สศอ.เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ธ.ค.ขยายตัว 6.83%YoY ทั้งปีโต 5.9%

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ธ.ค.64 อยู่ที่ระดับ 102.59 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 6.83% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) และปรับตัวดีขึ้นจากเดือน พ.ย.ที่ 4.91% ส่งผลให้ในปี 64 ขยายตัวเฉลี่ย 5.93%

ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิต (CapU) เดือน ธ.ค.64 อยู่ที่ 66.3% เพิ่มขึ้นจาก 65.83% ในเดือน พ.ย.64 ส่งผลให้ CapU ในปี 64 อยู่ที่ 63.73%

“อัตราการใช้กำลังการผลิตทั้งปี 2564 อยู่ที่ 63.73% ส่งสัญญาณเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัวและมีแนวโน้มจะขยายตัวเพิ่มขึ้นในปี 2565” นายทองชัย กล่าว

โดยมีปัจจัยสำคัญ ได้แก่

  • สถานการณ์การติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ของแรงงานในสถานประกอบการในภาพรวมทยอยปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนได้จากดัชนีแรงงานอุตสาหกรรมเดือน ธ.ค.64 ที่ขยายตัว 2.2% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง
  • ภาครัฐผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 แบบค่อยเป็นค่อยไป รวมถึงการเปิดประเทศ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ทำให้อุปสงค์ในประเทศทยอยฟื้นตัว สะท้อนได้จากอุตสาหกรรมการกลั่นปิโตรเลียมขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่สาม
  • ภาคการส่งออกมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว รวมทั้งการอ่อนค่าของเงินบาทยังส่งผลดีต่อผู้ส่งออก และช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของสินค้าไทย

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมหลักที่ดัชนีผลผลิตส่งผลบวกในเดือน ธ.ค.64 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่

  • ยานยนต์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 9.15% จากผลิตภัณฑ์รถบรรทุกปิคอัพ รถยนต์นั่งขนาดกลาง เครื่องยนต์ดีเซล และรถยนต์นั่งขนาดใหญ่ โดยขยายตัวตามตลาดส่งออกและเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว ส่งผลให้มีความต้องการรถยนต์มากขึ้น
  • น้ำมันปิโตรเลียม ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 7.54% จากผลิตภัณฑ์น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว น้ำมันเตาชนิดที่ 2 น้ำมันเตาชนิดที่ 5 และน้ำมันเบนซิน 91 เป็นหลัก โดยเป็นผลจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวหลังประชาชนได้รับวัคซีนในอัตราสูง ส่งผลให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น และการเดินทางที่เพิ่มขึ้นทำให้ความต้องการน้ำมันขนส่งเพิ่มสูงขึ้นตาม
  • น้ำตาล ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 31.52% เนื่องจากการเปิดหีบอ้อยที่เร็วกว่าเดิมและมีจำนวนโรงงานที่เริ่มเปิดหีบมากกว่าปีก่อน รวมถึงสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก ส่งผลให้ปริมาณอ้อยเข้าหีบปีนี้มีมากกว่าปีก่อน
  • ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 14.24% เนื่องจากความต้องการสินค้าในตลาดโลกที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำไปใช้ในกลุ่มสินค้าในชีวิตประจำวันต่าง ๆ เช่น รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน อุปกรณ์ไฟฟ้า ฯลฯ
  • ผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 16.08% จากผลิตภัณฑ์ยางแท่ง ยางรัดของ และน้ำยางข้น เป็นหลัก โดยเป็นไปตามการขยายตัวของตลาดส่งออกที่ฟื้นตัวและมีคำสั่งซื้อกลับเข้ามามากขึ้น รวมถึงขยายตัวตามความต้องการใช้ต่อเนื่องในอุตสาหกรรมยานยนต์

ขณะที่ในปี 65 คาดว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมจะขยายตัว 4.0-5.0% และ GDP อุตสาหกรรมจะขยายตัว 2.5-3.5%

ผู้อำนวยการ สศอ. กล่าวว่า อุตสาหกรรมหลักที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยส่วนใหญ่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเคมี สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ผลิตภัณฑ์ยาง เคมีภัณฑ์ และอาหารที่ขยายตัวได้ดีตามเศรษฐกิจโลก ประกอบกับการฟื้นตัวของกิจกรรมทางด้านเศรษฐกิจภายในประเทศที่สะท้อนผ่านการขยายตัวของอุตสาหกรรมน้ำมันปิโตรเลียม จึงคาดว่าในปี 2565 เศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากประเทศไทยและประเทศคู่ค้ามีมาตรการที่ชัดเจนในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังคงอยู่

สำหรับประเด็นสำคัญที่ส่งผลต่อการผลิตในเดือน ม.ค.65 ได้แก่

  • เศรษฐกิจโลกยังคงเติบโตได้ แม้หลายประเทศเริ่มกลับมาบังคับใช้มาตรการควบคุมการระบาด แต่ยังคงสามารถดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้อยู่ ทำให้ภาคการผลิตในหลายประเทศยังคงเดินหน้าต่อ และเป็นปัจจัยบวกต่อการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม
  • มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศต่างๆ จากภาครัฐจะช่วยให้มีแรงส่งสนับสนุนการบริโภคและการผลิต
  • ผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนจะส่งผลต่อเศรษฐกิจชัดเจนมากขึ้น แต่คาดว่าจะกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระดับที่ต่ำกว่าช่วงการระบาดของสายพันธุ์เดลตาและมีแนวโน้มจะคลี่คลายกลับสู่ภาวะปกติโดยเร็วกว่าครั้งก่อน หากไม่มีการกลายพันธุ์เพิ่มเติม
  • การปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในบางกลุ่มจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการบริโภคของประชาชนและส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมผ่านต้นทุนวัตถุดิบในการผลิตที่สูงขึ้น แต่คาดว่าปัญหาราคาสินค้าจะเป็นปัญหาในระยะสั้นและทยอยคลี่คลายในช่วงครึ่งหลังปี 65

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 ม.ค. 65)

Tags: , , ,
Back to Top