PwC ชี้ภาวะโลกร้อนกระทบรายงานทางการเงินในอนาคต แนะวางแผน-ประเมินความเสี่ยง

น.ส.สินสิริ ทังสมบัติ หัวหน้าสายงานตรวจสอบบัญชีและหุ้นส่วน บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยว่า ภาวะโลกร้อนจะส่งผลกระทบต่อรายงานทางการเงินในอนาคต หลังประชาคมโลกออกกฎเกณฑ์ เพื่อร่วมมือกันแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เช่น การซื้อคาร์บอนเครดิตที่อาจส่งผลต่อการด้อยค่าสินทรัพย์ หรือเครื่องมือทางการเงินสีเขียวที่อาจส่งผลต่อการลงบัญชี แนะผู้ประกอบการทำความเข้าใจ และประเมินความเสี่ยงของการกำหนดเป้าหมายรักษ์โลกที่มีต่อรายงานทางการเงินขององค์กร เพื่อสามารถวางแผนงานด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างเหมาะสม

ทั้งนี้ ประชาคมโลกได้มีการทำความตกลงเรื่องเป้าหมาย และมาตรการต่างๆ ในการพยายามควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งปัญหานี้นอกจากจะส่งผลกระทบทางกายภาพ การออกกฎระเบียบต่างๆ และพฤติกรรมของผู้บริโภคแล้ว ยังจะส่งผลกระทบกับงบการเงินในอนาคตด้วย

“ภาวะโลกร้อนจะส่งผลกระทบกับงบการเงิน ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการออกมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศได้มีการเผยแพร่เอกสารทางการศึกษา ซึ่งพูดถึงประเด็นทางบัญชีต่างๆ เช่น พันธกิจในการปล่อยคาร์บอนสุทธิให้เป็นศูนย์ หรือการซื้อคาร์บอนเครดิตที่อาจส่งผลต่อการด้อยค่าสินทรัพย์ และการออกเครื่องมือทางการเงินที่มีความเชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ประเด็นเหล่านี้ ถือเป็นสิ่งที่บริษัทจะต้องทำการศึกษาถึงรายละเอียดและผลกระทบที่อาจมีต่องบการเงิน ก่อนที่จะกำหนดเป้าหมายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศใดๆ”

น.ส.สินสิริ กล่าว

น.ส.สินสิริ กล่าวว่า ภาวะโลกร้อนอาจส่งผลให้เกิดข้อบ่งชี้ของการด้อยค่าของสินทรัพย์ในบางธุรกิจ โดยทำให้กิจการจะต้องทำการทดสอบการด้อยค่า เช่น รัฐบาลในบางประเทศอาจมีการกำหนดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไว้ ซึ่งหากมีการปล่อยก๊าซพิษเกินกำหนด จะต้องมีการซื้อคาร์บอนเครดิตจากตลาด ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น

ส่วนกรณีพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปนั้น จะทำให้ความต้องการในสินค้าบางประเภทลดลง เช่น แนวโน้มของการใช้รถยนต์ไฟฟ้าแทนรถที่ใช้น้ำมัน ดังนั้น กิจการต้องประเมินว่า เครื่องจักรต่างๆ จะสามารถก่อให้เกิดกระแสเงินสดที่ครอบคลุมมูลค่าตามบัญชีของสินทรัพย์หรือไม่ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่บางบริษัทอาจมีการสื่อสารต่อสาธารณชน ถึงการดำเนินธุรกิจที่แสดงรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยมิได้มีกฎหมายใดๆ มาบังคับ เช่น สื่อสารว่าจะหันมาใช้เครื่องจักรที่ใช้พลังงานสะอาด ทดแทนเครื่องจักรเก่าภายในอีก 3 ปีข้างหน้า ซึ่งการสื่อสารในลักษณะนี้ อาจสร้างความคาดหวังต่อสังคมและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ดังนั้น ในการทำประมาณการกระแสเงินสด จากการใช้เครื่องจักรจากเดิมตามอายุการใช้งานปกติอาจทำให้สั้นลง ซึ่งกรณีนี้อาจส่งผลต่อการด้อยค่าได้

น.ส.สินสิริ กล่าวต่อว่า กิจการจะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับเครื่องมือทางการเงิน ที่มีการกำหนดเงื่อนไขเชื่อมโยงกับการพัฒนาสิ่งแวดล้อม และการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย โดยปัจจุบัน มีเครื่องมือทางการเงินต่างๆ เช่น ตราสารหนี้สีเขียว และสินเชื่อสีเขียว (Green Loan) ที่อ้างอิงจากปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของกิจการ ทำให้อัตราดอกเบี้ยอาจเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ ซึ่งในกรณีดังกล่าว กิจการจะต้องเข้าใจถึงเหตุผลของการเชื่อมโยงของอัตราดอกเบี้ยกับการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ว่าเป็นเพราะเหตุใด

“หากกิจการดำเนินธุรกิจภายใต้กฎหมายที่ควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก็จะต้องปฏิบัติตาม และหากไม่สามารถปฏิบัติตามได้ ก็อาจส่งผลให้กิจการถึงขั้นต้องปิดโรงงาน ซึ่งถ้าผลเป็นเช่นนี้ เราอาจตีความได้ว่า อัตราดอกเบี้ยดังกล่าว มีความเชื่อมโยงโดยตรงกับความเสี่ยงของกิจการ (Credit Risk) ดังนั้น กิจการจะต้องบันทึกดอกเบี้ยตามวิธีอัตราผลตอบแทนที่แท้จริง และเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยตามช่วงเวลาที่กิจการมีความเสี่ยงเปลี่ยนแปลงไป”

น.ส.สินสิริ กล่าว

อย่างไรก็ดี ในทางกลับกัน หากอัตราดอกเบี้ยไม่ได้มีความเชื่อมโยงกับกิจการโดยตรง ผู้บริหารจะต้องประเมินเรื่องของอนุพันธ์แฝงที่อยู่ในสัญญาเงินกู้ ซึ่งจะต้องแยกอนุพันธ์ดังกล่าวออกมา หรือรวมในตราสารเงินกู้แล้ววัดด้วยมูลค่ายุติธรรม ซึ่งวิธีการบัญชีจะต้องใช้การวิเคราะห์เนื้อหาของสัญญาเพื่อดูว่าจะต้องลงบัญชีเช่นไร ซึ่งจะเห็นได้ว่า เรื่องนี้ค่อนข้างมีความซับซ้อน และต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจ

นอกจากนี้ เรื่องของการประมาณการหนี้สิน ในกรณีที่กิจการมีภาระในการเปลี่ยนเครื่องจักรใหม่แทนเครื่องจักรเก่าเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม กิจการจะต้องประเมินถึงผลกระทบกับระยะเวลาในการรื้อถอน และตัวเลขหนี้สินจากประมาณการรื้อถอนในงบการเงิน

สำหรับประเด็นอื่นๆ ที่ต้องทำความเข้าใจเพิ่มเติมด้วย เช่น มูลค่าที่คาดว่าจะได้รับคืนของสินค้าคงเหลือลดลงหรือไม่ จากการที่ต้นทุนผลิตสูงขึ้น หรือการลดลงของราคาสินค้าเนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป ทำให้ความต้องการของสินค้าลดลง และภาษีเงินได้รอการตัดบัญชีจะได้ใช้หรือไม่ หากกำไรในอนาคตมีแนวโน้มลดลงจากผลกระทบของภาวะโลกร้อน เป็นต้น

น.ส.สินสิริ กล่าวว่า นอกจากผลทางด้านตัวเลขแล้ว การเปิดเผยข้อมูลก็มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน เนื่องจากรายการทางบัญชีหลายรายการ อาศัยการประมาณการข้อสมมติฐานต่างๆ ดังนั้น กิจการควรเปิดเผยข้อมูลเพื่อให้ผู้ใช้งบการเงินเข้าใจถึงที่มาของตัวเลข ความอ่อนไหวของข้อมูล ข้อสมมติฐานที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงความเสี่ยงต่างๆ ที่กิจการกำลังเผชิญอยู่ และการบริหารความเสี่ยงของกิจการด้วย

ในขณะเดียวกัน สิ่งที่มีความสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การใช้ข้อมูลที่สอดคล้องกันระหว่างฝ่ายบัญชีการเงิน และฝ่ายที่ดูแลรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมขององค์กร เพื่อให้แน่ใจว่าการจัดทำประมาณการต่างๆ จะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

“ผู้ประกอบการควรต้องประเมินว่า ธุรกิจที่ตนดำเนินการอยู่ มีความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมใดที่อาจจะกระทบกับตัวเลขในงบหรือไม่ และมากหรือน้อยเพียงใด เพื่อรับทราบถึงผลกระทบและจัดทำรายงานทางการเงินให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมได้อย่างเหมาะสม”

น.ส.สินสิริ กล่าว

น.ส.สินสิริ กล่าวว่า ในระยะถัดไป ภาวะโลกร้อนจะยิ่งกลายเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับทุกๆ องค์กรและหน่วยงานธุรกิจ ที่ต้องหันมากำหนดเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ให้สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรักษ์โลก และต้องสร้างผลกำไรอย่างมีสำนึกรับผิดชอบ บนพื้นฐานของการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมร่วมกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ม.ค. 65)

Tags: , ,
Back to Top