คนร.ทบทวนบทบาทรัฐวิสาหกิจ เพิ่มการสร้างรายได้-ดูแลประชาชนให้ได้มากขึ้น

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวภายหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ว่า ที่ประชุมได้รับทราบรายงานผลงานปฏิบัติงานประจำปีที่มีทั้งรายได้ดีในระดับดีขึ้นมาก ดีขึ้นเล็กน้อย แต่บางหน่วยงานก็ยังขาดทุน ซึ่งเป็นเรื่องของการให้บริการประชาชนในหน้าที่ของรัฐวิสาหกิจที่มีอยู่ 50 กว่าแห่ง โดยกำลังทบทวนบทบาทว่าจะทำอย่างไรให้สามารถมีรายได้เพิ่มขึ้น และต้องดูแลประชาชนให้ได้มากขึ้นด้วย

“วันนี้ได้สอบถามไปหลายอย่าง เช่น เรื่องการจัดหาหัวรถจักร และรถเมล์ใหม่ ซึ่งตอนนี้ก็ทยอยเข้ามาแล้ว คาดว่าภายในปีนี้ จะมีทั้งหัวรถจักร และรถขนส่งมวลชนรุ่นใหม่เข้ามาเสริม ทั้งนี้ เป็นปัญหาเรื่องงบประมาณที่เราต้องใช้ในการจัดหา ก็พยายามจะเร่งรัด เพื่อดูแลประชาชนทุกภาคส่วน”

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ด้านนางปานทิพย์ ศรีพิมล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวว่า ที่ประชุม คนร. ได้พิจารณาการจัดทำแผนพัฒนารัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2566-2570 (แผนพัฒนารัฐวิสาหกิจฯ) ที่สามารถตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติและพลิกโฉมประเทศไทยสู่ความยั่งยืน โดยให้มีการกำหนดกรอบทิศทางหลักในการพัฒนารัฐวิสาหกิจแต่ละแห่ง เพื่อนำ 13 หมุดหมายตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 และแผนพัฒนาประเทศด้านต่างๆ ไปสู่การปฏิบัติให้บรรลุเป้าหมายของประเทศได้

โดยแผนดังกล่าว จะมีนโยบายที่จะขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model) และสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมทั้งการปรับรูปแบบธุรกิจ (Business Model) ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและสามารถสนองต่อวิถีชีวิตถัดไป (Next Normal) ภายหลังเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรน่า 2019 และการสร้างความมั่นคงในด้านการค้า การลงทุน การผลิต และการเกษตรของประเทศรองรับ จากผลกระทบต่างๆ จากสถานการณ์ในต่างประเทศ นอกจากนี้ให้สนับสนุน SME และมีการบูรณาการทำงานร่วมกันของรัฐวิสาหกิจ หน่วยงานภาครัฐอื่น และเอกชนมากยิ่งขึ้น

ที่ประชุมยังได้ติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหาองค์กรของรัฐวิสาหกิจทั้ง 6 แห่ง โดยมีความคืบหน้าในการดำเนินงานตามลำดับ เช่น บมจ.อสมท (MCOT) ได้ดำเนินการตามแผนพลิกฟื้นธุรกิจระยะสั้น ประจำปี 2564 ทำให้มีกำไรจากที่มีผลขาดทุนในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่ง คนร.ได้กำชับให้มีการดำเนินการตามแผนให้เห็นผลเป็นรูปธรรม ทั้งในเรื่องทางการเงินและการให้บริการประชาชนที่ดีขึ้น เช่น บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) ให้เร่งพัฒนาและบริหารจัดการระบบ 5G และดาวเทียมไทยคม ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เร่งการจัดหารถเพื่อให้สามารถบริการประชาชนได้ดีขึ้น เป็นต้น

นอกจากนี้ จากการประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจในปี 2563 และ 2564 รัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่มีผลการประเมินที่ดีขึ้น โดย คนร.ได้มีนโยบายให้รัฐวิสาหกิจปรับตัว เตรียมการ และกำหนดแนวทางการบริหารจัดการให้ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งในด้านการรองรับ Next Normal การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี และการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ รวมทั้งให้มีการแก้ปัญหาต่างๆ ที่มีมาตั้งแต่อดีตให้สำเร็จ และดูแลผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 และภาวะวิกฤติต่างๆ ในปัจจุบัน เช่น การเพิ่มขึ้นของราคาเชื้อเพลิงและวัตถุดิบต่างๆ ที่ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 มี.ค. 65)

Tags: , , , ,
Back to Top