SCC-BJC มองเทรนด์หลังโควิดโลกใส่ใจ สวล.-สุขภาพ-Digital Transformation

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) กล่าวงานสัมมนาหัวข้อ”The NEXT Stage of Sustainability Growth” ว่า เทรนด์หลังยุคโควิด 3 เทรนด์ที่ทั่วโลกรวมถึงประเทศอาเซียนให้ความสำคัญ ได้แก่ Digital Transformation, Climate Change หรือ ESG ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม และ Wellness ที่ให้ความสำคัญสุขภาพ

ขณะที่บริษัทตั้งเป้าที่จะลดภาวะโลกร้อนด้วยการใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น การปรับมาทำสินค้ากลุ่ม Green มากขึ้น กระบวนการผลิตนำดิจิทัลมาใช้มากขึ้น ลดความสูญเสีย (Watse) ระหว่างการผลิตให้ได้มากขึ้น เพื่อทำให้โลกน่าอยู่ การดำเนินงานแนวทางนี้ไม่ใช่จะดำเนินการได้ตามลำพัง แต่จะต้องร่วมมือกับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับ อาทิ อุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง เจ้าของแบรนด์ที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ก็ยังต้องมีความโปร่งใสในการดำเนินการที่สามารถเปิดเผยได้

ธุรกิจของ SCC ในอาเซียนอยู่ที่ 2 ประเทศสำคัญ คือ เวียดนามและอินโดนีเซีย โดยในเวียดนาม เป็นประเทศที่บริษัทลงทุนค่อนข้างมาก ได้แก่ โครงการปิโตรเคมี ซึ่งงานก่อสร้างแล้วเสร็จ 90% คาดว่าจะเริ่มการผลิตได้ต้นปี 66 ซึ่งเป็นไปตามแผน, ธุรกิจแพ็คเกจจิ้ง การเข้าลงทุนในเวียดนามที่มีบรรยากาศการลงทุนที่ดี รัฐบาลก็สนับสนุนโครงการปิโตรเคมี เพราะเป็นอุตสาหกรรมขั้นพื้นฐาน และมีความต้องการมาก

ส่วนในอินโดนีเซีย มีประชากรถึง 260-270 ล้านคน เป็นตลาดที่กำลังเติบโตทำให้มีความสามารถการแข่งขันและการเพิ่มยอดขายไปได้ด้วยดี โดยการเข้าธุรกิจค้าปลีกวัสดุก่อสร้างใช้ e-Commerce เข้ามาสนับสนุน ซึ่งมีผลต่อยอดขายมาก และยังเตรียมขยายสาขาไปพร้อมกันด้วย

อย่างไรก็ตาม มองว่าการที่ภาคธุรกิจจะเข้าไปลงทุนขนาดใหญ่ในประเทศอาเซียนขณะนี้ถือว่าค่อนข้างช้าไปแล้ว แต่ก็ยังสามารถส่งออกสินค้าไปขายได้ ซึ่งการค้าชายแดนมีความสำคัญมากขึ้น โดยเน้นให้ความสำคัญข้อมูลและลูกค้า

นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) กล่าวว่า จากการที่ลูกค้าสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้มากขึ้น ทำให้การค้ามีการแข่งขันสูง เพราะลูกค้ามีทางเลือกทุกช่องทางทั้งออนไลน์ออฟไลน์ ซึ่งมีการนำเสนอราคาถูกกว่า ดังนั้น จำเป็นที่ต้องนำเทคโนโลยีมาช่วย

ขณะเดียวกันการทำธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมในกลุ่ม BJC ก็ดำเนินการมานานแล้ว อาทิ การเก็บเศษแก้วเพื่อนำมารีไซเคิลเพื่อผลิตขวดใหม่ , บิ๊กซี (BIGC) นำสินค้า Green มากขึ้น โดย Push ให้มีสินค้า และ Pull ให้คนเข้ามาซื้อสินค้า

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 ก.พ. 65)

Tags: , , , , , ,
Back to Top