นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ชี้แจง พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม วงเงินไม่เกิน 500,000 ล้านบาท ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรว่า โรคโควิด-19 มีความรุนแรงมากสุดในรอบ 100 ปี มีการแพร่ระบาดไปรวดเร็วทั้งประเทศไทยและทั่วโลก ซึ่งในประเทศไทยมีการแพร่ระบาดตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงปัจจุบัน และยังไม่สามารถคาดการณ์ระยะเวลาสิ้นสุดได้ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชนทุกสาขาอาชีพ ทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 63 หดตัวรุนแรงที่สุดในรอบ 23 ปี นับตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจปี 40
ทั้งนี้ ในปี 63 ได้มีการออก พ.ร.ก.กู้เงิน โควิด-19 วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ใช้จ่ายรองรับสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งปัจจุบันมีวงเงินกู้เหลือเพียง 1,764 ล้านบาท ไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากโควิด-19ในระยะต่อไปได้ จากการดำเนินการมาตรการการคลังได้ช่วยบรรเทาการหดตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 63 จากที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้คาดการณ์ไว้ว่าเศรษฐกิจไทยจะหดตัว -8% เหลือหดตัวเพียง -6.1%
รมว.คลัง กล่าวว่า จากสถานการณ์ตั้งแต่เดือนม.ค.64 จนถึงปัจจุบัน พบการระบาดในหลายคลัสเตอร์ ทำให้มีผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตอย่างรวดเร็ว แม้ที่ผ่านมา รัฐบาลพยายามเร่งรัดจัดหาวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ แต่ความไม่แน่นอน และการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด ยังเป็นความเสี่ยงหลักที่อาจส่งผลต่อประสิทธิภาพวัคซีนได้ และการระบาดในระลอกใหม่นี้ สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้คาดการณ์ว่าจะกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 64 ที่จะขยายตัวได้เพียง 1.5-2.5% และภาคการท่องเที่ยวที่ยังได้รับผลกระทบจากโควิด จะส่งผลให้นักท่องเที่ยวในปี 64 ลดลงจากปี 63 ประมาณ 53% และรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง 4.4 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ รัฐบาลให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านการท่องเที่ยว โดยวางแนวทางเปิดรับนักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนครบโดส หรือ Phuket Sandbox เป็นจังหวัดนำร่อง ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และเพิ่มโอกาสการจ้างงานในประเทศ ในขณะที่รัฐบาลเร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชากร 70% ของประเทศ เพื่อกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่
นายอาคม กล่าวว่า รัฐบาลได้แก้ไขวิกฤตโควิดผ่านแหล่งเงินภายใต้กรอกฏหมายที่มี ทั้งการจัดสรรงบกลาง แหล่งเงินภายใต้พ.ร.ก.กู้เงินโควิด-19 แต่ยังไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหาในระลอกใหม่ได้ ส่วนการจัดทำงบรายจ่ายเพิ่มเติมปี 64 รัฐบาลไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากการจัดเก็บรายได้ปี 64 มีข้อจำกัดและได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด และหากรอแหล่งเงินจากงบประมาณปี 65 จะไม่ทันต่อการแก้ปัญหาในระลอกใหม่
ดังนั้นเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชนโดยเร็ว รัฐบาลจำเป็นต้องใช้เงินอย่างเร่งด่วน ในการแก้ไขสถานการณ์เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโควิด ซึ่งถือเป็นกรณีฉุกเฉินรีบด่วน และเป็นทางเลือกสุดท้ายในการตรา พ.ร.ก.ฉบับนี้
สำหรับสาระสำคัญของ พ.ร.ก.ฉบับนี้ คือ กำหนดให้กระทรวงการคลัง มีอำนาจกู้เงินบาทหรือเงินตราต่างประเทศในวงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท โดยต้องลงนามในสัญญากู้เงิน หรือออกตราสารหนี้ ไม่เกินวันที่ 30 ก.ย.65
โดยมีรายละเอียด 3 แผนงาน คือ
- แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของ โควิด-19 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการแพทย์และสาธารณสุข การวิจัยและพัฒนาวัคซีนภายในประเทศ วงเงิน 30,000 ล้านบาท เพื่อรองรับการจัดหาวัคซีน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในประเทศ การเตรียมพร้อมห้องปฏิบัติการ และจัดซื้อคุรุภัณฑ์ทางการแพทย์ และเป็นค่าใช้จ่ายบุคลากรทางการแพทย์
- แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา หรือชดเชยให้แก่ประชาชนในทุกสาขาอาชีพ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน ช่วยผู้ประกอบอาชีพและผู้ประกอบการ สามารถดำเนินธุรกิจได้ต่อเนื่อง วงเงิน 300,000 ล้านบาท
- แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับแผนงาน/โครงการ เพื่อรักษาระดับการจ้างงาน กระตุ้นการลงทุนและการบริโภค วงเงิน 170,000 ล้านบาท เพื่อพลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และเพื่อช่วยให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างต่อเนื่อง
รมว.คลัง กล่าวว่า เพื่อให้การใช้จ่ายเงินกู้ดังกล่าวมีความโปร่งใส จึงกำหนดให้กระทรวงการคลัง จัดทำรายงานผลการกู้เงินตามพ.ร.ก.รายงานต่อที่ประชุมสภาฯ ภายใน 60 วัน พร้อมยืนยันว่า การออกพ.ร.ก.ฉบับนี้ คำนึงถึงการรักษาวินัยการเงินการคลังของประเทศ ความคุ้มค่าและความโปร่งใส และการก่อหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น กระทรวงการคลังจะทำอย่างรอบคอบ และอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลัง
“รัฐบาลพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเป็นต้องมีแหล่งเงินเพื่อเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข การช่วยเหลือและเยียวยาประชาชน ตลอดจนการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว รัฐบาลจึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้”
นายอาคม กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 มิ.ย. 64)
Tags: IMF, กระทรวงการคลัง, กองทุนการเงินระหว่างประเทศ, การท่องเที่ยว, พ.ร.ก.กู้เงิน, รัฐบาล, อาคม เติมพิทยาไพสิฐ, เศรษฐกิจไทย