สคฝ. เปิดตัว “DPA พร้อม” พร้อมคุ้มครอง-เข้าถึง-เคียงข้างผู้ฝากเงิน

นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) หรือ DPA เปิดเผยว่า DPA ได้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ Digital DPA ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ด้วยการวางโครงข่ายการเชื่อมต่อระบบปฏิบัติการต่างๆ เข้าด้วยกัน ให้สามารถปฏิบัติภารกิจในการคุ้มครองผู้ฝากเงินได้อย่างรวดเร็ว ผสานนวัตกรรม และเทคโนโลยีเข้ากับการดำเนินงาน รองรับพฤติกรรมผู้ฝากในโลกยุคปัจจุบันและอนาคต โดยนำเสนอผ่านแคมเปญสื่อสาร “DPA พร้อม” พร้อมคุ้มครอง พร้อมเข้าถึง พร้อมเคียงข้าง เพื่อตอกย้ำพันธกิจและการเตรียมความพร้อมของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก โดยประกอบด้วย 3 ความพร้อม ดังนี้

1. พร้อมคุ้มครอง

– “ระบบ” พร้อม ด้วยการวางโครงข่ายระบบดิจิทัล เทคโนโลยี และระบบปฏิบัติการ อีกทั้งยังมีการจำลองสถานการณ์ทดสอบระบบ (Simulation) กระบวนการจ่ายคืน รูปแบบการสื่อสารกับผู้ฝาก รวมถึงการทดสอบระบบร่วมกับหน่วยงานในตาข่ายความมั่นคงทางการเงิน เช่น กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อเตรียมความพร้อมการจ่ายคืนผู้ฝากอย่างรวดเร็ว ถูกต้อง แม่นยำ จึงทำให้มั่นใจได้ว่าทุกขั้นตอนจะไม่สะดุดในวันที่ต้องเจอกับภาวะวิกฤต

– “คน” พร้อม โดยผ่านการซักซ้อมอยู่เสมอเพื่อให้ระบบพร้อมใช้งาน และคนพร้อมปฏิบัติหน้าที่ ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกการเงินและเศรษฐกิจ เสริมทักษะ ความรู้ผ่านโปรแกรมแลกเปลี่ยน ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับระบบคุ้มครองเงินฝาก อย่างธนาคารแห่งประเทศไทย และกรมบังคับคดี เพื่อให้ได้รับประสบการณ์ตรงจากผู้เชี่ยวชาญ มาพัฒนากระบวนการทำงานให้สามารถช่วยเหลือประชาชนผู้ฝากได้ดียิ่งขึ้น

– “กองทุนคุ้มครอง” พร้อม สร้างความเข้าใจเรื่องเงินที่นำมาใช้คุ้มครองผู้ฝาก ซึ่ง DPA เก็บเงินนำส่งจากสถาบันการเงินที่ได้รับความคุ้มครองเพื่อสะสมไว้ในกองทุนคุ้มครองเงินฝาก ที่ 0.01% มีมูลค่ากองทุนในปัจจุบัน 134,456 ล้านบาท โดยไม่ต้องใช้เงินภาษีของประชาชนมาจ่ายคืนให้แก่ผู้ฝาก

-“ประชาชน” พร้อม เป็นการเตรียมประชาชนให้พร้อมรับการคุ้มครองอย่างเข้าใจและเชื่อมั่น โดยประชาชนผู้ฝากทุกคนก็เตรียมความพร้อมได้ โดยการอัพเดทข้อมูลของตัวผู้ฝากเอง ให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ โดยเฉพาะที่อยู่ และหมายเลขโทรศัพท์มือถือที่สามารถติดต่อได้ กับสถาบันการเงินที่มีบัญชีเงินฝาก และผูก Prompt Pay กับหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน ซึ่งจะช่วยให้ผู้ฝากได้รับการคุ้มครองสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น

2. พร้อมเข้าถึง นอกจากช่องทางการสื่อสารที่หลากหลาย สอดคล้องกับชีวิตยุคใหม่ เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายครอบคลุมแต่ละเจนเนอเรชัน ผ่านช่องทางต่างๆ ของสถาบันคุ้มครองเงินฝากแล้ว DPA ยังมีข้อมูลความรู้เรื่องการคุ้มครองเงินฝาก ข้อมูลอัพเดทสถาบันการเงินและผลิตภัณฑ์ทางการเงิน และความรู้ด้านการเงินอื่นๆ ให้ผู้ฝากทุกคนเข้าถึงได้อย่างสะดวก

3. พร้อมเคียงข้างประชาชนในทุกจังหวะชีวิต เพราะโจทย์ทางการเงินในช่วงชีวิตของแต่ละคนอาจเปลี่ยนไป และปัจจุบันผลิตภัณฑ์ทางการเงินมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว DPA จึงพร้อมรับความท้าทายใหม่ๆ ในโลกการเงินมีการศึกษาข้อมูล ผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ รวมถึงการทำงานเชิงรุกร่วมกับหน่วยงานในตาข่ายความมั่นคงทางการเงินอย่างใกล้ชิด เพื่อเคียงข้างประชาชนผู้ฝากเงิน

อย่างไรก็ดี การสร้างความเข้าใจให้ประชาชนมีความรู้เกี่ยวกับระบบคุ้มครองเงินฝาก และความรู้ทางการเงินพื้นฐานเป็นสิ่งสำคัญ เพราะสิ่งเหล่านี้คือภูมิคุ้มกัน ที่จะช่วยลดความตื่นตระหนกให้กับประชาชน หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดสถาบันการเงินถูกเพิกถอนใบอนุญาตหรือปิดกิจการ

นอกจากนี้ DPA ได้พัฒนาเครื่องมือที่จะให้บริการประชาชนโดยเฉพาะระบบเทคโนโลยี เพื่อรองรับการปฏิบัติงานด้านการจ่ายคืนผู้ฝากและการชำระบัญชี อีกทั้งมีการเชื่อมต่อระบบการสื่อสารเป็น Omni Channel เพื่อรวมศูนย์ข้อมูลให้สามารถตรวจสอบข้อมูล ตอบข้อซักถาม ช่วยเหลือประชาชนผู้ฝากได้สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย

นายทรงพล กล่าวถึงการเติบโตของเงินฝากที่ได้รับความคุ้มครองเมื่อสิ้นปี 64 ว่า มีจำนวน 15.592 ล้านล้านบาท เติบโต 4.39% ในขณะที่ปี 63 ซึ่งเป็นปีที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างหนัก มีอัตราการขยายตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญที่ 10.12% สาเหตุเกิดจากความวิตกกังวลที่มีต่อสถานการณ์วิกฤตโรคระบาด และสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี ในปี 2564 นี้ ทั้งจำนวนเงินฝากและจำนวนผู้ฝากมีการเพิ่มขึ้นทั้งสองส่วน โดยส่วนใหญ่เป็นเงินฝากไม่เกิน 1 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีสัดส่วนผู้ฝากที่ได้รับการคุ้มครองเต็มจำนวนกว่า 98% ครอบคลุมสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้ความคุ้มครองทั้ง 34 แห่ง

“DPA คุ้มครองผู้ฝากในกรณีที่สถาบันทางการเงินถูกปิดกิจการ ซึ่งเป็นการคุ้มครองโดยอัตโนมัติ แบบไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์ภายใน 30 วัน ประชาชนก็จะได้รับเงินคืนจาก DPA ในวงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาท” นายทรงพล กล่าว

นายทรงพล กล่าวถึงเรื่องการฝากเงิน และการลงทุนว่า ทั้งสองอย่างนั้นต้องทำควบคู่กันไป การฝากเงินมีความปลอดภัย แต่การลงทุนที่ถึงแม้จะมีความเสี่ยง แต่มีโอกาสได้ผลตอบแทนที่สูงกว่าดอกเบี้ย อย่างไรก็ตาม ในช่วงสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน ประชาชนก็ควรรัดเข็มขัดในการใช้จ่ายด้วย เนื่องจากประเทศไทยต้องประสบปัญหาเรื่องหนี้ครัวเรือน และเงินเฟ้ออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

“วิกฤติเงินเฟ้อที่สูงขึ้นเรื่อยๆ จะส่งผลให้มีการปรับวงเงินมากกว่า 1 ล้านบาทหรือไม่นั้น ทาง DPA ได้มีการทบทวนวงเงินการคุ้มครองเงินฝากในทุกๆ ปี ซึ่งขณะนี้วงเงิน 1 ล้านบาท ยังคงครอบคลุมเงินฝากของประชาชน 90% ที่เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งถือว่ายังเพียงพออยู่” นายทรงพล กล่าว

อย่างไรก็ดี ในส่วนของการขยายความคุ้มครองไปสู่ผลิตภัณฑ์เงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) ขณะนี้ DPA ยังอยู่ระหว่างทำการศึกษาเบื้องต้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 มี.ค. 65)

Tags: , , ,
Back to Top