เพื่อไทย หนุนเร่งพิจารณาก.ม.ลูกวาระ 2-3 ห่วงอุบัติเหตุการเมือง

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ระบุว่า จะพิจารณาร่างกฎหมายให้แล้วเสร็จในเดือน เม.ย.นี้เพื่อนำเข้าสู่สภาฯ นั้นว่า การพิจารณาร่างกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับจำเป็นต้องเสร็จโดยเร็ว เพราะเป็นกติกาหลักของประเทศ หากมีเหตุการณ์อะไรขึ้นจะได้ขับเคลื่อนต่อไปได้ ไม่เป็นเงื่อนไขหรือเดดล็อก

กมธ.ควรทำงานให้แล้วเสร็จอย่างน้อยก่อนวันที่ 10 เม.ย. โดยมีเวลาประชุมเพื่อพิจารณาฉบับละ 8 ครั้ง รวมทั้งหมด 16 ครั้ง บางประเด็นในร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญพรรคการเมือง ทั้งหมด 13 มาตราที่ถกเถียงกันไม่มากก็จะเสร็จเร็วอาจจะทดเวลามาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งได้ทั้งหมด 31 มาตรา ถ้า กมธ.ทำแล้วเสร็จเดือน เม.ย.ก็จะต้องเปิดประชุมสภาฯ สมัยวิสามัญ เพื่อพิจารณาในวาระ 2 และวาระ 3

ส่วนวิธีการคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อในร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. นพ.ชลน่าน กล่าวว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 91 เขียนไว้ชัดเจนว่า วิธีการคำนวณหา ส.ส.บัญชีรายชื่อ จะคำนวณอย่างไร โดยให้นำคะแนนจาก ส.ส.บัญชีรายชื่อทั้งประเทศมารวมกันหารด้วย 100 ส่วนการคำนวณสัดส่วนของแต่ละพรรคการเมืองเป็นสัดส่วนสัมพันธ์โดยตรง จึงไม่มีประเด็นว่าต้องเอา 500 มาเป็นตัวตั้งอีก หรือคำว่าพึงมีที่เราเพิ่งแก้ใหม่

“ส่วนจะทำให้เสียงจะตกน้ำหรือไม่ มันก็เป็นเจตนารมณ์เดิม เมื่อรัฐธรรมนูญถูกแก้ไขเจตนารมณ์นี้ต้องเปลี่ยนไป โดยเป็นการคำนวณที่แยกบัญชีไป ไม่ได้เกี่ยวว่าตกน้ำ ไม่ตกน้ำ ถามกลับสมัยบัตรเลือกตั้งใบเดียวพรรคเพื่อไทยเสียงตกน้ำไปเท่าไหร่ ซึ่งกติกาทุกกติกาเรายอมรับ เมื่อเปลี่ยนแล้วต้องเป็นไปตามกติกาใหม่ และการเปลี่ยนกลับมาใช้วิธีการนี้ก็มีตั้งแต่ปี 2554 ซึ่งรัฐธรรมนูญและร่าง พ.ร.ป.เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ก็ไม่ต่างกับปี 2554”

นพ.ชลน่าน กล่าว

ส่วนการยื่นญัตติการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลตามรัฐธรรมนูญมาตรา 151 นั้นต้องรอเปิดสมัยประชุมในเดือนพ.ค.นี้ก่อน เพราะต้องดูว่าหากมีกฎหมายสำคัญเข้าที่ประชุมต้องทำเรื่องนั้นก่อน สถานการณ์การเมืองขณะนี้แล้วแต่ว่าใครจะประเมินอย่างไร โดยอาจจะเกิดเหตุการณ์ก่อน พ.ค.หรือรัฐบาลอาจจะอยู่จนครบวาระ แต่ฝ่ายค้านยืนยันจะทำหน้าที่จนถึงที่สุด และหากรัฐบาลไม่มีความพร้อมและไม่สามารถแก้ปัญหาให้ประชาชนได้ก็ไม่ควรเป็นรัฐบาลต่อไป

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 มี.ค. 65)

Tags: , , , ,
Back to Top