล้านบาท เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร ในลักษณะของการบูรณาการแหล่งน้ำบาดาลร่วมกับน้ำผิวดินในพื้นที่ขาดแคลนน้ำ ก่อสร้างระบบกระจายน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแปลงใหญ่พร้อมอุปกรณ์ ให้แก่ อปท. บริหารจัดการน้ำบาดาล ร่วมกับเกษตรกรผู้ใช้น้ำบาดาล รวมทั้งส่งมอบและโอนครุภัณฑ์ทรัพย์สินทั้งบ่อบาดาล ระบบกระจายน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรพร้อมอุปกรณ์ ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อบริหารจัดการน้ำบาดาล ร่วมกับน้ำผิวดินอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ

โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นเกษตรกรในพื้นที่เป้าหมาย จำนวน 97 แห่ง ใน 24 จังหวัด คาดว่าพื้นที่ได้รับประโยชน์ไม่น้อยกว่า 21,040 ไร่ ครัวเรือนได้รับประโยชน์ 956 ครัวเรือน ปริมาณน้ำต้นทุนไม่น้อยกว่า 9.4284 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี รวมทั้งจ้างแรงงานในพื้นที่ จำนวน 2,425 คน

2. โครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบกระจายน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร ด้วยพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ 190 แห่ง ใน 31 จังหวัด กรอบวงเงิน 497.96 ล้านบาท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบสูบน้ำด้วยเครื่องสูบน้ำแบบเทอร์ไบน์ที่ใช้เครื่องยนต์อเนกประสงค์เป็นเครื่องต้นกำลังในการสูบน้ำบาดาล โดยเปลี่ยนเป็นระบบกระจายน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด ด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ในภาคเกษตรกรรม ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน เพิ่มรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลต้นทุนสำหรับทำเกษตรได้ตลอดทั้งปี

โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นเกษตรกรในพื้นที่เป้าหมาย จำนวน 190 แห่ง ใน 31 จังหวัด คาดว่าพื้นที่ได้รับประโยชน์ไม่น้อยกว่า 22,800 ไร่ ครัวเรือนได้รับประโยชน์ 1,520 ครัวเรือน ปริมาณน้ำต้นทุนไม่น้อยกว่า 6.1560 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี รวมทั้งจ้างแรงงานในพื้นที่ จำนวน 2,850 คน

นอกจากนี้ ที่ประชุมครม. ยังได้อนุมัติโครงการปรับปรุง พัฒนาแหล่งน้ำเพื่ออุปโภค บริโภค และการเกษตร ของกรมทรัพยากรน้ำ จำนวน 138 รายการ กรอบวงเงิน 1,826.5307 ล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการปรับปรุง พัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำ เพื่ออุปโภคบริโภค และการเกษตร ในพื้นที่เกษตรน้ำฝนนอกเขตชลประทาน สนับสนุนกระบวนผลิตของเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน รวมทั้งเป็นแหล่งเก็บกักน้ำสำคัญไว้รองรับความมั่นคงในชุมชนด้านการบรรเทาอุทกภัย/ภัยแล้ง มีความปลอดภัยใสสะอาด เป็นห่วงโซ่สำคัญด้านการส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตภาคเกษตรกรรม สำหรับประชาชนในพื้นที่ขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภค บริโภค และการเกษตร และเกษตรกร/กลุ่มผู้ใช้น้ำ

โดยจะดำเนินกิจกรรมที่สำคัญ ได้แก่ การพัฒนา อนุรักษ์ ปรับปรุง เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ปรับปรุงซ่อมแซมและพัฒนาทั้งแหล่งน้ำธรรมชาติ การจัดทำระบบส่งน้ำสู่พื้นที่การเกษตร (Farm Layout) ครอบคลุมพื้นที่สำคัญ 138 แห่ง ประกอบด้วย

  • (1) งานขุดลอก 118 รายการ
  • (2) งานระบบส่งน้ำ 7 รายการ
  • (3) งานซ่อมแซม 18 รายการ

ทั้งนี้ กรมทรัพยากรน้ำคาดหวังว่าจะมีแหล่งน้ำได้รับการปรับปรุง พัฒนาแหล่งน้ำ เพื่ออุปโภคบริโภค และการเกษตรในพื้นที่เกษตรน้ำฝนนอกเขตชลประทาน จำนวน 138 แห่ง จุกักเก็บน้ำได้ 89.44 ล้านลูกบาศก์เมตร และครัวเรือนที่ได้รับประโยชน์ 32,774 ครัวเรือน พื้นที่เกษตรได้รับประโยชน์ 92,735 ไร่ รวมทั้งยังมีการจ้างแรงงานในโครงการปรับปรุงและพัฒนาแหล่งน้ำจำนวน 4,123 ราย อีกด้วย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 มิ.ย. 64)

Tags: , , , , ,
Back to Top