BEM คาดรายได้ปี 65 ฟื้นกลับไปใกล้เคียงปี 63 หลังปริมาณจราจร-ผู้โดยสารดีขึ้น

นายธนาวัฒน์ วรรณดิษฐ์ ผู้จัดการอาวุโสนักลงทุนสัมพันธ์ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) เปิดเผยว่า บริษัทคาดว่ารายได้ในปี 65 น่าจะใกล้เคียงปี 63 ที่มีรายได้ 1.43 หมื่นล้านบาท จากปริมาณจราจรบนทางด่วนและจำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้ากลับมาดีขึ้น แม้จะยังคงมีสถานการณ์การระบาดโควิด-19 แต่รัฐบาลไม่ได้ใช้มาตรการล็อกดาวน์ ประกอบกับประชาชนมีการฉีดวัคซีนมากขึ้นแล้ว เชื่อว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจก็ค่อยๆ ทยอยเปิดมากขึ้น รวมถึงโรงเรียนก็เริ่มเปิดเรียน on site มากขึ้น

ทั้งนี้ ในเดือน ม.ค.65 ปริมาณจราจรบนทางทางด่วนขึ้นมาระดับ 9.4 แสนคัน ดีกว่าปีก่อนเฉลี่ยที่ 8.5 แสนคัน ซึ่งคาดว่าทั้งปีนี้น่าจะเพิ่มขึ้นมาแตะที่ 1 ล้านคัน กลับไปใกล้เคียงกับปี 63 ที่มีปริมาณจราจรเฉลี่ย 1.05 ล้านคัน

ส่วนจำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้า (Ridership) คาดว่าในปีนี้น่าจะกลับมาแตะดับ 2 แสนคน/วัน โดยในเดือน ม.ค.65 มีจำนวนผู้โดยสารที่ 1.74 แสนคน/วัน จากปีก่อนจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ย 1.5 แสนคน/วัน ขณะที่ปี 63 มี Ridership เฉลี่ย 2.6 แสนคน/วัน นอกจากนี้ ยังจะมีเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายอื่นที่กำลังจะเปิดเดินรถในปีนี้ ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลือง ซึ่งจะช่วยเพิ่มจำนวนผู้โดยสาร รวมถึงการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ตามเส้นทางรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นก็ช่วยหนุนจำนวนผู้โดยสารให้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย

อย่างไรก็ดี บริษัทมองว่าโอกาสที่รายได้จะดีกว่าปี 62 ที่มีรายได้ 1.5-1.6 หมื่นล้านบาทซึ่งยังไม่ได้เปิดส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน หากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 กลับสภาวะปกติเป็นโรคประจำถิ่น หลังจากรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขสามารถดูแลจัดการได้ เพราะปัจจุบัน BEM เดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินครบเป็นวงกลมพาดผ่านเส้นทางใจกลางเมือง (CBD) ในกรุงเทพเหมือนรถไฟฟ้าสายสีเขียว

“ปี 64 น่าจะเป็น Bottom ปีนี้น่าจะรีบาวด์กลับขึ้นมา สถานการณ์ดีขึ้น รายได้น่าจะมีตัวเลขใกล้เคียงปี 63”นายธนาวัฒน์ กล่าว

อนึ่ง ปี 64 BEM มีรายได้ 1.15 หมื่นล้านบาท กำไรสุทธิ 1,010 ล้านบาท ลดลงจากปี 63 เท่ากับ 20% และ 51% ตามลำดับ

นายธนาวัฒน์ กล่าวว่า บริษัทเตรียมเข้าลงทุนโครงการใหม่ที่เป็นโครงการของภาครัฐในลักษณะร่วมลงทุน โดยบริษัทมองว่าเป็น S-Curve ใหม่ของบริษัทที่จะหนุนการเติบโตของบริษัทในอนาคต ได้แก่ โครงการทางด่วน Double Deck หรือทางด่วนชั้นที่ 2 ช่วงประชาชื่น-อโศก ระยะทาง 14.7 กิโลเมตร มูลค่าการลงทุน 31,500 ล้านบาท ซึ่งการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) อยู่ระหว่างศึกษาโครงการและเตรียมทำรายการผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)

โครงการมอเตอร์เวย์ 3 เส้นทางที่มีส่วนเชื่อมต่อทางด่วนของบริษัท ได้แก่ โครงการมอเตอร์เวย์นครปฐม -ปากท่อ (M8) เฟสแรก ระยทาง 63 กิโลเมตร มูลค่า 51,760 ล้านบาท , โครงการมอเตอร์เวย์วงแหวนตะวันออก (บางขุนเทียน-บางบัวทอง) (M9) ระยะทาง 36 กิโลเมตร มูลค่าลงทุน 56,035 ล้านบาท และ โครงการมอเตอร์เวย์ศรีนครินทร์-สนามบินสุวรรณภูมิ (M7) ระยะทาง 19 กม. มูลค่า 29,500 ล้านบาท โดยคาดว่ากรมทางหลวงน่าจะออกประมูลในปี 66 ซึ่งรูปแบบการลงทุน PPP อาจเป็นแบบ Net Cost ที่ให้เอกชนก่อสร้างและบริหารโครงการ หรือเป็นแบบ Gross Cost ที่ให้เอกชนบริหารอย่างเดียว

นอกจากนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (มีนบุรี-บางขุนนนท์) คาดว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) คาดจะประมูล มี.ค.-เม.ย.65 ส่วนรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ขณะนี้ได้ผู้รับเหมางานโยธาแล้ว คาดว่าหลังจากนี้ รฟม.จะเจรจากับ BEM ในการบริหารการเดินรถ ซึ่งปัจจุบันบริษัทรับจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วง

“โครงการที่เข้าลงทุน จะเป็น S-Curve ใหม่ ทำให้บริษัทเติบโตแน่นอน แต่การทำโปรเจ็คต์ใหญ่ ยังไม่สามารถได้ Return เร็ว ซึ่งอย่างน้อย 10 ปี เพราะแต่ละโครงการใช้เงินลงทุน 3-4 หมื่นล้านบาท ดังนั้น หุ้น BEM เป็นหุ้น Long term”

นายธนาวัฒน์ กล่าวว่า ในปีนี้ก็ยังให้ความสำคัญกับการลดต้นทุนและค่าใช้จ่าย ส่วนการออกหุ้นกู้คาดว่าจะใช้รีไฟแนนซ์หุ้นกู้ที่จะครบกำหนดไถ่ถอน จำนวน 3 พันล้านบาทในเดือน พ.ค.และ ก.ย.65

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 มี.ค. 65)

Tags: , , , , , ,
Back to Top