“หมอพร้อม Chatbot” เพิ่มฟังก์ชันให้ผู้ติดโควิดประเมินอาการ คัดกรองภาวะวิกฤต

นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนโควิด-19 กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น กระทรวงสาธารณสุขจึงพัฒนาฟังก์ชันการประเมินความเสี่ยงด้วยตนเองสำหรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 (Self-assessment) บนระบบ “หมอพร้อม Chatbot” เพื่อเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่จะช่วยคัดกรองผู้ที่มีผลการตรวจโควิด-19 เป็นบวก ให้ได้รับคำแนะนำในการเข้ารับการรักษาพยาบาลเบื้องต้นได้

ทั้งนี้ การประเมินดังกล่าวจะแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1. การประเมินตนเองเพื่อคัดกรองภาวะวิกฤต และ 2. การประเมินตนเองเพื่อคัดกรองความเร่งด่วน อย่างไรก็ดี เมื่อผู้ติดเชื้อทำแบบประเมินความเสี่ยงบน “หมอพร้อม Chatbot” ระบบจะวิเคราะห์ข้อมูลสุขภาพพื้นฐานของผู้ติดเชื้อ อาการ และความพร้อมในการรักษาตัวที่บ้าน ซึ่งอ้างอิงจากผลการศึกษาทางวิชาการของกรมการแพทย์ โดยสามารถประเมินให้ตนเองหรือบุคคลในครอบครัวที่ติดเชื้อได้ โดยเครื่องมือการประเมินมีค่าความแม่นยำ 85%

“ผลจากการประเมิน เป็นการให้คำแนะนำในเบื้องต้น ไม่ใช่การวินิจฉัยทางการแพทย์ หากประชาชนที่ติดเชื้อโควิด-19 มีอาการรุนแรง ขอให้เข้ารับการรักษาโดยเร่งด่วน และหากมีอาการนอกเหนือจากที่แบบประเมินกำหนด หรือมีข้อสงสัยเพิ่มเติมสามารถปรึกษาสถานพยาบาลใกล้บ้านได้ สำหรับช่องทางการประเมินความเสี่ยงบนหมอพร้อม Chatbot สามารถใช้งานได้แล้ววันนี้ ทั้ง LINE Official Account, แอปพลิเคชัน และช่องทางแชทบน Facebook Page ของหมอพร้อม” นพ.โสภณ กล่าว

ด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ตามระบบการรักษา หากติดเชื้อโควิด-19 กลุ่มสีเขียว คือ ไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อย จะเน้นการดูแลรักษาที่บ้านและชุมชนเป็นลำดับแรก (Home Isolation: HI/ Community Isolation: CI First) ซึ่งจะได้รับการติดตามอาการทุกวันจากบุคลากรทางการแพทย์ หากมีอาการเปลี่ยนแปลงจะได้รับการส่งต่อเข้ารักษาในโรงพยาบาลตามระบบ

สำหรับแบบประเมินความเสี่ยงด้วยตนเองสำหรับผู้ติดเชื้อผ่านระบบหมอพร้อม Chatbot จะเป็นอีกช่องทางและเครื่องมือในการช่วยประเมินอาการตนเอง เพื่อรับคำแนะนำการเข้ารับการดูแลรักษาเบื้องต้น โดยหมอพร้อม Chatbot จะมีเมนู “ติดโควิด คลิกที่นี่” จากนั้นระบบจะถามคำถาม เพื่อประเมินและคัดกรองภาวะวิกฤต ได้แก่ 1. มีปัญหาการหายใจ เช่น หายใจไม่ทัน หายใจเหนื่อยจนซี่โครงบาน หายใจเร็วกว่า 20 ครั้งต่อนาที หายใจมีเสียงดัง 2. อาการซึมลง ไม่รู้สึกตัว 3. อาการตัวซีด เย็น และ 4. อาการเหงื่อท่วมตัว หากมีอาการจะแนะนำว่าเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินให้ติดต่อ 1669 เพื่อเรียกรถพยาบาล หรือเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล

ทั้งนี้ หากไม่มีอาการดังกล่าว จะแนะนำให้ทำแบบประเมินคัดกรองความเสี่ยงต่ออาการรุนแรง ซึ่งจะมีการสอบถามช่วงอายุ น้ำหนัก ส่วนสูง โรคประจำตัว สอบถามอาการ เช่น ไอ เจ็บคอ ไข้มากกว่า 39 องศาเซลเซียส ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ หายใจลำบาก/ไม่อิ่ม จมูกไม่ได้กลิ่น ท้องเสีย และคลื่นไส้อาเจียน รวมถึงสอบถามว่าเป็นกลุ่มเปราะบางหรือไม่ เช่น ตั้งครรภ์ มีภาวะติดเตียง ประวัติโรคจิตเวช ซึ่งต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิด มีความพิการ และไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ จากนั้นระบบจะนำคำตอบทั้งหมดมาประเมินและให้คำแนะนำเบื้องต้น เช่น หากแนะนำการดูแลที่บ้าน จะระบุช่องทางติดต่อ 1330 รวมถึงให้คู่มือแนวทางการกักตัวที่บ้าน เป็นต้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ก.พ. 65)

Tags: , ,
Back to Top