กทม.เตรียมความพร้อมบุคลากร-สถานที่จัดเลือกตั้งซ่อม ส.ก.กรุงเทพฯ เขต 9

นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยถึงการเตรียมความพร้อมจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เขตเลือกตั้งที่ 9 แทนตำแหน่งที่ว่าง ว่า พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขตเลือกตั้งที่ 9 แทนตำแหน่งที่ว่าง พ.ศ. 2564 มีผลบังคับใช้แล้ว และคาดว่าจะมีการกำหนดให้วันอาทิตย์ที่ 30 ม.ค.65 เป็นวันเลือกตั้ง เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานครแทนตำแหน่งที่ว่าง

กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานปกครองและทะเบียน ได้ประสานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร (กกต.กทม.) สำนักงานเขตหลักสี่ และสำนักงานเขตจตุจักร ตรวจสอบสถานะคณะกรรมการการเลือกตั้ง และผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขตเลือกตั้งที่ 9 ที่เคยได้รับการแต่งตั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันอาทิตย์ที่ 24 มี.ค.62 ว่ายังคงปฏิบัติหน้าที่อยู่ในพื้นที่เขตเลือกตั้งที่ 9 หรือไม่ หรือมีความพร้อมจะปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวหรือไม่ และให้พิจารณาเสนอรายชื่อบุคคลผู้มีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง และผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งให้ครบตามจำนวนที่กฎหมายกำหนด ซึ่งได้พิจารณาเสนอรายชื่อเพื่อแต่งตั้ง ดังนี้

  1. นายสมบัติ กนกทิพย์วรรณ ผู้อำนวยการเขตหลักสี่ เป็นคณะกรรมการการเลือกตั้งฯ
  2. นางสาวภัทร์กร สินสุข ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตจตุจักร เป็นคณะกรรมการการเลือกตั้งฯ
  3. นายอัมรินทร์ จารุตามระ ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตหลักสี่ เป็นคณะกรรมการการเลือกตั้งฯ
  4. นางสมฤดี ลันสุชีพ ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตหลักสี่ เป็นผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งฯ

ซึ่ง กกต. ได้มีคำสั่งแต่งตั้งบุคคลดังกล่าว เป็นคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง และผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งแล้ว ตามคำสั่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่ 524/2564 ลงวันที่ 30 ธ.ค. 64

พร้อมกันนี้ได้ประสานสำนักงานเขตหลักสี่ และสำนักงานเขตจตุจักร สำรวจจำนวนหน่วยเลือกตั้ง ที่เลือกตั้ง และจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง โดยกำหนดจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หน่วยละประมาณ 600 คน ไม่เกิน 800 คน ซึ่งหน่วยเลือกตั้ง/ที่เลือกตั้ง(อาคาร/เต็นท์) เขตเลือกตั้งที่ 9 มีหน่วยเลือกตั้ง 280 หน่วย เป็นอาคาร 114 หน่วย เป็นเต็นท์ 166 หน่วย ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 170,764 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 30 ธ.ค. 64) แยกเป็น เขตหลักสี่ 122 หน่วย เป็นอาคาร 57 หน่วย เป็นเต็นท์ 65 หน่วย ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 86,544 คน และเขตจตุจักร 158 หน่วย เป็นอาคาร 57 หน่วย เป็นเต็นท์ 101 หน่วย ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 84,220 คน รวมทั้งประสานแจ้งศูนย์บริหารการทะเบียนภาค 1 กรุงเทพมหานคร สนับสนุนการเปิดโปรแกรมประมวลผลการกำหนดหน่วยเลือกตั้งและพิมพ์บัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง รวมถึงแนวทางการแต่งตั้งเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้งประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน./รปภ./อสส.) ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งเป็นผู้แต่งตั้ง ดังนี้

  1. แต่งตั้งคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) จากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หน่วยเลือกตั้งละ 5 คน
  2. แต่งตั้งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำที่เลือกตั้ง จากตำรวจหรืออาสารักษาดินแดนหรือทหารในพื้นที่ ที่เลือกตั้งละ 1 คน
  3. แต่งตั้งผู้สนับสนุนการปฏิบัติงานเลือกตั้งในการคัดกรองโรคประจำที่เลือกตั้ง จากอาสาสมัครสาธารณสุข อย่างน้อยที่เลือกตั้งละ 1 คน
  4. กรณีหน่วยเลือกตั้งใดมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งมากกว่า 800 คน ให้เพิ่ม กปน. อีก 1 คน ทุกผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เพิ่มขึ้น 100 คน
  5. แต่งตั้ง กปน. สำรอง 10% ของจำนวนหน่วยเลือกตั้ง

นอกจากนี้ ได้ประสานสำนักงานเขตหลักสี่ และสำนักงานเขตจตุจักร เตรียมความพร้อมในการรับสมัครผู้สมัครรับเลือกตั้ง ในด้านสถานที่ บุคลากร วัสดุอุปกรณ์ และซักซ้อมกระบวนการในการรับสมัครผู้สมัครรับเลือกตั้งตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งจัดทำร่างแผนดำเนินการเลือกตั้งฯ และคำสั่งจัดตั้งศูนย์ประสานงานการเลือกตั้งกรุงเทพมหานคร พร้อมทั้งจัดเตรียมการประชุมคณะกรรมการศูนย์ประสานงานการเลือกตั้งกรุงเทพมหานคร

โดยในลำดับต่อไป กกต. จะประชุมเพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา 2 ฉบับ คือ 1. ประกาศกำหนดวันเลือกตั้ง วันรับสมัครรับเลือกตั้ง และ 2. การสมัคร เอกสาร หลักฐาน ค่าธรรมเนียมการสมัครฯ จากนั้น ผู้อำนวยการการเลือกตั้ง (ผอ.กต.) เขต 9 จะประกาศกำหนดสถานที่รับสมัครต่อไป

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ม.ค. 65)

Tags: , ,
Back to Top