นายกฯ ห่วงรัสเซีย-ยูเครนยืดเยื้อดันราคาอาหารสัตว์,ปุ๋ยแพง สั่งพาณิชย์-เกษตรฯ ดูแล

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ห่วงสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ได้ส่งผลต่อระบบการค้าโลกแล้ว โดยราคาน้ำมัน สินค้าโภคภัณฑ์ และสินแร่ที่มีการซื้อขายระหว่างประเทศพุ่งสูงขึ้นในระยะเวลาอันรวดเร็ว และหากสถานการณ์ยังคงยืดเยื้อ จะยิ่งทำให้การค้าโลกมีข้อจำกัดมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะปุ๋ย และวัตถุดิบอาหารสัตว์ อาทิ ข้าวสาลี และข้าวโพด จะมีราคาเพิ่มขึ้นอีก เพราะรัสเซียและยูเครนเป็นแหล่งผลิตที่สำคัญ ขณะที่ประเทศไทยยังต้องนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์และปุ๋ยจากต่างประเทศเป็นหลัก ประกอบกับราคาน้ำมันซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญในการขนส่งสินค้าปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ปุ๋ยในประเทศมีราคาแพงตั้งแต่ช่วงปลายปี 64 ถึงปี 65

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้กำชับทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหา ทั้งติดตามระดับราคาอาหารสัตว์และปุ๋ยให้ขึ้น-ลงสอดคล้องกับสัดส่วนต้นทุนที่แท้จริง ไม่ให้มีการกักตุน ฉวยโอกาสขึ้นราคา ขณะเดียวกันก็ให้เร่งกระจายการนำเข้าวัตถุดิบในการผลิตปุ๋ยและอาหารสัตว์จากแหล่งนำเข้าอื่นๆ เพิ่มเติม รวมทั้งใช้มาตรการอื่นในการอำนวยความสะดวกและแก้ไขปัญหา ลดอุปสรรคการผลิต การนำเข้า เพื่อลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการและเกษตรกรด้วย

ทั้งนี้ ปุ๋ยเคมี และอาหารสัตว์ เป็นสินค้าควบคุมตามพ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ หากจะมีการปรับราคา กระทรวงพาณิชย์จะต้องพิจารณาคำร้องของผู้ประกอบการก่อน ซึ่งขณะนี้ กระทรวงพาณิชน์แจ้งว่ายังไม่มีรายใดทำเรื่องขอปรับราคาอย่างเป็นทางการ

โดยในปี 2564 ไทยนำเข้าปุ๋ยเคมีจาก 45 ประเทศ ปริมาณ 5,520,883 ตัน คิดเป็นมูลค่า 70,103 ล้านบาท โดย 5 ประเทศที่ไทยนำเข้าปุ๋ยเคมีมากที่สุด ได้แก่

  1. จีน นำเข้า 1.25 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 16,997 ล้านบาท สัดส่วน 22.75%
  2. ซาอุดีอาระเบีย นำเข้า 8.4 แสนตัน คิดเป็นมูลค่า 10,707 ล้านบาท สัดส่วน 15.3 %
  3. รัสเซีย นำเข้า 4.4 แสนตัน คิดเป็นมูลค่า 5,604 ล้านบาท สัดส่วน 8.06%
  4. โอมาน นำเข้า 3.6 แสนตัน คิดเป็นมูลค่า 4,381 ล้านบาท สัดส่วน 6.64%
  5. เกาหลีใต้ นำเข้า 3.3 แสนตัน คิดเป็นมูลค่า 3,417 สัดส่วน 6.14%

นายธนกร กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้เตรียมมาตรการและแนวทางรับมือผลกระทบตั้งแต่มีความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ก่อนที่จะพัฒนาเป็นวิฤกตสงคราม และนำเข้าหารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มาเป็นระยะ หากเรื่องใดที่อยู่ในอำนาจหรือกฎหมายที่รัฐบาลสามารถผ่อนผันได้ก็เร่งดำเนินการทันที เช่น กระทรวงการคลังใช้มาตรการทางภาษี ลดภาษีสรรพสามิต กระทรวงพลังงาน ดูแลราคาพลังงาน ตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาท/ลิตร กระทรวงพาณิชย์ กำกับราคาเนี้อสัตว์และอาหาร สินค้าจำเป็น เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม หากภาวะสงครามยุติเร็ว คาดว่าราคาสินค้าและน้ำมันจะกลับเข้าสู่กลไกตลาด แต่หากสถานการณ์ยืดเยื้อ รัฐบาลได้เตรียมมาตรการอื่นๆ ไว้แล้ว เพื่อบรรเทาภาระเกษตรกร ผู้ประกอบการ และประชาชนให้มากที่สุดด้วย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 มี.ค. 65)

Tags: , , , , , ,
Back to Top