บลจ.วี ออกกองใหม่เน้นลงทุนเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลกเปิดขาย IPO 17-23 มิ.ย.

นายอิศรา พุฒตาลศรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.วี เปิดเผยว่า ด้วยมุมมองในเชิงบวกของธุรกิจเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลก บลจ.วี จึงเปิดเสนอขาย IPO กองทุนเปิด วี อีโวลูชั่น ออฟ เซมิคอนดักเตอร์ (WE-EVOSEMI) ระหว่างวันที่ 17-23 มิ.ย.64 ลงทุนขั้นต่ำ 5,000 บาท

กองทุนมีนโยบายในการลงทุนหุ้นขนาดใหญ่-กลาง-เล็ก เป็น ETF ที่มีการคัดเลือกหุ้นในรูปแบบ Smart Beta คัดเลือกหุ้นที่มีแนวโน้มการทำกำไรได้ดีในบริษัทที่ดำเนินธุรกิจหลักในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ผ่านกองหลัก Invesco Dynamic Semiconductors ETF ในสัดส่วน 70% และเน้นลงทุนหุ้นขนาดใหญ่ในบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเซมิคอนดักเตอร์และอุปกรณ์ต่างๆ ผ่านกองทุนหลัก VanEck Vectors Semiconductor ETF (SMH) ในสัดส่วน 30% เน้นลงทุนในบริษัทที่มีสภาพคล่องสูง เป็นผู้นำในอุตสาหกรรม เป็นบริษัทที่ทำธุรกิจทั่วโลก และบริษัทมีรายได้อย่างน้อย 50% จากเซมิคอนดักเตอร์

โดยผู้จัดการกองทุนจะปรับสัดส่วนการลงทุนให้เหมาะสมกับภาวะตลาดของกลุ่มอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ และกองทุน WE-EVOSEMI จะมีนโยบายป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนตามดุลยพินิจ (ในภาวะปกติจะประมาณร้อยละ 80 % ของพอร์ต)

นายอิศรา กล่าวว่า อุตสาหกรรมการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ปัจจุบันมีความสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและในระบบห่วงโซ่อุตสาหกรรมต่างๆ (Supply Chain) เช่น การผลิตสมาร์ทโฟน, เซิร์ฟเวอร์ระบบคลาวด์, การผลิตรถยนต์สมาร์ทคาร์, ระบบอัตโนมัติในอุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีรวมไปถึงระบบเทคโนโลยีความปลอดภัยที่สำคัญๆ ซึ่งยอดขายเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลกเพิ่มขึ้นจาก 2.04 แสนล้านเหรียญฯ ในปี 2000 เป็น 4.40 แสนล้านเหรียญฯ ในปี 2020 หรือเติบโตเฉลี่ย 3.91 % ต่อปี และคาดว่าอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลก จะมียอดขายสูงถึง 4.69 แสนล้านเหรียญฯ ในปี 2021 และจะเติบโตถึง 4.96 แสนล้านเหรียญฯ ในปี 2025 (Source: SIA 2021 Factbook)

บริษัทในสหรัฐฯ ถือเป็นผู้นำด้านการวิจัยและพัฒนาการออกแบบกระบวนการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่แข็งแกร่งและมีความสามารถในการแข่งขันทั้งด้านไมโครโปรเซสเซอร์และทรัพย์สินทางปัญญา ในปี 2020 บริษัท เซมิคอนดักเตอร์ในสหรัฐฯ มีสัดส่วนการตลาดขนาดใหญ่ที่สุดในโลก (ตามที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัท )คิดเป็น 47.2 % ของตลาดเซมิคอนดักเตอร์ทั้งหมด ขณะที่ประเทศอื่นมีสัดส่วนการตลาดระหว่าง 5- 20 % (Source: SIA 2021 Factbook)

ปัจจุบันสหรัฐฯ มีแผนใช้งบประมาณจำนวน 5.2 หมื่นล้านเหรียญฯ เพื่อทำแผนฟื้นฟูและวิจัยพัฒนาภาคการผลิตชิป (Chip) ในประเทศ มีการออกกฎหมาย CHIPS for America Act เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ ผ่านความร่วมมือกับประเทศพันธมิตร เพื่อลดความเสี่ยงการผลิตชิปในโลก (Global Supply Disruption) ด้วยการกระจายการผลิตไปที่ภูมิภาคต่างๆ ลดการกระจุกตัว ตั้งแต่การผลิตชิปขั้นพื้นฐานไปจนถึงการผลิตชิปประสิทธิภาพสูง ที่ใช้ในอุตสาหกรรมการทหาร , การบิน และโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของสหรัฐฯ เช่นเดียวกับกลุ่มประเทศผู้นำอื่นๆ เช่น เกาหลีใต้ , ยุโรป และจีน ได้กำหนดนโยบายแห่งชาติด้านการลงทุนผลิต , การวิจัยและพัฒนาเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศของตนเอง (Source: https://www.semiconductors.org/chips/)

ทั้งนี้ บลจ.วี มองว่าแม้เศรษฐกิจโลกจะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่ผ่านมา แต่บริษัทเซมิคอนดักเตอร์ ส่วนใหญ่ ยังเติบโตต่อไปได้ เนื่องจากบริษัทผู้ผลิต เริ่มวางแผนปรับตัวเพื่อไม่ให้เกิดภาวะขาดแคลน (Shortage) และรองรับความต้องการได้ในระยะยาว ทำให้ธุรกิจเซมิคอนดักเตอร์ยังเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งหากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายด้วย

ตัวอย่างบริษัทที่กองทุนลงทุน เช่น

  1. LAM Research (LRCX US : บริษัทอเมริกันที่ดำเนินธุรกิจออกแบบการผลิต การตลาดและบริการอุปกรณ์การประมวลผลเซมิคอนดักเตอร์ ที่ส่วนใหญ่ใช้ในการประมวลผลเวเฟอร์ส่วนหน้า รวมถึงการสร้างอุปกรณ์บรรจุภัณฑ์ เวเฟอร์ระดับ (WLP) และการผลิตอื่นๆที่เกี่ยวข้องเช่น ไมโครระบบเครื่องกลไฟฟ้า (MEMS)
  2. TEXAS Instrument (TXN US) : เป็น 1 ในบริษัทเซมิคอนดักเตอร์ 10 อันดับแรกของโลก ที่ออกแบบและผลิตเซมิคอนดักเตอร์และวงจรรวมต่างๆ ซึ่งขายให้กับนักออกแบบและผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลก
  3. Applied Materials (AMAT US) : เป็นผู้นำด้านการผลิตรูปแบบชิปและจอแสดงผลขั้นสูง มีความเชี่ยวชาญในด้านวิศวกรรมการปรับเปลี่ยนวัสดุได้ในระดับอะตอม
  4. Qualcomm (QCOM US) บริษัทข้ามชาติสัญชาติอเมริกัน ที่สร้างเซมิคอนดักเตอร์ซอฟต์แวร์และบริการที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีไร้สาย เป็นเจ้าของสิทธิบัตรที่มาตรฐานการสื่อสารเคลื่อนที่อย่าง 5G, 4G, CDMA2000, TD-SCDMA และ WCDMA
  5. Broadcom (AVGO US) : ผู้นำด้านเทคโนโลยีระดับโลกที่ออกแบบ พัฒนาและจัดหาเซมิคอนดักเตอร์ ในโครงสร้างพื้นฐาน ซอฟต์แวร์ที่หลากหลาย ได้แก่ Data Center, Networking, Software, Broadband, Wireless, Storage and Industrial รวมถึงการบริการพื้นที่จัดเก็บข้อมูลของศูนย์ข้อมูล สำหรับองค์กรและเมนเฟรมที่เน้นระบบอัตโนมัติ

ทั้งนี้ ด้วยกลยุทธ์ลงทุนเชิงรุกในหุ้นขนาดกลาง-เล็กที่มีผลประกอบการดีและมีราคาที่น่าสนใจ ทำให้กองทุนหลัก Invesco Dynamic Semiconductors ETF ณ วันที่ 31 มี.ค. 2564 ให้ผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 14.68% ย้อนหลัง 1 ปีอยู่ที่ 121.40% ย้อนหลัง 3 ปีอยู่ที่ 32.27% ย้อนหลัง 5 ปีอยู่ 36.76% ย้อนหลัง 10 ปีอยู่ที่ 21.98% และตั้งแต่จัดตั้งกองทุนอยู่ที่ 14.69% เทียบกับดัชนี DZETR อยู่ที่ 14.85% , 122.75% , 33.12% , 37.66% , 22.86% และ 15.51% ต่อปี ตามลำดับ

เช่นเดียวกับ กองทุนหลัก VanEck Vectors Semiconductor ETF ที่เน้นลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ที่เติบโตสูงทั่วโลก ทำให้ ณ วันที่ 31 พ.ค. 2564 ให้ผลตอบแทนย้อนหลัง 1 เดือนอยู่ที่ 2.51% ย้อนหลัง 3 เดือนอยู่ที่ 3.41% ย้อนตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 14.07% ย้อนหลัง 1 ปีอยู่ 77.28% ย้อนหลัง 3 ปีอยู่ที่ 34.25% ย้อนหลัง 5 ปีอยู่ที่ 36.05 และตั้งแต่จัดตั้งกองทุนอยู่ที่ 26.89% เทียบกับดัชนี MVSMHTR อยู่ที่ 2.51% , 3.45% , 14.13% , 77.40% , 34.26% , 36.08% และ 26.83% ต่อปี ตามลำดับ

“ด้วยแนวโน้มธุรกิจกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ที่จะเติบโตและมีรายได้หลักมาจาก การใช้จ่ายเชิงกลยุทธ์ ที่เน้นการวิจัยและพัฒนารวมถึงการลดต้นทุนการผลิต และ จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นของเทคโนโลยีที่เติบโตรวดเร็วในปัจจุบัน ขณะเดียวกันธุรกิจเซมิคอนดักเตอร์มีความได้เปรียบทางการแข่งขันที่ยั่งยืน ช่วยให้บริษัทต่างๆ รักษาความสามารถในการทำกำไรในอนาคต อีกทั้งแนวโน้มธุรกิจที่ยังคงใช้เทคโนโลยีเพื่อรองรับการทำงานในทุกที่ (Work from Anywhere) “กองทุน WE-EVOSEMI” จึงเป็นอีกทางเลือกในการสร้างโอกาสรับผลตอบแทนจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นและการพัฒนาเซมิคอนดักเตอร์ใหม่ๆ ทั่วโลก ตามการเติบโตของการใช้เทคโนโลยีและอุปกรณ์ต่างๆ”

นายอิศรา กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 มิ.ย. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top