Decrypto: ไปเอาเหรียญใครมาให้เรา ? (ตอนที่ 1)

คุณลักษณะสำคัญของสินทรัพย์ดิจิทัลโดยทั่วไปประการหนึ่งคือสามารถติดตามได้ (traceable) ดังนั้นเมื่อสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น Bitcoin ถูกสร้างหรือถูกโอนมาหรือส่งไปจากใครแล้ว จะสามารถติดตามได้ถึงต้นตอ ดังนั้น ปัญหาทางกฎหมายรวมถึงปัญหาในทางปฏิบัติแล้วเมื่อเราฝากสินทรัพย์ดิจิทัลไว้กับบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลรายใดรายหนึ่งแล้ว และเมื่อเราต้องการสินทรัพย์ดิจิทัลของเราคืน ผู้รับฝากจะต้องคืนสินทรัพย์ดิจิทัลหน่วยนั้น ๆ ที่เราฝากไว้ให้เราหรือไม่? หรือสามารถนำสินทรัพย์ดิจิทัลจากบุคคลหรือหน่วยอื่น ๆ ที่มีมูลค่าหรือลักษณะเหมือนกันมาคืนก็ได้?

สำหรับประเทศไทยได้มีการออกพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ขึ้นเพื่อกำกับดูแลการประกอบธุรกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัล โดยภายใต้ มาตรา 3 แห่ง พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล อาจพิจารณาได้ว่า ปัจจุบันกฎหมายไทยให้การรับรองและเข้ามากำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล 3 ประเภท ได้แก่ สกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrencies) โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (Investment Token) และโทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ (Utility Token)

ส่วนการใช้งานจริงอาจมีสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทอื่นนอกเหนือไปกว่าทั้ง 3 ประเภทดังกล่าวแต่ พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัลหรือกฎหมายอื่น ๆ ยังไม่ได้เข้าไปกำกับดูแลการประกอบธุรกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องไว้อย่างชัดเจน คงเป็นเรื่องที่ต้องปรับมีการแก้กฎหมายให้สอดคล้องกับการพัฒนาของระบบการเงินดิจิทัลในอนาคตต่อไป

แม้ในปัจจุบันจะมีการยอมรับ Cryptocurrency สำหรับการชำระค่าสินค้าและบริการโดยผู้ประกอบการบางกลุ่ม แต่ Cryptocurrency ก็ไม่ใช่เงินตราที่ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายไทย Cryptocurrency จึงแตกต่างจาก “สกุลเงินดิจิทัล” ที่ออกโดยธนาคารกลาง ที่ออกมาในรูปแบบดิจิทัลเพื่อใช้เช่นเดียวกับเงินตราของประเทศนั้น ๆ เช่น กรณีของ “หยวนดิจิทัล” (Digital Currency Electronic Payment (DCEP)) ที่ถูกสร้างโดยธนาคารกลางของจีน มีมูลค่าเท่ากับเงินหยวนในรูปแบบกระดาษ ใช้แทนเงินหยวนในชีวิตประจำได้

แม้สินทรัพย์ดิจิทัลทั้งสามประเภทจะถูกจัดเป็นสินทรัพย์ ภายใต้ พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล แต่สถานะในปัจจุบันตามการบันทึกบัญชีซึ่งเป็นคำแนะนำของผู้สอบบัญชี สินทรัพย์ดิจิทัลทั้ง 3 ประเภทจะถูกบันทึกเป็นสินทรัพย์ไม่มีตัวตน หรือ Intangible Assets ในงบแสดงฐานะการเงิน โดยจากคู่มือการจัดทำสถิติ ของ The International Monetary Fund (IMF) ยังไม่มีวิธีปฏิบัติที่ชัดเจน แต่ได้ให้แนวทางในการบันทึกไว้ว่า กรณี Cryptocurrency ให้บันทึกเป็น Nonfinancial Assets (สินทรัพย์ที่ไม่นับเป็นสินทรัพย์ทางการเงิน) ส่วน Digital token (Investment Token และ Utility Token) ให้บันทึกตามประเภทของสัญญา ซึ่งสามารถเป็นได้ทั้ง Nonfinancial Assets ตราสารหนี้ หรือตราสารทุน แต่ปัจจุบันในทางปฏิบัติ สินทรัพย์ดิจิทัลทั้งสามประเภทยังคงถูกบันทึกรวมกับ Nonfinancial Assets อื่น ๆ จึงไม่อาจพิจารณาเรื่องดังกล่าวในทางเทคนิคหรือแนวทางการบังคับใช้กฎหมายจากประเทศอื่น ๆ ได้

ดังนั้น จึงต้องพิจารณากฎหมายของไทยกล่าวคือ พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัล มีการกำหนดเกี่ยวกับการพิจารณาลักษณะของสินทรัพย์ดิจิทัลสำหรับการส่งมอบ การโอน การยึดถือหรือส่งมอบสินทรัพย์ดิจิทัล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรับฝากและคืนสินทรัพย์ดิจิทัลที่รับฝากนั้น ๆ ไว้อย่างไร ในตอนต่อไป

นางสาวดุษดี ดุษฎีพาณิชย์

ทนายความผู้เชี่ยวชาญด้านนิติกรรมสัญญา

และอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 ม.ค. 65)

Tags: , , , ,
Back to Top