ครม.เคาะร่างกม.ป้องกันฟ้องคดีปิดปาก คุ้มครองประชาชน-นักสิทธิมนุษยชน

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการร่างพ.ร.บ.มาตรการป้องกันการฟ้องคดีปิดปากในความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่และประพฤติมิชอบ พ.ศ. …. ตามที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เสนอ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการดำเนินคดีหรือฟ้องคดีปิดปาก และมีกฎหมายคุ้มครองบุคคลที่แสดงความเห็นหรือเปิดโปงเบาะแสเกี่ยวกับการทุจริตประพฤติมิชอบ

โดยร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ เป็นการกำหนดกลไกส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการต่อต้าน หรือชี้เบาะแสการทุจริตและประพฤติมิชอบ และจะได้รับความคุ้มครองจากรัฐตามกฎหมาย โดยกำหนดให้คุ้มครองแก่บุคคลที่ได้แสดงความคิดเห็น ให้ถ้อยคำ แจ้งเบาะแสหรือข้อมูล หรือมีการกล่าวหาเกี่ยวกับการกระทำของพนักงานของรัฐ หรือบุคคลใดอันเป็นที่มาของการสอบสวน การตรวจสอบ หรือการไต่สวนในความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่และประพฤติมิชอบ และบุคคลดังกล่าวตกเป็นเหยื่อจากการถูกนำกระบวนการยุติธรรมมาใช้เป็นเครื่องมือโดยมิชอบ หรือกลั่นแกล้ง ด้วยวิธีการฟ้องคดีปิดปากไม่ว่าจะเป็นการถูกฟ้องคดีในทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางปกครอง รวมถึงการดำเนินการทางวินัย ซึ่งร่างพระราชบัญญัติมีสาระสำคัญ อาทิ

1.กำหนดบทนิยาม “การฟ้องคดีปิดปาก” หมายความว่า การนำกระบวนการยุติธรรมด้วยวิธีการเสนอข้อหาต่อศาล ไม่ว่าจะเป็นทางอาญา ทางแพ่ง หรือทางปกครอง รวมถึงคดีที่เกี่ยวข้องกับคดีเดิมที่ได้มีการเสนอข้อหาต่อศาลไว้ก่อนแล้ว ซึ่งกระทำในลักษณะการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต หรือบิดเบือนข้อเท็จจริง เพื่อกลั่นแกล้งหรือเอาเปรียบบุคคลใด มาใช้เป็นเครื่องมือ

2.กำหนดลักษณะของการดำเนินคดีหรือการฟ้องคดีปิดปาก (1) การดำเนินคดีหรือการฟ้องคดี ซึ่งมีสาเหตุมาจากกรณีที่ผู้ถูกฟ้องได้แสดงความคิดเห็น ให้ถ้อยคำ แจ้งเบาะแสหรือข้อมูล จัดทำคำร้องหรือคำกล่าวหาเกี่ยวกับการกระทำที่เป็นความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่และประพฤติมิชอบ 2)การดำเนินคดีหรือการฟ้องคดีอันมีลักษณะของการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต หรือบิดเบือนข้อเท็จจริง เพื่อการแกล้งหรือเอาเปรียบผู้ถูกดำเนินคดี

3.กรณีที่พนักงานสอบสวน หรือพนักงานอัยการ หรือผู้ถูกฟ้องคดี เห็นว่าการดำเนินคดีหรือฟ้องคดี อาจเข้าข่ายเป็นลักษณะการฟ้องคดีปิดปากตามพ.ร.บ.นี้ ให้พนักงานสอบสวน หรือพนักงานอัยการ มีอำนาจตรวจสอบ สอบสวน หรือทำความเห็นในคดีได้

4.กำหนดให้ผู้ถูกฟ้องคดีปิดปากมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากผู้ฟ้องคดีปิดปาก โดยกำหนดให้ศาลมีอำนาจกำหนดมูลค่าความเสียหายจากการถูกฟ้องคดีปิดปาก ซึ่งเป็นกลไกสำคัญของกฎหมายป้องกันการฟ้องคดีปิดปากในระดับสากล

5.การกำหนดโทษ

1) กรณีที่มีการฟ้องคดีปิดปากตามพระราชบัญญัตินี้ โดยที่ผู้ฟ้องคดีมีสถานะเป็นพนักงานของรัฐและเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ให้ถือว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดทางวินัยหรือเป็นเหตุแห่งการถอดถอนออกจากตำแหน่ง ในกรณีศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง เพราะเหตุว่าการฟ้องคดีมีลักษณะเป็นการฟ้องคดีปิดปาก และผู้ฟ้องคดีเป็นพนักงานของรัฐ ให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดทางวินัยหรือเป็นเหตุแห่งการถอดถอนออกจากตำแหน่งด้วย

2) ผู้ใดกระทำการไม่สุจริต ได้ยื่นฟ้องคดีปิดปาก ในลักษณะเพื่อกลั่นแกล้งบุคคลให้ต้องรับโทษทางอาญาหรือได้นำความอันเป็นเท็จยื่นฟ้องต่อศาลเป็นคดีอาญา หรือเข้าลักษณะเป็นการฟ้องคดีเพื่อต่อรองหรือข่มขู่ ให้ถือว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดฐานขัดขวางกระบวนการยุติธรรม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าเป็นพนักงานของรัฐเป็นผู้กระทำต้องระวางโทษเป็น 2 เท่าของโทษที่กำหนดไว้

ทั้งนี้ ลำดับต่อไป จะส่งร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยรับความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงยุติธรรม สำนักงาน ก.พ. ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาก่อนเสนอรัฐสภาต่อไป

น.ส.รัชดา กล่าวว่า เมื่อร่างพ.ร.บ.นี้มีผลบังคับใช้ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการเพิ่มมาตรการป้องกันการดำเนินคดีหรือการฟ้องคดีปิดปาก ซึ่งจะทำให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อันจะเป็นการขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบในทุกวงการของสังคมไทย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ม.ค. 65)

Tags: , , , ,
Back to Top