สธ. เตือนภัยโควิดระดับ 4 ทั่วประเทศ หลังผู้ติดเชื้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย โดยคาดการณ์ว่าภายใน 1-2 สัปดาห์แนวโน้มจะยังคงตัวในระดับสูงอยู่ ทั้งนี้กว่า 90% ของผู้ติดเชื้อโควิดเป็นสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งจากข้อมูลในช่วงวันที่ 13-19 ก.พ. 65 ผู้ป่วยส่วนใหญ่ 53% ไม่มีอาการป่วย ส่วนอีก 47% มีอาการป่วยเล็กน้อย คือ เจ็บคอ ไอ และมีไข้ต่ำ

อย่างไรก็ตาม แม้ความรุนแรงของเชื้อโควิดจะลดลง แต่หากปล่อยให้มีการติดเชื้อมากขึ้น โอกาสในการนำเชื้อไปสู่ผู้สูงอายุ หรือกลุ่มเปราะบางที่มีโรคประจำตัว ก็มีโอกาสที่จะป่วยหนักมากขึ้น โดยกลุ่มที่พบการติดเชื้อมากที่สุด ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 18 ปีขึ้นไป หรือกลุ่มวัยเรียน วัยทำงาน ที่เริ่มมีการรวมตัวสังสรรค์ ผ่อนปรนมาตรการต่างๆ ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ หากประชาชนมีอาการ แม้จะเล็กน้อย หรือมีความเสี่ยง ขอให้ตรวจ Antigen Test Kit (ATK) และกักตัว เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อไปสู่กลุ่มเสี่ยง ในขณะเดียวกัน จากผลการศึกษาระบุว่า การฉีดวัคซีน 2 เข็มไม่เพียงพอต่อการป้องกันเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอน ดังนั้น หากประชาชนฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 มาเกิน 3 เดือนแล้ว ขอให้มารับวัคซีนเข็มที่ 3 เพื่อลดอาการป่วยหนัก และเสียชีวิต

“ไม่ว่าจะเป็นโควิดสายพันธุ์อะไร วิธีการป้องกันการติดเชื้อเหมือนกันหมด ใส่แมส ล้างมือ เว้นระยะห่าง แม้สายพันธุ์นี้จะมีความรุนแรงต่ำกว่าปีที่แล้ว แต่ไม่อยากให้มีการติดเชื้อเยอะๆ เพราะจะนำไปสู่กลุ่มเปราะบางได้ ดังนั้น ขอความร่วมมืองดการรวมกลุ่มสังสรรค์ให้มากขึ้น ด้านเตียง ยา วัคซีน เวชภัณฑ์ต่างๆ ขณะนี้มีเพียงพอรองรับทุกอย่าง”

 นพ.ธงชัย กล่าว

ด้าน นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค สธ. กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ในขณะนี้เป็นการเตือนภัยโควิด-19 ระดับ 4 โดยยกระดับจังหวัดเสี่ยงสูงเป็นทุกจังหวัด พร้อมขอความร่วมมืองดเข้าสถานที่เสี่ยง (เปิดเฉพาะที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต) เลี่ยงการรวมกลุ่ม ชะลอการเดินทางข้ามพื้นที่ และทำงานที่บ้าน (Work From Home: WFH) เนื่องจากผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (วันที่ 13-19 ก.พ. 65) พบการติดเชื้อกระจายไปทั่วประเทศแล้ว โดยอัตราการติดเชื้อต่อประชากร 1 แสนคน พบผู้ติดเชื้อเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 100 คน

ส่วนสถานการณ์โรคโควิด-19 ประเทศไทย พบผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยอาการหนัก ผู้ป่วยเสียชีวิต มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ปัจจัยเสี่ยงจากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อในครอบครัว และคนที่รู้จักขณะทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น กินอาหารร่วมกันกับเพื่อน เพื่อนร่วมงาน เพื่อนนักเรียน เล่นกีฬา รวมทั้งกิจกรรมงานบุญ งานศพ งานแต่ง โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนล่าง

สำหรับผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ ยังคงเป็นกลุ่ม 608 (ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง และสตรีมีครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป) ที่ไม่ใด้รับวัคซีน รวมทั้งที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มบูสเตอร์ โดยเฉพาะผู้ป่วยติดเตียง ให้เน้นตรวจคัดกรองหาเชื้อในกลุ่มผู้ดูแล รวมทั้งติดตามกำกับการใช้มาตรการ VUCA ในศูนย์ดูแลผู้สูงวัยอย่างเคร่งครัด

ทั้งนี้ ยังพบการระบาดลักษณะคลัสเตอร์ จากการรวมกลุ่มทำกิจกรรมต่างๆ เช่น งานศพ งานแต่ง งานบุญ ซึ่งขาดการกำกับมาตรการป้องกันโรคที่ดีของผู้จัดงาน หรือจัดกิจกรรม การระบาดในสถานที่ทำงาน ส่วนใหญ่มีปัจจัยเสี่ยงจากการที่มีบุคลากรติดเชื้อจากครอบครัว หรือชุมชน และแพร่โรคต่อให้เพื่อนร่วมงาน จากการไม่ระมัดระวังตัวขณะถอดหน้ากากรับประทานอาหาร และพูดคุยโดยไม่สวมหน้ากาก

ในขณะเดียวกัน ยังพบว่า ขาดมาตรการควบคุมกำกับ Universal Prevention (UP) โดยเจ้าของกิจการ พบในหน่วยงานราชการ สถานพยาบาล ร้านอาหาร ค่ายทหาร โรงงานพบการติดเชื้อในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ (Healthcare workers: HCW) โดยมีปัจจัยเสี่ยงทั้งจากชุมชน ครอบครัว และในสถานพยาบาล โดยเน้นให้ผู้บริหารสถานพยาบาลควบคุมกำกับงาน IC (ระบบควบคุมและป้องกันโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล) และมาตรการป้องกันโรค UP กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์อย่างเคร่งครัด

สำหรับการคาดการณ์ฉากทัศน์ของโรคโควิด-19 ในไตรมาส 1/65 ขณะนี้ผู้ติดเชื้อมีจำนวนมากขึ้น โดยเกินระดับกลางที่คาดการณ์ไว้แล้ว เนื่องจากประชาชนละเลยมาตรการ VUCA มากขึ้น ด้านจำนวนผู้เสียชีวิตก็เพิ่มขึ้นตามลำดับ แต่จำนวนผู้เสียชีวิตยังอยู่ในระดับต่ำกว่าการคาดการณ์ที่ต่ำที่สุดอยู่ เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งมีอาการน้อย

นพ.จักรรัฐ ได้กล่าวถึงโควิดสายพันธุ์โอมิครอนว่า จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 ไม่ต่างจากโอมิครอน BA.1 เรื่องอาการป่วยหนัก และอาการรุนแรง ทั้งนี้ มีรายงานว่าโควิดสายพันธุ์โอมิครอน BA.2 สามารถแพร่ระบาดได้เร็วกว่า BA.1 กว่า 1.4 เท่า อย่างไรก็ดี ขึ้นอยู่กับมาตรการของแต่ละประเทศ หากประชาชนในประเทศไทยสามารถปฎิบัติตามมาตรการต่างๆ และฉีดวัคซีนได้ครอบคลุม ก็จะสามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อไม่ให้เพิ่มมากขึ้นได้

ด้าน นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ สธ. กล่าวถึงสถานการณ์และการบริหารจัดการเตียงในกทม. ว่า จากวันที่ 21 ม.ค. 65 ถึงปัจจุบันผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาพยาบาลจากโรคโควิด-19 มีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ดี ยังมีเตียงในระบบรองรับเพียงพอ เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยอาการหนักยังอยู่ในระดับทรงตัว และการรักษาเน้นการรักษาระบบ Home Isolation (HI) และ Community Isolation (CI) เป็นลำดับแรก ยกเว้นผู้ป่วยที่มีภาวะเสี่ยง

สำหรับสถานการณ์เตียงทั่วประเทศขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 173,000 เตียง มีอัตราการครองเตียงอยู่ที่ประมาณ 50% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเตียงสีเขียว ดังนั้นถือว่ายังมีเตียงเพียงพอรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการหนัก ส่วนผู้ป่วยเด็กอายุมากกว่า 5 ปีขึ้นไป สามารถรักษาแบบ HI ได้ โดยประสานไปที่โทร. 1330

สำหรับความสามารถในการรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ของ HI ในกทม. สามารถรับผู้ป่วยรายใหม่ได้ถึง 5,540 คน/วัน ในขณะเดียวกัน CI มีทั้งหมด 31 แห่ง เตียง 3,981 เตียง มีการครองเตียง 2,065 เตียง นอกจากนี้อยู่ระหว่างเตรียมเปิด CI อีก 9 แห่ง รวม 970 เตียงด้วย

“ขอความร่วมมือประชาชน ดูแลป้องกันตนเอง ปฏิบัติตนตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุข รับการฉีดวัคซีน ตามระยะเวลาที่เหมาะสม ถ้ามีผล ATK เป็นบวกไม่จำเป็นต้องตรวจ RT-PCR ซ้ำ สามารถเข้าสู่ระบบการรักษา โทร 1330 ได้เลย”

 นพ.ณัฐพงศ์ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ก.พ. 65)

Tags: , , , , , ,
Back to Top