กอนช. ประเมินสถานการณ์แล้งนี้ไม่น่าห่วง มีปริมาณน้ำใช้เพียงพอถึงเข้าหน้าฝน

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า จากการติดตามการดำเนินการของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้ 9 มาตรการรองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2564/2565 ตามข้อสั่งการของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ กอนช. พบว่า ปัจจุบันยังไม่มีการประกาศพื้นที่เขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ (ภัยแล้ง)

ขณะเดียวกันจากมาตรการเร่งกักเก็บน้ำและบริหารจัดการน้ำในกิจกรรมต่างๆ ตามแผนการใช้น้ำตั้งแต่ฤดูแล้งที่ผ่านมา ล่าสุดปริมาณน้ำต้นทุนของแหล่งเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ทั้ง 35 แห่งในปีนี้ยังมีปริมาณน้ำใช้การมากกว่าช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมาเกือบ 10,200 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) โดยปัจจุบันเหลือปริมาณน้ำที่ใช้การอยู่ที่ 24,059 ล้าน ลบ.ม. หรือ 51% ของปริมาณน้ำที่ใช้การ ส่วนผลการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งยังเป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ และจะมีน้ำเพียงพอสำหรับใช้ไปจนสิ้นสุดฤดูแล้งและใช้ในช่วงต้นฤดูฝนด้วย ทั้งนี้คาดว่า ณ วันที่ 1 พ.ค.65 จะมีปริมาณน้ำต้นทุนรวมกันอยู่ที่ 42,165 ล้าน ลบ.ม. หรือ 59% ของความจุกักเก็บ

อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ภาพรวมทั้งประเทศจะดีกว่าปีที่ผ่านมา แต่ปริมาณน้ำต้นทุนใน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยาก็ยังมีอยู่อย่างจำกัด คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และขณะนี้ได้จัดสรรน้ำไปมากกว่าแผนสะสมอยู่ 427 ล้าน ลบ.ม. แต่จากมาตรการที่ สทนช.หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการน้ำ โดยเฉพาะการส่งน้ำเพื่อการเกษตรให้จัดส่งน้ำตามรอบเวร ใช้แหล่งน้ำสำรองในพื้นที่ รวมถึงขอความร่วมมือจากกระทรวงมหาดไทยในการควบคุมดูแลการลำเลียงน้ำให้สอคคล้องกับแผนการส่งน้ำของกรมชลประทาน

นอกจากนี้ยังได้จัดสรรน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองมาสนับสนุนลุ่มน้ำเจ้าพระยา-ท่าจีนอีก 1,000 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันจัดสรรมาแล้ว 209 ล้าน ลบ.ม.ก็คาดว่าจะสามารถสงวนน้ำต้นทุน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยาไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบได้ตลอดแล้งนี้ ขณะที่มีปริมาณน้ำเพียงพอที่จะใช้ในทุกกิจกรรมการใช้น้ำช่วงต้นฤดูฝนด้วยเช่นกัน

“ภาพรวมของการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งอาจจะมากกว่าแผนที่วางไว้ โดยเฉพาะการทำนารอบที่ 2 (ข้าวนาปรัง) ไม่ได้รับความเสียหายจากการขาดแคลนน้ำ เนื่องจากมีการวางแผนบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ ประกอบกับเกษตรกรส่วนหนึ่งมีแหล่งน้ำต้นทุนเป็นของตนเอง และปีนี้มีพายุฝนฤดูร้อนเกิดขึ้นอีกด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ภาครัฐยังคงต้องขอความร่วมมือเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้ว ควรงดการทำนาปรังรอบที่ 3 เพราะมีความเสี่ยงสูงที่ผลผลิตจะได้รับความเสียหายจากการขาดแคลนน้ำได้” นายสุรสีห์ กล่าว

เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า สำหรับน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคที่รองนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกนั้น จากการติดตามผลการปฏิบัติงานพบว่า ในพื้นที่ที่การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) รับผิดชอบยังไม่พบสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ พร้อมทั้งเตรียมป้องกันและแก้ไขปัญหาเพื่อลดความเสี่ยงจากการขาดแคลนน้ำไว้ล่วงหน้า เช่น การติดตั้งเครื่องสูบน้ำระยะไกลและวางท่อส่งน้ำดิบสูบน้ำชั่วคราวจากแหล่งน้ำสำรอง การต่อท่อสูบน้ำ การซื้อน้ำดิบจากเอกชน การใช้รถบรรทุกน้ำ เป็นต้น

ส่วนพื้นที่นอกเขต กปภ.พบว่า ในพื้นที่หมู่ที่ 5 ต.พลกรัง อ.เมือง จ.นครราชสีมา มีน้ำไม่เพียงพอ ซึ่งได้ให้การช่วยเหลือด้วยการสูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำลำตะคองผ่านคลองชลประทานก่อนที่จะสูบน้ำเข้าสระบึงเอื้อย ซึ่งเป็นแหล่งน้ำต้นทุนที่ใช้ในพื้นที่ดังกล่าว

ขณะที่คุณภาพน้ำในช่วงฤดูแล้งปีนี้ สถานการณ์ความเค็มใน 4 แม่น้ำสายหลัก ณ สถานีตรวจวัดปากคลองดำเนินสะดวก แม่น้ำแม่กลอง สถานีตรวจวัดปากคลองจินดา แม่น้ำท่าจีน สถานีตรวจวัดบ้านสร้าง แม่น้ำบางปะกง และสถานีตรวจวัดสูบน้ำสำแล แม่น้ำเจ้าพระยา ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยกรมชลประทานได้มีการเตรียมความพร้อมรับมือค่าความเค็มช่วงน้ำทะเลหนุนสูงตลอดช่วงเดือน มี.ค.นี้ โดยเพิ่มการระบายน้ำเพื่อผลักดันน้ำเค็มให้สอดคล้องกับช่วงน้ำทะเลหนุนสูง ซึ่ง กอนช.ยังคงติดตามสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงตลอดฤดูแล้งนี้ เพื่อบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์และไม่กระทบต่อคุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก โดย สทนช.จะรายงานผลความก้าวหน้า 9 มาตรการรับมือฤดูแล้งเข้าสู่ที่ประชุมคณะอนุกรรมการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในวันที่ 11 มี.ค.นี้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 มี.ค. 65)

Tags: , ,
Back to Top