ผู้เชี่ยวชาญเตือนปชช.อังกฤษระวังไวรัสทางเดินหายใจชนิดใหม่ฤดูหนาวนี้

คณะนักวิทยาศาสตร์ของอังกฤษเตือนประชาชนเตรียมรับมือ “ฤดูหนาวที่น่าเศร้า” ของประเทศ เนื่องจากมีแนวโน้มที่เชื้อไวรัสทางเดินหายใจชนิดใหม่จะอุบัติขึ้น ประกอบกับมีความเป็นไปได้ที่จะบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์เพิ่มเติม

ศาสตราจารย์คาลัม เซมเพิล สมาชิกกลุ่มที่ปรึกษาทางวิทยาศาสตร์เพื่อสถานการณ์ฉุกเฉิน (SAGE) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ปรึกษาของรัฐบาลอังกฤษ เผยว่า เด็กและผู้สูงอายุจะเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงต่อไวรัสเฉพาะถิ่นดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นในช่วงปลายปีนี้

ศาสตราจารย์เซมเพิลอธิบายกับสถานีวิทยุไทม์ส เรดิโอ (Times Radio) ว่า เชื้อไวรัสดังกล่าวเปรียบเสมือน “การระบาดระลอก 4 ในฤดูหนาว” และ “ผลตามมาที่ไม่คาดคิดซึ่งจะเกิดขึ้นหลังการระบาดใหญ่ทุกครั้ง” ขณะที่การเว้นระยะห่างทางสังคมจะลดการสัมผัสเชื้อไวรัสทางเดินหายใจเฉพาะถิ่นที่ก่ออาการปอดบวมและหลอดลมอักเสบ

“ผมคาดว่า เราจะเผชิญกับฤดูหนาวที่น่าเศร้า เพราะไวรัสทางเดินหายใจชนิดอื่นๆ จะกลับมาและส่งผลกระทบอย่างหนักหน่วง” ศาสตราจารย์กล่าวและเสริมว่า “แต่หลังจากนั้น ผมคิดว่าธุรกิจจะฟื้นคืนสู่ปกติในปีหน้า”

ขณะเดียวกันซูซาน ฮอปกินส์ ผู้อำนวยการศูนย์รับมือโรคโควิด-19 ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบีบีซีว่า อังกฤษอาจต้องล็อกดาวน์ในช่วงฤดูหนาวนี้ หากโรงพยาบาลต่างๆ ไม่สามารถรับมือกับจำนวนผู้ป่วยที่ล้นหลามได้ โดยปัจจุบันสหราชอาณาจักรยังรับมือด้วยการฉีดวัคซีน การใช้ยาต้านไวรัส และการตรวจโรคซึ่งต่างไปจากฤดูหนาวปีที่แล้ว

ทั้งนี้ คณะนักวิทยาศาสตร์เตือนว่าอังกฤษกำลังเผชิญการแพร่ระบาดระลอก 3 เนื่องจากการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วของโรคโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาที่พบครั้งแรกในอินเดีย แม้จำนวนผู้เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลจะไม่สูงเท่าเดือนม.ค.ก็ตาม

ข้อมูลล่าสุดจากสำนักสาธารณสุขอังกฤษ (PHE) บ่งชี้ว่าวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้ามีประสิทธิภาพในการยับยั้งอาการป่วยจากไวรัสสายพันธุ์เดลตา จนต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลได้ 92% หลังรับครบสองโดส ขณะที่วัคซีนของไฟเซอร์มีประสิทธิภาพอยู่ที่ 96%

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ปัจจุบัน อังกฤษได้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 โดสแรกให้ประชาชนมากกว่า 42.6 ล้านคน ขณะอีกมากกว่า 31 ล้านคนได้รับวัคซีนครบสองโดสแล้ว อย่างไรก็ดี คณะผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าเชื้อไวรัสโควิด-19 อาจกลายพันธุ์ต่อเนื่องในช่วงหลายปีข้างหน้า และมีความเป็นไปได้ว่าวัคซีนที่ใช้อยู่ในปัจจุบันอาจไม่สามารถป้องกันการแพร่ระบาด การติดเชื้อ หรือแม้แต่เชื้อไวรัสกลายพันธ์ใหม่ๆ ได้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 มิ.ย. 64)

Tags: , , , , , , , , , , , , , , ,
Back to Top