In Focus: ส่องอาเซียน หลังทรัมป์ร่อนจดหมายขีดเส้นตายภาษีใหม่

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ขีดเส้นตายใหม่ในการเรียกเก็บภาษีตอบโต้ หรือภาษีต่างตอบแทน (Reciprocal Tariff) กับบรรดาประเทศคู่ค้า เป็นวันที่ 1 ส.ค. 2568 จากเดิมที่จะเรียกเก็บในวันที่ 9 ก.ค. 2568 โดยประเทศกลุ่มแรกที่เป็นผู้โชคดี (!?) ได้รับจดหมายจากทรัมป์มี 14 ประเทศ ซึ่ง 6 ประเทศในจำนวนนี้ล้วนเป็นชาติสมาชิกอาเซียนทั้งสิ้น ความเคลื่อนไหวดังกล่าวสร้างแรงกดดันไม่น้อยให้ประเทศที่ยังเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ ไม่ลุล่วง โดยมีเพียงเวียดนามที่บรรลุข้อตกลงกับทรัมป์ได้ก่อนใครเพื่อน

 

เวียดนามมาแรงแซงโค้ง คว้าดีลก่อนเพื่อน

เวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศที่ไม่ได้รับจดหมายจากสหรัฐฯ เนื่องจากเป็นชาติแรกในอาเซียนที่บรรลุข้อตกลงภาษีกับสหรัฐฯ ได้ก่อนเดดไลน์เดิม โดยเวียดนามจะถูกเรียกเก็บภาษีในอัตรา 20% ลดลงอย่างมากจาก 46% ที่ทรัมป์ประกาศไว้เมื่อเดือนเม.ย.

อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ จะเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากเวียดนามในอัตรา 40% หากพบว่าสินค้าดังกล่าวมีการสวมสิทธิ์จากต่างประเทศ ขณะเดียวกัน เวียดนามจะเปิดตลาดอย่างเสรีให้แก่สินค้าจากสหรัฐฯ หรืออาจกล่าวได้ว่า สหรัฐฯ สามารถส่งออกสินค้าไปยังเวียดนามโดยไม่ต้องเสียภาษีศุลกากร

 

บรูไนรอดจดหมายแจ้งภาษีใหม่ แต่ยังต้องรอลุ้น

บรูไนเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกอาเซียนที่ไม่ได้รับจดหมายแจ้งอัตราภาษีใหม่จากทรัมป์ ทำให้ในตอนนี้อัตราภาษีศุลกากรที่สหรัฐฯ จะเรียกเก็บจากบรูไนยังคงอยู่ที่ 24% เช่นเดิม

อย่างไรก็ดี จดหมายที่ทรัมป์ส่งตรงถึงผู้นำ 14 ประเทศเมื่อวันจันทร์ (7 ก.ค.) นั้น เป็นเพียงจุดหมายชุดแรกที่รัฐบาลทรัมป์ส่งให้กับประเทศคู่ค้าก่อนวันพุธที่ 9 ก.ค. ซึ่งเป็นวันครบกำหนดที่สหรัฐฯ จะกลับมาใช้มาตรการภาษีตอบโต้อีกครั้งหลังจากมีการผ่อนผันเป็นเวลา 90 วัน โดยแคโรไลน์ เลวิตต์ โฆษทำเนียบขาวกล่าวว่า จะมีจดหมายส่งออกไปอีกในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

ทั้งนี้ ข้อมูลจากเว็บไซต์ สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ หรือ USTR ในปี 2567 มูลค่าการค้าระหว่างบรูไรกับสหรัฐฯ โดยรวมอยู่ที่ 366 ล้านดอลลาร์ในปี 2567 สินค้าส่งออกหลักของบรูไนไปยังสหรัฐฯ ได้แก่ น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ส่วนสินค้าหลักที่บรูไนนำเข้าจากสหรัฐฯ ได้แก่ เครื่องจักรและรถยนต์

 

สิงคโปร์-ฟิลิปปินส์ อยู่ในจุดที่ได้เปรียบ

สิงคโปร์และฟิลิปปินส์ถือเป็น 2 ชาติอาเซียนที่อยู่ในจุดได้เปรียบ โดยอัตราภาษีที่สหรัฐฯ เรียกเก็บจากทั้งคู่ถือว่าต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ โดยอยู่ที่ 10% และ 17% ตามลำดับ นอกจากนี้ ทั้งสองชาติยังไม่ได้รับจดหมายแจ้งอัตราภาษีใหม่จากสหรัฐฯ ด้วย

สิงคโปร์ ซึ่งพึ่งพาการส่งออกมากที่สุดในภูมิภาค จะได้รับประโยชน์อย่างยิ่งหากอัตราภาษียังคงอยู่ที่ระดับ 10% เนื่องจากการรักษาการเข้าถึงตลาดสหรัฐฯ ด้วยอัตราภาษีที่ต่ำมีความสำคัญอย่างยิ่ง นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังมีดุลการค้าเกินดุลกับสิงคโปร์ในปัจจุบัน อีกทั้งสิงคโปร์ยังพึ่งพาการนำเข้าจากจีนน้อยที่สุดในภูมิภาค ปัจจัยเหล่านี้อาจช่วยให้สิงคโปร์บรรลุข้อตกลงภาษีที่ผ่อนคลายพิเศษในอนาคต

ด้านฟิลิปปินส์ก็กำลังพยายามสร้างกรอบการทำงานด้านการค้าที่ได้ประโยชน์ร่วมกันกับสหรัฐฯ และสหรัฐฯ ยังคงเป็นจุดหมายปลายทางการส่งออกที่สำคัญ คิดเป็น 17% ของการส่งออกทั้งหมดของฟิลิปปินส์ในปี 2567 โดยสินค้าส่งออกราว 53% เป็นผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งเป็นภาคส่วนที่ต้องแข่งขันโดยตรงกับเวียดนามและอินเดียเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯ ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากบริบทดังกล่าวแล้ว อัตราภาษีตอบโต้ที่ระดับ 17% ในปัจจุบันจึงทำให้ฟิลิปปินส์มีข้อได้เปรียบด้านการแข่งขัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านอิเล็กทรอนิกส์

 

กัมพูชาเฮ เจอภาษีน้อยลง 13%

กัมพูชาเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่โล่งใจจากภาษีทรัมป์ไปได้เปลาะหนึ่ง จากเดิมเป็นประเทศสมาชิกอาเซียนที่ถูกกำหนดอัตราภาษีสูงสุดถึง 49% ล่าสุดกัมพูชาถูกเรียกเก็บภาษีลดลงมาสู่ระดับ 36% โดยกัมพูชาระบุว่า การลดลงดังกล่าวถือเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญในการเจรจา ขณะที่ซุน จันทอล รองนายกรัฐมนตรี ผู้ซึ่งทำหน้าที่หัวหน้าคณะเจรจาเรื่องภาษีกับสหรัฐฯ กล่าวว่า กัมพูชาจะยังคงเจรจากับสหรัฐฯ ต่อไป โดยหวังว่าสหรัฐฯ จะลดภาษีลงอีก

ความสำเร็จดังกล่าวคาดว่าจะมาจากการที่กัมพูชาเสนอปรับลดภาษีนำเข้าสินค้า 19 ประเภทจากอัตราสูงสุด 35% เหลือเพียง 5% ตลอดจนการที่ทั้งสองฝ่ายได้หารือแนวทางส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างกัน และอยู่ระหว่างพิจารณาร่างข้อตกลงการค้าต่างตอบแทน (Agreement on Reciprocal Trade – ART) ด้วย

อย่างไรก็ตาม ภาคอุตสาหกรรมของกัมพูชา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาคการผลิตและเครื่องแต่งกาย ยังคงแสดงความกังวลอย่างยิ่งถึงผลกระทบที่เกิดจะเกิดขึ้น หากภาษีศุลกากรสหรัฐฯ ยังไม่ลดลงกว่านี้

 

ลาวได้ลดภาษีลง 8% แต่ยังเสี่ยงสูง

ทรัมป์ส่งจดหมายแจ้งเก็บภาษีนำเข้าจากลาวในอัตราใหม่ 40% ซึ่งแม้ลดลงจากอัตราเดิมที่ 48% แต่ก็ยังถือเป็นตัวเลขที่สูงมาก และจะทำให้ความก้าวหน้าทางธุรกิจของลาวในการเข้าถึงตลาดต่างประเทศลดลง โดยอาจส่งให้ผู้ซื้อในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญของลาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้ รองเท้า สิ่งทอ เครื่องใช้ไฟฟ้า และกาแฟคุณภาพสูง หันเหไปยังแหล่งสินค้าที่ถูกกว่า

 

เมียนมามองบวก หลังได้ลดภาษีลง 4%

เมียนมามีมุมมองเชิงบวกต่อจดหมายแจ้งการเรียกเก็บภาษีจากสหรัฐฯ ในอัตรา 40% ซึ่งลดลงจากเดิมที่ 44% โดย จ่อ มิน ทุน หัวหน้าคณะทำงานฝ่ายข้อมูลของรัฐสภาเมียนมาระบุว่า รัฐบาลจะเดินหน้าเจรจากับสหรัฐฯ และคาดหวังว่าการเจรจาดังกล่าวจะนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย

ทั้งนี้ ปริมาณการค้าระหว่างเมียนมากับสหรัฐฯ ในช่วงปีงบประมาณ 2566-2567 มีมูลค่าการค้าอยู่ที่ประมาณ 701.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

 

มาเลเซียลุยเจรจาต่อ หลังทรัมป์ขู่รีดภาษีเพิ่ม 1%

มาเลเซีย ซึ่งมีสหรัฐฯ เป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 3 ของประเทศนับตั้งแต่ปี 2558 ถูกเรียกเก็บภาษีเพิ่มจากเดิมที่ 24% เป็น 25%

หลังได้รับจดหมายอัปเดตอัตราภาษีใหม่ กระทรวงการลงทุน การค้า และอุตสาหกรรมของมาเลเซียก็ได้ออกแถลงการณ์ระบุว่า มาเลเซียจะเดินหน้าเจรจากับสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง เพื่อหาทางออกในประเด็นที่ยังค้างคา ชี้แจงขอบเขตและผลกระทบของอัตราภาษีที่ประกาศไว้ และผลักดันให้การเจรจาได้ข้อสรุปโดยเร็ว พร้อมย้ำว่าทั้งหมดนี้สะท้อนถึงความตั้งใจของมาเลเซียที่จะบรรลุข้อตกลงที่เป็นธรรมและยั่งยืนสำหรับทั้งสองประเทศ นอกจากนี้ ยังมีการเรียกประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 9 ก.ค. เพื่อหารือเพิ่มเติมด้วย

โดยก่อนหน้านี้ มาเลเซียได้แสดงความพร้อมที่จะหารือกับสหรัฐฯ ใน 4 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ การลดความไม่สมดุลทางการค้า การแก้ไขอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีศุลกากร การคุ้มครองเทคโนโลยีและความมั่นคง และการสำรวจแนวทางจัดทำข้อตกลงการค้าทวิภาคีในอนาคต

 

อินโดนีเซียประหลาดใจ ภาษีไม่ลดแม้มีสัญญาณบวก

อินโดนีเซียเป็น 1 ใน 6 ประเทศอาเซียนที่ได้รับจดหมายแจ้งอัตราภาษีใหม่จากสหรัฐฯ ซึ่งยังอยู่ที่ 32% ไม่เปลี่ยนแปลงจากอัตราเดิม นับเป็นเรื่องที่ผิดคาดพอสมควร เนื่องจากก่อนที่ทรัมป์จะขยายเส้นตายเพียงไม่นาน รัฐบาลอินโดนีเซียเพิ่งออกมาแสดงความเชื่อมั่นว่า ใกล้บรรลุข้อตกลงกับสหรัฐฯ แล้ว ทั้งยังเคยตั้งเป้าไว้ว่าจะจัดพิธีลงนามข้อตกลงการค้าและการลงทุนมูลค่า 3.4 หมื่นล้านดอลลาร์ด้วย

นอกจากนี้ ภาษีในอัตราดังกล่าวยังเสี่ยงที่จะทำให้การส่งออกน้ำมันปาล์มของอินโดนีเซียไปยังสหรัฐฯ ดิ่งลงอย่างหนักด้วย ส่งผลให้แอร์ลังกา ฮาร์ตาร์โต รัฐมนตรีกระทรวงประสานงานเศรษฐกิจอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะเจรจา จำเป็นต้องบินด่วนไปยังสหรัฐฯ ในวันที่ 8 ก.ค. เพื่อหารือเกี่ยวกับในประเด็นนี้

 

ไทยช้า ๆ ได้พร้าเล่มเดิม?

แม้ไทยจะได้รับจดหมายจากปธน.ทรัมป์แจ้งการเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าในอัตรา 36% ซึ่งเท่ากับที่ประกาศไว้เมื่อเดือนเม.ย. อย่างไรก็ดี นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะหัวหน้า “ทีมไทยแลนด์” กล่าวว่าอย่าเพิ่งรีบหมดหวัง เพราะจดหมายที่สหรัฐฯ ส่งมาให้นั้น เป็นการส่งมาจากการพิจารณาภายใต้ข้อเสนอเดิมของไทย ซึ่งยังไม่ใช่ข้อเสนอใหม่ล่าสุดจากทีมไทยแลนด์ที่ส่งไปเมื่อวันที่ 6 ก.ค.

โดยนายพิชัยเผยว่า ข้อเสนอล่าสุดที่ไทยส่งไปนั้น ไทยได้เสนอลดภาษีให้สินค้าสหรัฐส่วนใหญ่ 90% โดยอีก 10% เป็นการสงวนไว้เพื่อดูแลผู้ประกอบการในประเทศของไทยเอง โดยเชื่อว่าข้อเสนอใหม่นี้ จะทำให้สหรัฐฯ พึงพอใจไทยในเรื่องการเปิดตลาด และการลดกำแพงภาษีให้แก่สินค้าจากสหรัฐ และเชื่อว่าสหรัฐฯ พร้อมจะทบทวนอัตราภาษีใหม่ให้แก่ไทยลงจากระดับ 36%

 

ปิดท้าย In Focus สัปดาห์นี้ ด้วยอัตราภาษีล่าสุดที่ 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนจะถูกเรียกเก็บจากสหรัฐฯ

ภาษีเดิม ภาษีล่าสุด

ลาว 48% 40%

เมียนมา 44% 40%

กัมพูชา 49% 36%

ไทย 36% 36%

อินโดนีเซีย 32% 32%

มาเลเซีย 24% 25%

บรูไน 24% 24%

เวียดนาม 46% 20%

ฟิลิปปินส์ 17% 17%

สิงคโปร์ 10% 10%

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 ก.ค. 68)