ดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรมก.พ.อยู่ที่ 86.7 ปรับลงครั้งแรกในรอบ 6 เดือน

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนก.พ. 65 อยู่ที่ระดับ 86.7 จากระดับ 88.0 ในเดือนม.ค. 65 โดยด่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลงครั้งแรกในรอบ 6 เดือน โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ปรับตัวลดลงทุกรายการทั้งคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

โดยมีปัจจัยกดดัน ประกอบด้วย

  • การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน มีจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
  • ภาครัฐยกระดับการเตือนภัยโควิด-19 จากระดับ 3 เป็นระดับ 4 ทั่งประเทศ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัว
  • ต้นทุนการผลิตปรับตัวสูงขึ้นจากราคาวัตถุดิบและราคาพลังงานตามทิศทางราคาตลาดโลก รวมถึงต้นทุนค่าขนส่งสินค้าและการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่า Ft)
  • ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน กระทบราคาสินค้านำเข้า
  • ปัญหา Supply Disruption ยังไม่คลี่คลาย
  • ปัญหาข้อพิพาทระหว่างรัสเซียและยูเครน ส่งผลให้เศรษฐกิจการค้าโลกมีความไม่แน่นอน

ขณะที่ปัจจัยหนุนมีเพียง มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐผ่านโครงการ “คนละครึ่ง” เฟส 4 และการเพิ่มวงเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชน

สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 97.1 จากระดับ 96.4 ในเดือนม.ค. เนื่องจากสถานการณ์ระบาดไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนในประเทศไม่รุนแรงเหมือนช่วงก่อนหน้า กิจกรรทางเศรษฐกิจสามารถดำเนินการต่อไปได้, ภาคการผลิตทั่วโลกยังคงขยายตัว ส่งผลดีต่อภาคการส่งออกของไทย และการผ่อนคลายมาตรการเดินทางเข้าประเทศตามนโยบาย Test&Go ช่วยเอื้อต่อการเดินทางเข้าประเทศของนักท่องเที่ยวและช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป

ประธาน ส.อ.ท. ยังมีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ดังนี้

  1. เตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุข เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน อาทิ การสำรองยาให้เพียงพอ บริหารจัดการเตียงรองรับผู้ป่วยวิกฤต สนับสนุนยาและสิ่งของจำเป็นในการกักตัว Home Isolation เพิ่มจำนวนโรงพยาบาลสนาม/ศูนย์พักคอย และการแจกชุดตรวจ ATK ให้กับกลุ่มเสี่ยง
  2. ยกเลิกมาตรการ Test&Go โดยให้ผู้เดินทางเข้าประเทศแสดงวัคซีนพาสปอร์ตแทนก่อนเข้าประเทศ พร้อมทั้งจัดให้มีระบบตรวจติดตามผู้เดินทางเข้าประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ และเสริมสร้างบรรยากาศด้านการท่องเที่ยวของไทย
  3. ออกมาตรการดูแลราคาพลังงาน อาทิ การตรึงราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ราคาก๊าซ และการคงค่าไฟฟ้าผันแปร (FT) เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตของภาคอุตสาหกรรม
  4. ขอให้จัดตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างภาครัฐ-เอกชน เพื่อติดตามและประเมินสถานการณ์วิกฤตรัสเซีย-ยูเครน รวมทั้งหามาตรการบรรเทาผลกระทบให้แก่ผู้ประกอบการด้านการค้า และประชาสัมพันธ์ข้อมูล เพื่อให้ภาคเอกชนนำไปวางแผนการค้าหรือแสวงหาโอกาสทางค้าในตลาดที่มีศักยภาพ

นายสุพันธุ์ ยังเสนอด้วยว่า ผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่มีต่อไทยนั้น จะเห็นได้ว่ามีทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังนั้นจึงต้องดูว่าจะสามารถสร้างโอกาสในวิกฤตินี้ได้อย่างไร ซึ่งแนวทางหนึ่งคือ การดึงคนยุโรปให้เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งในแง่หนึ่งจะทำให้คนยุโรปสามารถบรรเทาการใช้พลังงานในประเทศที่มีราคาสูงอยู่ในขณะนี้ลงได้

“เป็นโอกาสที่เราจะดึงนักท่องเที่ยวยุโรปเข้ามา เราจึงพยายามขอให้ยกเลิกมาตรการ Test&Go ถ้ายกเลิกได้ กิจกรรมต่างๆ จะดำเนินไปด้วยดี…เราตั้งเป้านักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้ไว้ที่ 5-6 ล้านคน ถ้ายกเลิก Test&Go เป้านี้จะถึงแน่นอน หรือดีไม่ดีอาจจะมากกว่านี้ เท่ากับว่าจะมีคนมาใช้จ่ายในประเทศเราเพิ่มอีก 6-7 ล้านคน ซึ่งล้วนแต่เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพด้วย เพราะวิกฤตแบบนี้ คนที่เดินทางมาได้ ล้วนแต่เป็นคนที่มีศักยภาพ ดังนั้น ตรงนี้จะเป็นโอกาสของเรา” ประธาน ส.อ.ท.ระบุ

นอกจากนี้ ยังเห็นว่าต้องทำวิกฤตให้เป็นโอกาสอีกเรื่อง คือ ดึงการลงทุนเข้ามาในประเทศให้มากขึ้น เพราะในสถานการณ์เช่นนี้ อาจทำให้มีหลายประเทศมีการย้ายฐานการลงทุนมากขึ้น ซึ่งจะทำให้โอกาสที่จะดึงต่างชาติเข้ามาลงทุนในภูมิภาคก็จะง่ายขึ้น รวมถึงการใช้โอกาสจากการค้าชายแดนที่กำลังขยายตัวมากขึ้น โดยเฉพาะลาว เวียดนาม และจีน

“ตอนนี้อุปสงค์ยังมี เราต้องพยายามเชื่อมโยงให้มากขึ้น ทำให้คล่องตัวมากขึ้น ทั้งระบบโลจิสติกส์ ระบบ custom กฎระเบียบ กลไกต่างๆ ต้องผลักดันให้เติบโตมากขึ้น รวมถึงการทำ FTA กับ EU ก็เป็นโอกาสที่จะทำสินค้าจากไทยเข้าไปทดแทน หรือขยายตลาดได้มากขึ้น เหล่านี้เป็นโอกาสที่จะสร้างรายได้เพิ่มให้กับประเทศ ท่ามกลางหลายสถานการณ์ลบที่มีอยู่ตอนนี้ เราก็ต้องหาทางบวกช่วยเสริม” นายสุพันธุ์ ระบุ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 มี.ค. 65)

Tags: , ,
Back to Top