สรท. มองส่งออกม.ค. 65 โต 6-7%จากแรงส่งต่อเนื่อง แนะรัฐดูแลต้นทุน-ค่าเงินบาท

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก คาดว่า การส่งออกในเดือนม.ค. 65 น่าจะมีมูลค่าอยู่ที่ 21,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเติบโตอยู่ที่ 6-7% ซึ่งมากกว่าเดือนม.ค. 64 ที่อยู่ที่ 19,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

“สำหรับทั้งไตรมาส 1/65 มองว่าจะอยู่ที่ 5% จากการวิเคราะห์ว่าถ้าเราผ่านเดลตาที่หนักมากๆ มาได้ก็น่าจะผ่านโอมิครอนไปได้ ประกอบกับผู้ส่งออกได้เร่งส่งออก เนื่องจากปีนี้วันตรุษจีนมาไวกว่าปีก่อนๆ ส่วนทั้งปี 65 ยังคงคาดการณ์เดิมเติบโตอยู่ที่ 5-8%” นายชัยชาญ กล่าว

นายชัยชาญ กล่าว

ส่วนในปี 64 สรท. ยังคงคาดการณ์เดิมว่าส่งออกของไทยอยู่ที่ 15% โดยคาดว่าในเดือนธ.ค. 64 จะอยู่ที่ 15-16% มูลค่าอยู่ที่ 21,000-22,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี ถึงแม้จะมีการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอน แต่เชื่อมั่นว่าประสิทธิภาพของวัคซีนจะสามารถช่วยลดควมรุนแรงได้ในระดับหนึ่ง

ทั้งนี้ ในเดือนพ.ย. เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) พบว่า การส่งออกมีมูลค่า 23,647.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 24.7% ซึ่งไทยสามารถส่งออกได้ดี และคาดว่าจะมีแรงส่งต่อเนื่อง

สำหรับปัจจัยบวกที่สำคัญ ได้แก่

1. เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น สหรัฐอเมริกา จีน และญี่ปุ่น ฟื้นตัวต่อเนื่อง และอุปสงค์ยังคงทรงตัวในระดับสูง รวมถึงดัชนีผู้จัดการฝ่ายการผลิตโลก (World PMI Index) ของประเทศคู่ค้าสำคัญที่ยังคงทรงตัวอยู่ ณ ระดับ 50 ถึง 60 สะท้อนการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของกิจกรรมการผลิตและเศรษฐกิจโลก

2. ค่าเงินยังคงมีทิศทางอ่อนค่า จากปัจจัยความกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่โอมิครอน รวมถึงการลด ปริมาณเงินในมาตรการ QE Tapering และแผนปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 3 ครั้งในปี 65 ของธนาคารกลางสหรัฐฯ

สำหรับปัจจัยลบและความเสี่ยงสำคัญ ได้แก่

1. สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โอมิครอนทั่วโลกรวมถึงไทย จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ ที่มีการพบจำนวนผู้ติดเชื้อมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ สหภาพยุโรป และสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าหลักของไทย แม้รายงานผลกระทบจากการติดเชื้อยังคงไม่รุนแรงนัก แต่รัฐบาลหลายประเทศต้องพิจารณาทบทวนเรื่องการกลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์ว่าจำเป็นมากน้อยเพียงใด และหากนำกลับมาใช้อีกจะต้องเข้มงวดในระดับไหน ซึ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ และการค้าระหว่างประเทศอย่างมีนัยสำคัญ

2. แรงงานในภาคการผลิตขาดแคลนต่อเนื่อง ประกอบกับต้นทุน การจ้างงานปรับตัวสูงขึ้น กระทบการผลิตเพื่อการส่งออกที่กำลังฟื้นตัว

“ปีนี้ไทยน่าจะประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานในทุกภาคอุตสาหกรรม เช่น ภาคการส่งออกที่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ในภาพรวมไทยจึงต้องการแรงงานอยู่ที่ 200,000-400,000 คน จึงจะเพียงพอ” นายชัยชาญ กล่าว

นายชัยชาญ กล่าว

3. ปัญหาความหนาแน่นภายในท่าเรือประเทศปลายทาง ทำให้ต้องใช้ระยะเวลานานในการขนถ่ายสินค้า รวมถึงปัญหา Space allocation ไม่เพียงพอ ทำให้ไม่สามารถจองระวาง ตลอดจนค่าระวางเรือยังคงสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะยุโรป และสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะทรงตัวสูงยาวจนถึงปลายปี 65

4. ปัญหาวัตถุดิบขาดแคลนและราคาผันผวน เช่น เซมิคอนดักเตอร์ เหล็ก และน้ำมัน ส่งผลให้ภาคการผลิตเพื่อส่งออกยังคง ประสบปัญหาอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้น สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย จึงมีข้อเสนอแนะ คือ

1. ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทและคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ในระดับเหมาะสม

2. ขอให้กระทรวงพลังงาน ควบคุมต้นทุนพลังงานให้อยู่ในระดับเหมาะสม ไม่เป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการที่อยู่ในช่วงการฟื้นฟูหลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19

3. ขอให้กระทรวงแรงงาน เร่งช่วยเหลือเรื่องปัญหาการนำเข้าแรงงานต่างด้าวในภาคการผลิต ดังนี้

3.1 กำหนดพื้นที่บริหารจัดการส่วนกลาง หรือศูนย์ One Stop Service (OSS) สำหรับบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว เช่น จุดคัดกรองด้านสาธารณสุข และอุปกรณ์เวชภัณฑ์ที่จำเป็นในการตรวจสอบ รวมถึงให้สามารถดำเนินการด้านเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในจุดเดียว

3.2 อำนวยความสะดวกพื้นที่ในการกักตัว โดยอาจนำสถานที่ราชการที่เหมาะสม มาปรับใช้ในการกักตัวให้กับแรงงานต่างด้าว ระหว่างรอผลตรวจและการดำเนินเอกสาร

3.3 ค่าใช้จ่ายการนำเข้าแรงงานต่างด้าวตาม MOU สูงมาก จากช่วงก่อนโควิด-19 ซึ่งมีค่าใช้จ่ายประมาณ 4,000-5,000 บาทต่อคน เป็นประมาณ 12,000-22,000 บาทต่อคน ในปัจจุบัน ส่งผลให้ภาคเอกชนจำต้องขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล ปรับลดค่าใช้จ่ายบางส่วน เช่น ค่าบริการตรวจโควิด (ครั้งละ 1,300 เหลือ 800 บาท) ค่าสถานที่กักตัว (จากวันละ 500 เหลือวันละ 300 บาท) ค่าประกันโควิด และชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) เป็นต้น

4. เร่งเจรจากรอบความตกลงการค้าเสรี ระหว่างประเทศไทยและยุโรป

นายชัยชาญ ยังได้กล่าวถึงการปรับตัวของมูลค่าสินค้าในประเทศไทยว่า ราคาสินค้าหลายกลุ่มในประเทศไทยเริ่มมีการปรับตัวสูงขึ้นมาตั้งแต่ปี 64 แล้ว และในปีนี้มองว่าจากปัญหาเงินเฟ้อที่ประสบกันทั่วโลก ราคาสินค้าในทุกกลุ่มอุตสาหกรรมจะปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรจะมีการปรับขึ้นในบางตัว โดยจะปรับตัวสูงขึ้นทั้งในประเทศ และต่างประเทศ

ในส่วนของการส่งออกสุกรของประเทศไทย มองว่าการขาดแคลนสุกรในประเทศ จะไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกในภาพรวม เนื่องจากการส่งออกสุกรมีสัดส่วนน้อยอยู่ที่เพียง 53 ล้านเหรียญดอลาร์สหรัฐฯ เท่านั้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ม.ค. 65)

Tags: , , ,
Back to Top