Decrypto: โทเคนมีกี่แบบ?

การเสนอขายโทเคนดิจิทัล โดยปรกติแล้วต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ด้วยการแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลและร่างหนังสือชี้ชวน (Whitepaper) ซึ่งจะต้องเสนอขายต่อผู้ลงทุนตามประเภทและเงื่อนไขที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนด รวมทั้งต้องเสนอขายผ่านผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO Portal) ที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต.

แต่อย่างไรก็ตาม สำนักงาน ก.ล.ต.อาจกำหนดให้การเสนอขายโทเคนดิจิทัลบางประเภทไม่ต้องอยู่ภายใต้บังคับให้ต้องดำเนินการในเรื่อง “การเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชนตามที่กฎหมายกำหนด” หรืออาจยกเว้นให้การเสนอขายโทเคนดิจิทัลบางประเภท หรือบางลักษณะ ไม่ต้องยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลและร่างหนังสือชี้ชวน (Whitepaper) ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ก็ได้ ซึ่งแนวคิดดังกล่าวก็เพื่อผ่อนปรนการดำเนินการตามกฎหมายกับโทเคนดิจิทัลที่ไม่ได้มีลักษณะเป็นการระดมทุน หรือไม่ได้มีผลกระทบต่อระบบการเงินหรือประชาชนในวงกว้าง

ปัจจุบันนี้ สำนักงาน ก.ล.ต.มีแนวทางการพิจารณาลักษณะการออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัล โดยมีปัจจัยที่ใช้พิจารณา 6 รูปแบบ

– Investment Token (โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน) และ Utility Token (โทเคนดิจิทัลเพื่อใช้การใช้ประโยชน์) แบบไม่พร้อมใช้ ที่มีการกระทำในประเทศไทย และมีการเสนอขาย

– Cryptocurrency และ Utility Token (โทเคนดิจิทัลเพื่อใช้การใช้ประโยชน์) แบบพร้อมใช้ ที่มีการกระทำในประเทศไทย และมีการเสนอขาย

– Investment Token (โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน) และ Utility Token (โทเคนดิจิทัลเพื่อใช้การใช้ประโยชน์) แบบไม่พร้อมใช้ ที่มีการกระทำในประเทศไทย และแจกฟรี

– Investment Token (โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน) และ Utility Token (โทเคนดิจิทัลเพื่อใช้การใช้ประโยชน์) แบบไม่พร้อมใช้ ซึ่งไม่มีการกระทำในประเทศไทย และมีการเสนอขาย

– หน่วยอิเล็กทรอนิกส์ที่มีลักษณะเป็นหลักทรัพย์ ที่มีการกระทำในประเทศไทย มีการเสนอขาย หรือแจกฟรี

– หน่วยอิเล็กทรอนิกส์ที่มีลักษณะเป็น Digital File ที่มีการกระทำในหรือนอกประเทศไทย มีการเสนอขายหรือแจกฟรี

ทั้งนี้ มีลักษณะโทเคนดิจิทัลที่เป็น Investment Token (โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน) และ Utility Token (โทเคนดิจิทัลเพื่อใช้การใช้ประโยชน์) แบบไม่พร้อมใช้ ที่มีการกระทำในประเทศไทย และมีการเสนอขาย เท่านั้นที่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.ก.ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561 กล่าวคือต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. ต้องแสดงรายการข้อมูลการเสนอขาย ร่างหนังสือชี้ชวน (Whitepaper) รวมทั้งต้องเสนอขายผ่านผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO Portal) เป็นต้น

นายปรุงศักดิ์ เชาวน์ชาติ

ทนายความหุ้นส่วน กลุ่มสำนักงานกฎหมายอเบอร์ (ABER Group)

อนุญาโตตุลาการผู้เชี่ยวชาญด้านสินทรัพย์ดิจิทัล

สถาบันอนุญาโตตุลาการ (THAC)

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ม.ค. 65)

Tags: , , , , , , , , ,
Back to Top