ปธ.สภา ชี้ปชช.ขาดความเชื่อมั่นกระบวนการยุติธรรม เหตุกม.ล้าสมัย-เอื้อประโยชน์เฉพาะกลุ่ม

นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร บรรยายในหัวข้อ “สภาพปัญหาของกระบวนการยุติธรรมไทยกับมุมมองของนักการเมืองต่อกระบวนการยุติธรรมไทย” ว่า กระบวนการยุติธรรมของไทยประสบกับปัญหาสำคัญหลายประการ ทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรม ทั้งเรื่องกฎหมายบางฉบับที่ล้าสมัยและไม่สอดคล้องกับสภาพของสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงไป การใช้อำนาจในการออกกฎหมายที่เอื้อประโยชน์ต่อคนเฉพาะกลุ่ม และปัญหาด้านการทุจริตคอร์รัปชั่นที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับคนส่วนใหญ่ในสังคม ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างรวดเร็ว เป็นธรรม และทั่วถึง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นการผลักดันให้เกิดการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปทางด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม

โดยหลักสำคัญที่ต้องยึดเป็นหลักในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ของประชาชน คือ หลักธรรมาภิบาล 6 ประการ ซึ่งสภาพปัญหาของกระบวนการยุติธรรมไทยสามารถจำแนกได้ดังต่อไปนี้ 1.ปัญหาเกี่ยวกับระบบการบริหารงานยุติธรรม 2.ปัญหาเกี่ยวกับระบบการดำเนินคดีอาญา 3.ปัญหาเกี่ยวกับระบบการปฏิบัติต่อผู้กระทำความผิด 4.ปัญหาที่เกิดจากการปฏิบัติโดยไม่ชอบธรรมจากบุคคลในกระบวนการยุติธรรม 5.กระบวนการยุติธรรมขาดการมีส่วนร่วมและการสนับสนุนจากประชาชน 6.กระบวนการยุติธรรมขาดองค์ความรู้และศักยภาพในการพัฒนา และ 7.บุคลากรในกระบวนการยุติธรรมขาดจิตสำนึกและขาดทัศนคติที่ดีในการให้บริการความยุติธรรมแก่ประชาชน

การนำหลักธรรมาภิบาลมาใช้จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานได้ อีกทั้งยังเป็นกลไกในการควบคุมติดตามและตรวจสอบ โดยมีประชาชนหรือองค์กรภายนอกเข้ามามีส่วนร่วม ประกอบกับการยึดหลักคุณธรรม คือการยึดถือและเชื่อมั่นในความถูกต้องดีงาม มีความซื่อสัตย์สุจริต และมีระเบียบวินัย ซึ่งผู้บริหารและข้าราชการทั้งฝ่ายการเมืองและข้าราชการประจำต้องตั้งใจปฏิบัติภารกิจตามหน้าที่ โดยให้ความสำคัญกับผู้รับบริการหรือประชาชน

นอกจากนี้ต้องทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่ประชาชนมีส่วนร่วมรับรู้ และร่วมเสนอความเห็นในการตัดสินใจเรื่องสำคัญของสังคม ฉะนั้นจึงต้องปรับวิธีคิดโดยให้ทุกฝ่ายบูรณาการการทำงานร่วมกัน และนำหลักธรรมาภิบาลมาใช้เพื่อให้งานบรรลุผลสำเร็จ รวมทั้งส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนและประชาสังคมในกระบวนการยุติธรรมมากขึ้น ส่งเสริมให้ประชาชนได้มีโอกาสรับรู้ข้อมูลข่าวสารและผู้ที่มีส่วนเข้ามาเกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม ตลอดจนการรณรงค์ให้ประชาชนรู้สิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย และตระหนักถึงความสำคัญของกระบวนการยุติธรรมในฐานะเป็นกลไกหลักในการผดุงไว้ ซึ่งหลักนิติธรรมอย่างจริงจัง

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 มี.ค. 65)

Tags: ,
Back to Top