รมว.พาณิชย์ ปลื้มส่งออกไก่ไทยตู้ปฐมฤกษ์ไปซาอุฯ คาดภาพรวมทั้งปี 9.8 แสนตัน

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า วันนี้ถือเป็นวันประวัติศาสตร์อีกวันหนึ่งของการส่งออกสินค้าไทยไปซาอุดีอาระเบีย โดยเฉพาะไก่ ซึ่งเป็นสินค้าเป้าหมายที่มีความสำคัญหลังจากที่ไทยขาดโอกาสไปตลอด 18 ปีที่ผ่านมา ซึ่งภายหลังจากไทยได้ฟื้นความสัมพันธ์ทางการค้ากับซาอุดิอาระเบีย ตนได้สั่งการให้ทูตพาณิชย์ ทูตเกษตร ประสานงานกับกระทรวงการต่างประเทศ เจรจากับทางการซาอุฯ จนคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม ซาอุดิอาระเบียตรวจโรงงานและให้การรับรองแล้ว 11 โรงงาน ที่ได้คุณภาพมาตรฐานที่จะส่งออกไก่ไปซาอุฯ ซึ่งล่าสุด องค์การอาหารและยาของซาอุดิอาระเบีย (SFDA) ได้ประกาศผ่านเว็บไซต์เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2565 ให้ไทยสามารถส่งออกไก่ไปซาอุดิอาระเบียได้

“ที่ผ่านมา ซาอุดิอาระเบียนำเข้าไก่ 75% จากประเทศบราซิล 25% จากยูเครนและฝรั่งเศส จากนี้ไป คิดว่าไก่จากประเทศไทยจะเป็นตลาดสำคัญที่ซาอุดิอาระเบียได้ในอนาคต โดยปี 64 ไทยส่งออกไก่ไปทั่วโลกประมาณ 900,000 ตัน นำเงินเข้าประเทศประมาณ 100,000 ล้านบาท และปี 65 ตั้งเป้าว่าจะทำได้ 980,000 ตัน การส่งออกไก่ไปซาอุฯ ถือเป็นการเพิ่มมูลค่าการส่งออกและเพิ่มตัวเลขการส่งออกไก่ของไทยด้วย” นายจุรินทร์ กล่าว

พร้อมแสดงความยินดีกับซีพีเอฟ ซึ่งเป็นโรงงานแรกที่ได้ส่งออกไก่ไทยไปซาอุฯ ตู้ปฐมฤกษ์ หลังจากที่ขาดหายไป 18 ปี โดยปัจจุบัน ซาอุดิอาระเบียนำเข้าผลิตภัณฑ์ไก่จากทั่วโลกเฉลี่ยปีละ 6.5 แสนตัน โดย 70% เป็นการนำเข้าไก่สดทั้งตัวและ 30% เป็นการนำเข้าไก่ชำแหละและไก่แปรรูป ผู้บริโภคซาอุดิอาระเบียมีอัตราการบริโภคเนื้อไก่ 45 กิโลกรัมต่อคนต่อปี หรือทั้งประเทศที่ 1.5 ล้านตันต่อปี

ด้านนายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บมจ. เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) กล่าวว่า ตามที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ และนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้ผลักดันประสานงานกับรัฐบาลซาอุฯ จนกระทั่งประสบความสำเร็จให้การรับรองอนุมัติให้นำเข้าไก่จากประเทศไทยเป็นครั้งแรกในรอบ 18 ปี โดยมีโรงงานของ CPF ได้รับการรับรองจำนวน 5 โรงงาน ตองขอขอบคุณกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องที่ให้ความร่วมมือช่วยประสานงานกับประเทศซาอุดิอาระเบียจนสามารถส่งออกไก่ของไทยไปซาอุฯ ได้สำเร็จ ซึ่งเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการส่งออกไก่ในประเทศไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน

นายประสิทธิ์ คาดว่า ในเดือนนี้จะส่งออกได้ 600 ตัน มูลค่า 47 ล้านบาท และภายในสิ้นปีจะส่งออกได้ 300 ตู้ ปริมาณ 6,000 ตัน มูลค่า 400-500 ล้านบาท และคาดว่าจะสามารถทำได้ถึง 60,000 ตัน ภายใน 5 ปี หรือคิดเป็นมูลค่า 4,200 ล้านบาท ทั้งไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและไก่แปรรูปที่ผ่านกระบวนการมาตรฐานสากลอย่างเคร่งครัดตามหลักศาสนาอิสลาม ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 มี.ค. 65)

Tags: , , , , ,
Back to Top