ปธ.สภาฯ แจงไม่บรรจุวาระแก้ รธน.มาตรา 256 ยืนยันขัดคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ

รายงานข่าวจากรัฐสภา เปิดเผยว่า ในการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาเรื่องด่วน คือ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมรวม 13 ฉบับ ก่อนเริ่มประชุมมี ส.ส.ฝ่ายค้าน ขอให้นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ซึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ทบทวนกรณีไม่บรรจุญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยการแก้ไขมาตรา 256 และเพิ่มหมวดใหม่ว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของพรรคร่วมฝ่ายค้านไว้ในระเบียบวาระประชุมรัฐสภา

โดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ระบุว่า การเสนอญัตติของพรรคร่วมฝ่ายค้านเป็นเพียงกระบวนการหนึ่งที่เปิดช่องให้รัฐธรรมนูญ มีหมวดว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะหากออกเสียงประชามติแล้วประชาชนเห็นชอบให้ทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่กระบวนการต่อไปต้องไปเปิดช่องให้รัฐธรรมนูญมีบทรองรับให้รัฐสภาทำได้ ดังนั้น หากไม่บรรจุญัตติดังกล่าวเท่ากับห้ามจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสิ้นเชิง

อีกทั้งการเสนอดังกล่าวจะเป็นเพียงการแก้ไขเพิ่มเติมของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 และไม่มีผลให้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ต้องถูกยกเลิก และไม่เป็นไปตามคำวินิจฉัยของฝ่ายกฎหมายสภาฯ ที่ตีความไปเกินกว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ

“การเสนอญัตติเพื่อเปิดช่องให้รัฐธรรมนูญ มีหมวดว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อรองรับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ส่วนสิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ถือว่าต้องทำประชามติถึง 3 ครั้ง โดยครั้งแรกไม่ทราบว่ามีกระบวนการ หรือใครเป็นผู้จัดทำ และประชาชนมีส่วนร่วมอย่างไร หรือเวลาเท่าไร ครั้งที่สอง คือ ประชามติเพื่อทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และ ครั้งที่สาม หลังจากที่ทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้วเสร็จ ต้องใช้งบประมาณครั้งละ 3,000 ล้านบาท ขอให้ทบทวนเพราะหลักการของพรรคเพื่อไทยไม่ขัดหรือแย้งต่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ และควรให้รัฐสภาวินิจฉัยไม่ใช่ประธานรัฐสภาวินิจฉัยเอง ที่ทำให้สมาชิกรัฐสภาทำหน้าที่ไม่ได้”

นพ.ชลน่าน กล่าว

ขณะที่นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล หารือถึงวิธีการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของกลุ่มประชาชนที่อยู่ระหว่างการเข้าชื่อให้ได้ 5 หมื่นรายชื่อ ซึ่งขณะนี้จำนวนคนเข้าชื่อดังกล่าวใกล้จะครบถ้วนแล้ว ทั้งนี้การจะยกเว้นข้อบังคับคงทำไม่ได้ เพราะฝั่งของรัฐบาลมีความเร่งรีบอยากให้แก้ไขรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายในสมัยประชุมและรีบยุบสภา ดังนั้นหากระหว่างที่กรรมาธิการพิจารณาแต่ยังไม่ลงมติวาระสาม จะมีช่องทางให้ร่างรัฐธรรมนูญของภาคประชาชนร่วมพิจารณาหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อให้ประหยัดต่องบประมาณ

ด้านนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล ปฏิเสธข้อกล่าวหาเร่งรัดแก้รัฐธรรมนูญเพื่อเตรียมยุบสภา โดยระบุว่าเนื้อหาของพรรคพลังประชารัฐมาจากผลการศึกษา กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และ แนวทางแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ชุดที่มีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นประธานกมธ.

ทั้งนี้ นายชวน ชี้แจงยืนยันกรณีไม่บรรจุญัตติแก้รัฐธรรมนูญของฝ่ายค้านว่า ยึดตามกฎหมายและข้อบังคับ โดยเฉพาะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันต่อรัฐสภา ทั้งนี้ ได้ตรวจสอบเนื้อหาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่เสนอใหม่กับฉบับที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย มีเนื้อหาเหมือนกัน ต่างกันแค่วันและเวลา ดังนั้นหากรับบรรจุจะเท่ากับไม่ยอมรับคำวินิจฉัย เหมือนของเดิมที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยมาแล้ว ผมยืนยันว่าไม่มีใครสั่ง และทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา และระมัดระวัง เพราะไม่ต้องการถูก ป.ป.ช. ตรวจสอบ ว่าทำผิดมาตรฐานจริยธรรม

“ฝ่ายนิติบัญญัติเป็นหนึ่งในอำนาจอธิปไตย มีหน้าที่ออกกฎหมายบังคับคนทั้งประเทศ ต้องเป็นแบบอย่าง เพราะระบบประชาธิปไตยอยู่ได้หากกฎหมายศักดิ์สิทธิ์ แต่ระบบประชาธิปไตยจะอยู่ไม่ได้หากกฎหมายไม่ศักดิ์สิทธิ์ ไม่มีผลปฏิบัติ บังคับไม่ได้ ประชาธิปไตยจะอ่อนแอ อย่างที่เห็นบางจุด บางประเด็น การวินิจฉัยเป็นไปอย่างถูกต้องและถูกกฎหมาย”

นายชวน กล่าว

นายชวน กล่าวว่า ส่วนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของประชาชน เมื่อส่งมายังสภาฯ และตรวจสอบความถูกต้องแล้วจะบรรจุวาระให้ทันที ไม่มีปัญหา

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 มิ.ย. 64)

Tags: , , , , , , , , , ,
Back to Top