เงินเฟ้อญี่ปุ่นเพิ่มติดกัน 5 เดือน หลังราคาเชื้อเพลิงพุ่งสูงสุดรอบ 40 ปี

กระทรวงกิจการภายในประเทศและการสื่อสารของญี่ปุ่นเปิดเผยในวันนี้ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) พื้นฐานซึ่งไม่นับรวมราคาอาหารสดซึ่งมีความผันผวน ปรับตัวขึ้น 0.2% ในเดือนม.ค.เมื่อเทียบรายปี เนื่องจากต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้นและเงินเยนที่อ่อนค่าลงยังคงเป็นปัจจัยที่สร้างแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ

รายงานของกระทรวงระบุว่า ต้นทุนพลังงานที่พุ่งขึ้นในอัตราที่รวดเร็วที่สุดในรอบกว่า 40 ปีได้ส่งผลให้ดัชนี CPI พื้นฐานปรับตัวขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5

ดัชนี CPI เดือนม.ค.ขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับเดือนธ.ค.ที่มีการขยายตัว 0.5% โดยส่วนใหญ่เป็นเพราะผลกระทบที่ลดน้อยลงของการปรับขึ้นค่าที่พักอาศัย ซึ่งที่ผ่านมานั้น ผู้ให้บริการได้ปรับขึ้นค่าที่พักอาศัยเพื่อรับมือกับการที่รัฐบาลได้ระงับโครงการให้ส่วนลดเพื่อฟื้นฟูการท่องเที่ยวในท้องถิ่น ท่ามกลางจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่กลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ดัชนี CPI พื้นฐานยังคงห่างไกลจากเป้าหมายเงินเฟ้อ 2% ของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ซึ่งทำให้มีแนวโน้มมากขึ้นว่า BOJ จะยังคงใช้นโยบายผ่อนคลายการเงินต่อไป ต่างจากธนาคารกลางรายใหญ่ในประเทศอื่น ๆ ที่เริ่มปรับนโยบายการเงินสู่ภาวะปกติ

สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า ต้นทุนด้านพลังงานและวัตถุดิบที่สูงขึ้นได้สร้างแรงกดดันต่อครัวเรือนของญี่ปุ่น ขณะที่นายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้เปิดเผยเมื่อวานนี้ (17 ก.พ.) ว่ารัฐบาลจะพิจารณาใช้มาตรการเพิ่มเติมเพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น

รายงานระบุว่า ราคาพลังงานพุ่งขึ้น 17.9% เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนม.ค. 2524 ส่วนราคาน้ำมันก๊าดทะยานขึ้น 33.4% และน้ำมันเบนซินพุ่งขึ้น 22%

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ก.พ. 65)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top