“เยลเลน” ขานรับทำเนียบขาวระดมหน่วยงานรัฐเร่งศึกษาผลกระทบคริปโทฯ

นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐได้กล่าวชื่นชมทำเนียบขาวที่เตรียมออกคำสั่งฝ่ายบริหารเพื่อกำหนดให้หน่วยงานของรัฐบาลเร่งทำการศึกษาข้อดีของการใช้สกุลเงินคริปโทเคอร์เรนซี รวมทั้งข้อเสียที่อาจจะมีต่อผู้บริโภคและระบบการเงินเป็นวงกว้าง

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานก่อนหน้านี้ว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เตรียมลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารที่เกี่ยวกับกลยุทธ์ของรัฐบาลสหรัฐทางด้านสกุลเงินคริปโทฯ ในสัปดาห์นี้ โดยคาดว่าปธน.ไบเดนจะสั่งการให้กระทรวงยุติธรรม, กระทรวงการคลัง และหน่วยงานอื่น ๆ ของสหรัฐ ทำการศึกษาความเป็นไปได้ที่จะมีการเปลี่ยนแปลงข้อกฎหมาย รวมทั้งผลกระทบด้านความมั่นคงของชาติ และทางเศรษฐกิจที่เกิดจากสกุลเงินดิจิทัล

ทั้งนี้ นางเยลเลนเปิดเผยในแถลงการณ์บนเว็บไซต์ของกระทรวงการคลังว่า คำสั่งดังกล่าวจะระบุถึงประโยชน์ด้านนวัตกรรมของคริปโทฯ และในขณะเดียวกันก็จะระบุถึงการรับมือกับความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการเงินที่ผิดหมาย, การคุ้มครองผู้บริโภคและนักลงทุน และการป้องกันภัยคุกคามที่อาจจะเกิดขึ้นกับระบบการเงินและเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง

แถลงการณ์ของนางเยลเลนยังระบุด้วยว่า กระทรวงการคลังสหรัฐจะให้ความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อรวบรวมรายงานเกี่ยวกับระบบการเงินและการชำระเงินในอนาคต ขณะเดียวกันกระทรวงการคลังจะจัดการประชุมหารือร่วมกับสภากำกับดูแลเสถียรภาพทางการเงิน (FSOC) เพื่อประเมินความเสี่ยงที่มีต่อเสถียรภาพการเงิน และประเมินว่าควรใช้มาตรการป้องกันหรือไม่ นอกจากนี้ ทางกระทรวงจะร่วมมือกับพันธมิตรในต่างประเทศเพื่อส่งเสริมการเพิ่มมาตรฐานและยกระดับตลาดการลงทุนในสกุลเงินคริปโทฯ

ด้านธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กำลังจัดทำประชาพิจารณ์เพื่อรับความคิดเห็นของสาธารณชนเกี่ยวกับสกุลเงินคริปโทฯ จนถึงวันที่ 20 พ.ค.ปีนี้ หลังจากที่เฟดได้ออกรายงานการศึกษาเกี่ยวกับข้อดีและข้อเสียของสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (CBDC) โดยเฟดระบุว่าสกุลเงิน CBDC จะช่วยเสริมสถานะของดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินหลักของโลก และช่วยให้การชำระบัญชีข้ามประเทศมีความรวดเร็วมากขึ้น

อย่างไรก็ดี เฟดระบุถึงข้อเสียของสกุลเงินดิจิทัล โดยระบุว่าสกุลเงิน CBDC อาจจะทำให้เกิดการไหลออกของเม็ดเงินฝากในธนาคารพาณิชย์ รวมทั้งความกังวลเกี่ยวประสิทธิภาพของนโยบายการเงิน นอกจากนี้ การปกป้องความเป็นส่วนตัว และการรับมือกับการเงินที่ผิดกฎหมายก็ถือเป็นอีกประเด็นที่ต้องได้รับการแก้ไข

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 มี.ค. 65)

Tags: , , , , , ,
Back to Top