6 แบงก์ประเดิมนำร่องเปิดให้บริการ dStatement ก่อนทยอยเพิ่มใน H1/65

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. ร่วมกับสมาคมธนาคารไทย และสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ ร่วมเปิดตัวการให้บริการ dStatement (digital bank statement) ซึ่งเป็นการให้บริการรับ-ส่ง ข้อมูลรายการเคลื่อนไหวบัญชีเงินฝาก (bank statement) ในรูปแบบดิจิทัลโดยตรงระหว่างสถาบันการเงิน

ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนที่ต้องการใช้ข้อมูล bank statement เป็นหลักฐานประกอบการสมัครขอใช้บริการทางการเงิน สามารถขอให้ธนาคารที่ตนเองมีบัญชีเงินฝากอยู่ ส่งข้อมูล bank statement ไปยังธนาคารแห่งอื่นได้โดยตรง ผ่านช่องทาง mobile banking application หรือช่องทางอื่นตามที่สถาบันการเงินแต่ละแห่งกำหนด ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้บริการได้รับความสะดวกในการใช้บริการทางการเงินยิ่งขึ้น จากเดิมที่ต้องขอข้อมูลดังกล่าวในรูปเอกสารกระดาษ

โดยในระยะแรกของการให้บริการ dStatement จะเริ่มใช้สำหรับการสมัครขอสินเชื่อผ่านช่องทางดิจิทัล และมีธนาคารที่เปิดให้บริการ dStatement ตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม 2565 เป็นต้นไป จำนวน 6 ธนาคาร และจะทยอยเปิดให้บริการเพิ่มเติมอีก 5 ธนาคาร ภายในช่วงครึ่งแรกของปี 2565

การให้บริการ dStatement ถือเป็นโครงการนำร่องโครงการแรก ภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือ “การพัฒนามาตรฐานและใช้มาตรฐานข้อมูลดิจิทัลเพื่อส่งเสริมบริการทางการเงิน” ซึ่งธนาคารสมาชิกของสมาคมธนาคารไทย สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ และสมาคมธนาคารนานาชาติ ได้ลงนามร่วมกันเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2564 ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้ผู้ใช้บริการทางการเงินสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลของตนเองที่มีอยู่กับสถาบันการเงินแต่ละแห่ง เพื่อเพิ่มโอกาสในการเลือกใช้บริการทางการเงินที่หลากหลายจากสถาบันการเงินแห่งอื่น ๆ ได้โดยสะดวก รวดเร็ว และตรงตามความต้องการของตนเองยิ่งขึ้น และถือเป็นหนึ่งในจุดเริ่มต้นที่จะช่วยสนับสนุนการยกระดับบริการทางการเงินสู่บริการทางการเงินดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ

นายรณดล กล่าวว่า พัฒนาการด้านเทคโนโลยีในช่วงที่ผ่านมา เป็นปัจจัยสำคัญในการเร่งให้ระบบการเงินของประเทศก้าวสู่โลกการเงินดิจิทัล ดังนั้นการสร้างระบบนิเวศที่เปิดกว้างให้ทั้งผู้ใช้บริการทางการเงินและผู้ให้บริการทางการเงินสามารถใช้เทคโนโลยีและข้อมูลที่มีให้เกิดประโยชน์ เพื่อต่อยอดพัฒนานวัตกรรมในการให้บริการ และเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการเงินที่ตอบโจทย์ได้หลากหลายอย่างเสรี จึงเป็นสิ่งสำคัญ

“การเปิดตัวบริการ dStatement ในวันนี้ ถือเป็นการปักหมุดจุดเริ่มต้นของการสร้างระบบนิเวศ ที่เปิดกว้างในการแบ่งปันข้อมูล (open data ecosystem) เพื่อวางรากฐานที่จำเป็นให้ภาคการเงินไทย พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งระบบนิเวศนี้ จะช่วยปลดล็อกให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลของตนเอง เพื่อเข้าถึงบริการทางการเงินที่ดีขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันที่เป็นประโยชน์กับประชาชนมากขึ้น”

นายรณดล กล่าว

นายรณดล ยืนยันว่า การที่แต่ละธนาคารจะนำข้อมูลของลูกค้าออกมาใช้ระหว่างกันในการพิจารณาคำขอสินเชื่อนั้น จะอยู่ภายใต้การคำนึงถึงสิทธิในข้อมุลส่วนบุคคล ซึ่งข้อมูลที่แต่ละธนาคารจะนำออกมาใช้ได้จะต้องผ่านการยินยอมจากลูกค้าก่อน โดยลูกค้าจะเป็นผู้กำหนดเงื่อนไขและวัตถุประสงค์ว่าจะให้ธนาคารนำข้อมูลไปใช้ได้กับกรณีใดบ้าง ขณะเดียวกัน ขอให้มั่นใจว่าธนาคารจะปกป้องข้อมูลของลูกค้าไม่ให้เกิดการรั่วไหล โดยระบบการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล จะเป็นไปตามมาตรฐานการดูแลข้อมูลส่วนบุคคลตามมาตรฐานสากล

อย่างไรก็ดี คาดหวังว่าในอนาคตจะมีการต่อยอดข้อมูลดังกล่าวนอกเหนือจากการใช้ข้อมูลระหว่างธนาคารพาณิชย์ และธนาคารของรัฐออกไปเพิ่มเติม เช่น Non-Bank หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนอื่นๆ หรือแม้แต่การใช้ dStatement เพื่อการขอวีซ่า เป็นต้น

“ธปท. คาดหวังว่าจะมีการต่อยอดบริการมากขึ้นในอนาคตนอกเหนือจากสถาบันการเงินด้วยกันเอง เช่น หน่วยงานอื่นๆ ภาครัฐ และเอกชน หรือแม้แต่บริการขอวีซ่า…ซึ่งการใช้ข้อมูลจะต้องอยู่ภายใต้พื้นฐานการได้รับการยินยอมของลูกค้า และได้รับการอนุญาตเฉพาะตามวัตถุประสงค์ที่ระบุไว้”

นายรณดล กล่าว

ด้านนายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า สมาคมธนาคารไทย และธนาคารสมาชิก สนับสนุนการพัฒนาบริการ dStatement มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบโจทย์การเข้าถึงสินเชื่อของลูกค้าได้อย่างทั่วถึง สะดวก และเป็นธรรม โดยบริการ dStatement เป็นตัวอย่างการสร้างระบบนิเวศด้านข้อมูลของภาคการเงิน เอื้อให้เกิดนวัตกรรมบริการทางการเงิน บนช่องทางดิจิทัลเพิ่มเติม ส่งผลให้ประชาชนได้รับบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการได้ตรงจุดขึ้น มีความสะดวกรวดเร็ว และช่วยยกระดับการให้บริการของธนาคารแต่ละแห่งให้สอดคล้องกับกับแผนยุทธศาสตร์ 3 ปีของสมาคมธนาคารไทย ในการนำระบบเทคโนโลยีมาสร้างความเข้มแข็งให้กับ อุตสาหกรรมธนาคาร (Enable Country Competitiveness) ผ่านการสร้างแนวทางการเชื่อมโยงข้อมูลและการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ลดต้นทุนจากกิจกรรมที่ซ้ำซ้อนกันโดยไม่จำเป็น สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่ม และรองรับการเปลี่ยนแปลงของภาคธนาคารในอนาคต เป็นเสาหลักที่แข็งแกร่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป

นายฉัตรชัย ศิริไล ประธานสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ กล่าวว่า สถาบันการเงินของรัฐ มีความมุ่งมั่นที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงด้านบริการทางการเงินแก่ประชาชนด้วยฐานลูกค้าที่ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม และเชื่อมั่นว่าการเชื่อมโยงข้อมูลดังกล่าว เป็นการส่งเสริมให้ประชาชนใช้ประโยชน์จากข้อมูลของตนเองได้มากยิ่งขึ้น จะทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้สะดวกขึ้น โดยมีภาระต้นทุนทางการเงินที่ลดลงเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งสมาคมสถาบันการเงินของรัฐและสมาชิกได้ให้การสนับสนุนความร่วมมือของโครงการนี้มาโดยตลอด

นายชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร รองผู้อำนวยการ กลุ่มงานยุทธศาสตร์องค์กร ธปท. กล่าวว่า การใช้บริการ dStatement เพื่อขอรับบริการสินเชื่อ แทนรูปแบบเดิมที่ขอ Statement ในรูปแบบของกระดาษนั้น จะช่วยให้ประชาชนสามารถลดการจ่ายค่าธรรมเนียมในส่วนนี้ลงได้ จากเดิมที่อัตรา 100-200 บาท/บัญชี/ครั้ง ลงมาเหลือไม่เกิน 75 บาท/บัญชี/ครั้ง

ทั้งใน ในภาพรวมคำขอสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ (ไม่รวมธนาคารของรัฐ) ในปี 2563 มีทั้งสิ้น 9.6 ล้านคำขอ ส่วนในปี 2564 มีประมาณ 10 ล้านคำขอ ซึ่งในปี 2565 ที่เริ่มต้นให้บริการ dStatement คาดว่าจะยังมีผู้ใช้บริการราว 5-10% หรือคิดเป็น 5 แสน – 1 ล้านคำขอ จากจำนวนคำขอสินเชื่อทั้งหมดในภาพรวม ซึ่งคาดว่าจะทำให้ประหยัดต้นทุนในภาพรวมช่วงแรกได้ราว 250-500 ล้านบาท

“ในปี 65 ซึ่งเป็นช่วงปีแรกของการเริ่มใช้ dStatement เราคงตั้งเป้าไว้ไม่สูงมาก เพราะต้องเริ่มให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชนก่อน รวมทั้งเร่งให้ลูกค้าเข้ามายืนยันตัวตนในระบบดิจิทัล แต่เชื่อว่าตัวเลขผู้ใช้งานจะเติบโตแบบก้าวกระโดดในช่วงถัดไป ถ้าทำได้ถึง 50% ของยอดคำขอสินเชื่อรวม ก็คาดว่าจะประหยัดต้นทุนของระบบได้ถึง 2,500-3,000 ล้านบาท”

นายชัยวัฒน์ กล่าว

ส่วนเรื่องอัตราค่าธรรมเนียมการใช้ dStatement เพื่อยื่นขอสินเชื่อที่ในช่วงแรกยังมีความแตกต่างกันมากในแต่ละธนาคารนั้น คาดว่าในอนาคต ค่าธรรมเนียมดังกล่าวจะค่อยปรับลดลง หลังจากที่มีการแข่งขันการให้บริการกันมากขึ้นในแต่ละธนาคาร

ไทม์ไลน์ธนาคารที่พร้อมเปิดให้บริการ dStatement ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565

วัน/เดือน ที่เริ่มเปิดบริการธ.ที่พร้อมส่งข้อมูล dStatementธ.ที่พร้อมรับข้อมูล dStatement
24 ม.ค. 65BBL, KTB, KKP, BAY, KBANK, SCBBBL, KTB, KKP
มี.ค. 65ธกส., ออมสิน, ธอส.BAY, KBANK, ธอส.
เม.ย. 65TTBSCB
พ.ค. 65TTB
มิ.ย. 65CIMBTธกส., ออมสิน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ม.ค. 65)

Tags: , , , , ,
Back to Top