ม.หอการค้าไทย เผยดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคก.พ.อยู่ที่ 43.3 จาก 44.8 ในม.ค.

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือนก.พ. 65 อยู่ที่ระดับ 43.3 จากเดือนม.ค.65 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 44.8

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 37.2, ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำ อยู่ที่ 40.0 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 52.6

สำหรับปัจจัยลบ ประกอบด้วย ประชาชนกังวลต่อการระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอน ที่แพร่ระบาดอย่างรวดเร็วไปทั่วประเทศ, ความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่เริ่มเข้ามาในช่วงปลายเดือนก.พ., ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวสูงขึ้น, ผู้บริโภคยังกังวลว่าเศรษฐกิจยังชะลอตัว รวมทั้งปัญหาค่าครองชีพสูงขึ้นจากราคาสินค้าที่อยู่ในระดับสูง, ความกังวลต่อสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ และเงินบาทปรับตัวแข็งค่าจากเดือนม.ค.

ขณะที่ปัจจัยบวก ได้แก่ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เผยอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ (GDP) ไตรมาส 4/64 ขยายตัวได้ 1.9% ส่งผลให้ทั้งปี 64 GDP ขยายตัวได้ 1.6% ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิมที่ 1.2% ขณะที่คาดว่า GDP ในปี 65 จะขยายตัวได้ 4%, คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับเดิมที่ 0.50%, รัฐบาลยังมีมาตรการเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและการบริโภคในประเทศ เช่น ช้อปดีมีคืน คนละครึ่ง, ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ผ่อนคลายมาตรการสำหรับผู้ที่เดินทางเข้าประเทศไทย, การฉีดวัคซีนป้องกันโควิดของทั่วโลกรวมทั้งไทยสามารถทำได้เพิ่มมากขึ้น และราคาพืชผลเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนก.พ.65 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และเป็นการลดลงต่ำสุดในรอบ 5 เดือน ตั้งแต่ ต.ค.64 เป็นต้นมา

โดยผู้บริโภคเริ่มมีความวิตกกังวลมากเกี่ยวกับสถานการณ์โควิดสายพันธุ์โอมิครอนในประเทศไทยที่มีการระบาดอย่างรวดเร็ว จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงปัจจัยลบใหม่ในช่วงปลายเดือน ก.พ.คือ สถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ซึ่งส่งผลให้หลายประเทศมีการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจกับรัสเซียมากขึ้น และอาจมีภาวะสงครามยืดเยื้อและบานปลาย

จากสถานการณ์ดังกล่าว อาจส่งผลให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นลดน้อยถดลงและระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก ส่งผลทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้า รวมทั้งค่าขนส่งปรับตัวสูงขึ้น และเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากภาวะสงคราม ซึ่งต้องติดตามว่าจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจไทยมากน้อยเพียงไรและยาวนานเพียงใด ทั้งนี้ อาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยปีนี้ ชะลอตัวลงต่ำกว่าเป้าหมายที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ระดับ 3.5-4.5%

“การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวม ยังคงเคลื่อนไหวคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 100 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังคงฟื้นตัวช้าจากวิกฤตโควิด-19 ในประเทศไทย และทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมีปัญหาสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนเข้ามาซ้ำเติม ยิ่งส่งผลกระทบทางจิตวิทยาในเชิงลบอย่างมากต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก ธุรกิจโดยทั่วไป และการจ้างงานในอนาคต โดยยังคงมีโอกาสบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตได้อย่างต่อเนื่องในระยะอันใกล้นี้” นายธนวรรธน์ ระบุ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 มี.ค. 65)

Tags: , ,
Back to Top