In Focus: กลเกมการเมืองไบเดนทำสัมพันธ์มะกัน-ซาอุฯ ร้าวยากผสาน

ไฟสงครามยูเครนได้ฉายชัดความสัมพันธ์ร้าวลึกระหว่างสหรัฐและซาอุดีอาระเบียภายใต้คณะบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดนแห่งสหรัฐ เมื่อผีเสื้อขยับปีกย่อมก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมเป็นวงกว้าง ทันทีที่รัสเซียเปิดฉากปฏิบัติการทหารในยูเครน สหรัฐและบรรดาชาติพันธมิตรพร้อมใจงัดมาตรการคว่ำบาตรออกมาลงโทษรัสเซีย รวมถึงห้ามการนำเข้าน้ำมันจากแดนหมีขาว ส่งผลให้ราคาน้ำมันพุ่งทะยานขึ้นไม่หยุด จนกระทบปากท้องและค่าครองชีพของประชาชนทุกหย่อมหญ้า สหรัฐถึงกับนั่งไม่ติดต้องบากหน้าไปขอร้องให้ซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) 2 ยักษ์ใหญ่ด้านน้ำมันเพิ่มการผลิตเข้าสู่ท้องตลาด

โทรไปไม่รับสักที …. ปธน.ไบเดนรีบต่อสายตรงหวังโน้มน้าวให้ซาอุดีอาระเบียและ UAE เพิ่มการผลิตน้ำมัน เพื่อสกัดการพุ่งขึ้นของราคาพลังงาน ทว่าสำนักข่าววอลล์สตรีท เจอร์นัลรายงานว่า เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบียและมกุฎราชกุมารชีก โมฮัมเหม็ด บิน ซาเยด อัล นาห์ยาน แห่งอาบูดาบีต่างทรงปฏิเสธที่จะรับสายจากปธน.ไบเดนในเดือนนี้ แต่ทางทำเนียบขาวออกมาปฏิเสธข่าวดังกล่าว และสหรัฐยังย้ำถึงความสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับซาอุดีอาระเบียและ UAE

คล้อยหลังเพียงไม่กี่วัน นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสันแห่งอังกฤษ ลูกคู่ที่ประกาศห้ามนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียพร้อมกับสหรัฐได้ฝ่ากระแสวิพากษ์วิจารณ์ด้านสิทธิมนุษยชน เหตุซาอุดีอาระเบียเพิ่งประหารนักโทษรวดเดียว 81 ราย รุดไปเข้าเฝ้ามกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบียในกรุงริยาดและมกุฎราชกุมารแห่งอาบูดาบีในกรุงอาบูดาบี โดยหวังโน้มน้าวให้ทั้ง 2 พระองค์ทรงพระทัยอ่อน ทว่าต้องกลับบ้านมือเปล่า เท่านี้ยังไม่พอ เพราะมีรายงานว่า ซาอุดีอาระเบียได้สั่งประหารนักโทษเพิ่มอีก 3 รายขณะที่ผู้นำอังกฤษเยือนกรุงริยาดด้วย

…Simply, I do not care. “ง่าย ๆ เลย เราไม่สน” นี่คือพระราชกระแสของมกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย ผู้ปกครองซาอุดีอาระเบียโดยพฤตินัยที่ให้สัมภาษณ์กับนิตยสารดิ แอตแลนติกเมื่อช่วงต้นเดือนนี้ เมื่อทรงได้รับคำถามว่า ปธน.ไบเดนเข้าใจผิดในตัวพระองค์หรือไม่ ปมสังหารจามาล คาชอกกี นักข่าวชาวซาอุดีอาระเบีย

ย้อนไปในปี 2562 ปธน.ไบเดนประกาศว่า สหรัฐจะให้บทเรียนกับบรรดาจอมเผด็จการทั้งหลายผ่านการลงโทษซาอุดีอาระเบีย “เราจะให้พวกเขาชดใช้ และทำให้กลายเป็นพวกนอกคอก” ทันทีที่ก้าวขึ้นสู่อำนาจ ปธน.ไบเดนก็ได้เริ่มสานต่อคำมั่นของเขา แต่คนคำนวณ มิสู้ฟ้าลิขิต… รัสเซียตัดสินใจยกพลบุกโจมตียูเครนแบบสายฟ้าแลบ ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานและดันเงินเฟ้อพุ่งขึ้น ซึ่งเสี่ยงสั่นคลอนผลงานพรรคเดโมแครตของปธน.ไบเดนในศึกเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐในเดือนพ.ย.ปีนี้

ปฐมบทความสัมพันธ์คู่ทุกข์คู่ยาก

ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและซาอุดีอาระเบียนั้นก่อตัวขึ้นนับตั้งแต่ปี 2488 โดยตั้งอยู่บนผลประโยชน์ส่วนตน ซาอุดีอาระเบียช่วยจัดหาน้ำมันให้กับสหรัฐและชาติพันธมิตรตะวันตก และสร้างเสถียรภาพให้กับราคาพลังงานโลก ขณะที่สหรัฐสร้างฐานทัพในประเทศอ่าวอาหรับและเป็นพันธมิตรด้านความมั่นคงอันดับหนึ่งในตะวันออกกลางของซาอุดีอาระเบีย อีกทั้งยังเป็นพันธมิตรทางเศรษฐกิจรายสำคัญ

ทว่าสายสัมพันธ์ระหว่าง 2 ฝ่ายส่อเค้าจืดจางตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา ดั่งวิหคสิ้นเกาทัณฑ์ซ่อน เมื่อหมดประโยชน์ย่อมถึงเวลาแยกจาก ฉะนั้นเมื่อสหรัฐพึ่งพาตนเองในด้านน้ำมันได้มากขึ้นและการแทรกแซงทางทหารของสหรัฐในตะวันออกกลาง รวมถึงอิรักและอัฟกานิสถานมีความคุ้มค่าน้อยลงเมื่อเทียบกับในอดีต สหรัฐก็เริ่มหันกลับมาประเมินพันธสัญญาทางทหารในภูมิภาคดังกล่าวอีกครั้ง

ยิ่งไปกว่านั้นความตึงเครียดที่ทวีความร้อนแรงขึ้นในตะวันออกกลางระหว่างขั้วมุสลิมนิกายชีอะห์อันนำโดยอิหร่านและขั้วมุสลิมนิกายสุหนี่ที่นำโดยซาอุดีอาระเบีย ทำให้ซาอุดีอาระเบียและพันธมิตรต่างวิตกว่าไม่อาจพึ่งพาให้สหรัฐปกป้องตนเองได้ โดยความกังวลทวีความรุนแรงขึ้นเมื่อคณะบริหารของอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามาแห่งสหรัฐได้ลงนามข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่านในปี 2558 เหตุเพราะเหล่าพันธมิตรในอ่าวอาหรับของสหรัฐและอิสราเอลเชื่อว่า ข้อตกลงดังกล่าวไม่เพียงแต่ไม่หยุดยั้งโครงการนิวเคลียร์อิหร่าน แต่ยังสร้างภัยคุกคามให้กับฝ่ายตนและทำให้ตะวันออกกลางไร้เสถียรภาพ

จุดเปลี่ยนเมื่อโดนัลด์ ทรัมป์ผงาด

แต่สถานการณ์เปลี่ยนไป หลังโดนัลด์ ทรัมป์ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ โดยเขาได้เลือกเดินทางเยือนซาอุดีอาระเบียและอิสราเอลเป็นที่แรก พร้อมประกาศพันธสัญญาของสหรัฐในการปกป้องทั้ง 2 ประเทศจากการรุกรานของอิหร่าน รวมถึงการที่อิหร่านสนับสนุนกลุ่มกบฏฮูตีซึ่งต่อต้านซาอุดีอาระเบียในเยเมน และสนับสนุนกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ที่ต่อต้านอิสราเอลในเลบานอน จากนั้นก็สั่งถอนสหรัฐออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน ตามมาด้วยการออกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจเพื่อสร้างแรงกดดันขั้นสูงสุดต่ออิหร่าน หวังกดดันให้อิหร่านเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม

ในขณะเดียวกัน ทรัมป์และเจ้าหน้าที่นโยบายต่างประเทศของเขาได้ส่งเสริมให้อิสราเอลและประเทศอ่าวอาหรับยกระดับความสัมพันธ์ด้านข่าวกรองและการทหารภายใต้ความพยายามในการจัดตั้งกลุ่มระดับภูมิภาคเพื่อควบคุมอิหร่าน ซึ่งนำไปสู่การลงนามในข้อตกลงอับราฮัมระหว่างอิสราเอล, UAE และบาห์เรนในเดือนส.ค.ปี 2563

แตกแยกมานานก็จักรวมสมาน รวมสมานมานานก็จักแตกแยก

แต่ยุทธศาสตร์นี้มีอันต้องแปรเปลี่ยนอีกครั้งเมื่อปธน.ไบเดนเข้ามาบริหารประเทศ โดยหนึ่งในนโยบายต่างประเทศอันดับแรก ๆ ของเขาคือยุติการสนับสนุนซาอุดีอาระเบียในการทำสงครามกับกบฏฮูตีในเยเมนและถอดกลุ่มกบฏฮูตีออกจากบัญชีผู้ก่อการร้าย ขณะเดียวกันทางฟากฝั่งของกบฏฮูตีก็ได้เดินหน้าถล่มแหล่งผลิตน้ำมันและเมืองต่าง ๆ ของซาอุดีอาระเบียและ UAE ด้วยโดรนและขีปนาวุธอย่างต่อเนื่อง

ยิ่งไปกว่านั้น ปธน.ไบเดนได้ประกาศว่าจะรักษาระยะห่างระหว่างสหรัฐกับซาอุดีอาระเบีย และเปลี่ยนให้ซาอุดีอาระเบียกลายเป็นรัฐนอกคอก ซึ่งสะท้อนคำมั่นของเขาเรื่องการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน โดยคณะบริหารของเขาได้เผยแพร่รายงานข่าวกรองที่บ่งชี้ว่า มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบียเป็นผู้บงการสังหารโหดนายจามาล คาชอกกีในสถานกงสุลซาอุดีอาระเบีย ณ นครอิสตันบูลเมื่อปี 2561 แต่พระองค์ปฏิเสธ

นอกไปจากนี้ คณะบริหารของปธน.ไบเดนยังยืนกรานที่จะพลิกฟื้นข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่าน และยกเลิกบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตร โดยซาอุดีอาระเบียและอิสราเอลมองว่า ความเคลื่อนไหวนี้จะเปิดทางให้อิหร่านเข้าถึงแหล่งเงินมหาศาลเพื่อนำมาใช้ในสงครามตัวแทนในภูมิภาค

ศัตรูของศัตรูคือมิตร

สหรัฐได้เปลี่ยนความสนใจจากตะวันออกกลางมายังเอเชียตะวันออกและจีน ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ซาอุดีอาระเบียและพันธมิตรอ่าวอาหรับจะเริ่มสูญเสียศรัทธาต่อคณะบริหารของปธน.ไบเดน พวกเขายังไม่พร้อมสนับสนุนประธานาธิบดีที่มองว่าตนเป็น “คนนอกคอก” อีกทั้งวางแผนปลดเปลื้องแรงกดดันทางทหารและเศรษฐกิจต่ออิหร่าน ซึ่งเป็นศัตรูตัวฉกาจของตน

ก่อนหน้านี้ ซาอุดีอาระเบียและ UAE ยืนกรานปฏิเสธที่จะเพิ่มการผลิตน้ำมันและร่วมกดดันรัสเซียตามความประสงค์ของสหรัฐ โดยล่าสุด UAE ยังยืนยันว่ารัสเซียต้องเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตรหรือโอเปกพลัสต่อไป ส่วนซาอุดีอาระเบียยืนกรานไม่เลือกข้างในประเด็นรัสเซีย พร้อมวอนอย่าดึงน้ำมันมาเป็นเครื่องต่อรองทางการเมือง

ในขณะที่ความสัมพันธ์ของซาอุดีอาระเบียกับสหรัฐถดถอยแตะจุดต่ำสุด ซาอุดีอาระเบียก็ได้เดินหน้ากระชับความสัมพันธ์กับจีน หนึ่งในชาติมหาอำนาจโลกและผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของซาอุดีอาระเบีย ซึ่งซื้อน้ำมัน 1 ใน 4 ของซาอุดีอาระเบียและยังไม่วิพากษ์วิจารณ์จีนเกี่ยวกับนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนเช่นเดียวกับรัสเซีย

ทั้งนี้ ซาอุดีอาระเบียเล็งขายน้ำมันให้จีนด้วยเงินหยวน แทนดอลลาร์สหรัฐ โดยนับตั้งแต่บรรลุข้อตกลงกับสหรัฐในปี 2517 ซาอุดีอาระเบียต้องรับชำระค่าน้ำมันจากลูกค้าทั้งหมดเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ การหันมาใช้เงินหยวนแทนดอลลาร์ในการขายน้ำมันจะกลายเป็นชัยชนะครั้งใหญ่สำหรับจีน ซึ่งพยายามส่งเสริมให้เงินหยวนกลายเป็นเงินตราระดับโลกมาโดยตลอด กรณีดังกล่าวจะท้าทายสถานะของดอลลาร์ในฐานะเงินสำรองระหว่างประเทศและอาจจูงใจให้ประเทศอื่น ๆ ชำระเงินค่าน้ำมันผ่านสกุลเงินของตนเองอีกด้วย โดยในระยะยาว การลดถือเงินดอลลาร์จะทำให้ค่าเงินดังกล่าวลดลง และบั่นทอนอำนาจของระบบการเงินสหรัฐ

แม้ซาอุดีอาระเบียอาจตระหนักได้ว่า จีนไม่อาจเข้ามาแทนที่สหรัฐในฐานะพันธมิตรด้านความมั่นคงรายสำคัญ แต่ก็เหมือนกับรัฐบาลประเทศอื่น ๆ ในตะวันออกกลาง ซาอุดีอาระเบียไม่มั่นใจว่าสหรัฐจะเต็มใจมีบทบาทสำคัญในด้านความมั่นคงในภูมิภาคเช่นในอดีต ในขณะที่สหรัฐมองว่าจีนและรัสเซียเป็นภัยคุกคามหลักต่อความมั่นคงของชาติ อิหร่านก็ถือเป็นภัยคุกคามสำคัญในสายตาซาอุดีอาระเบียเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ ประธานาธิบดีบาชาร์ อัลอัสซาดแห่งซีเรียยังได้เดินทางเยือน UAE พร้อมเข้าเฝ้ามกุฎราชกุมารแห่งอาบูดาบีในช่วงกลางเดือนนี้ ซึ่งเป็นการเดินทางเยือนอ่าวอาหรับครั้งแรกนับตั้งแต่สงครามซีเรียเปิดฉากขึ้นในปี 2554 นับเป็นการเดินเกมเปลี่ยนขั้วพันธมิตรครั้งใหญ่ท่ามกลางภาวะสั่นคลอนด้านความมั่นคงในอ่าวอาหรับ เนื่องจากครั้งหนึ่ง UAE และซาอุดีอาระเบียเคยเป็นพันธมิตรสำคัญของสหรัฐที่ร่วมหนุนหลังฝ่ายกบฏในซีเรียเพื่อหวังโค่นอำนาจเขา แน่นอนว่ากรณีดังกล่าวได้สร้างความไม่พอใจให้กับสหรัฐ แต่ก็ทำอะไรไม่ได้

ไม่มีมิตรแท้และศัตรูที่ถาวร

ซาอุดีอาระเบียและ UAE ถูกมองว่าพยายามใช้น้ำมันเป็นเครื่องต่อรองในการผลักดันให้สหรัฐยกระดับการสนับสนุนด้านความมั่นคง อันรวมไปถึงการแบ่งปันข่าวกรองและการช่วยต่อต้านภัยคุกคามจากกบฏฮูตีในเยเมน โดยล่าสุด ซาอุดีอาระเบียได้ออกมาเตือนว่า ซาอุดีอาระเบียไม่มีส่วนรับผิดชอบสำหรับภาวะขาดแคลนน้ำมันดิบทั่วโลก หลังกบฏฮูตีโจมตีแหล่งผลิตน้ำมันในประเทศ ซึ่งถือเป็นการส่งข้อความถึงสหรัฐว่าต้องการความช่วยเหลือด้านการป้องกันตนเอง

แหล่งข่าวได้ออกมาเปิดเผยว่าซาอุดีอาระเบียจะเต็มใจร่วมมือกับสหรัฐมากขึ้น หากปธน.ไบเดนยื่นมือเข้ามาจัดการกับข้อวิตกกังวลด้านความมั่นคงของตน โดยเฉพาะประเด็นอิหร่านและกลุ่มกบฏฮูตีที่อิหร่านให้การหนุนหลังในเยเมน โดยที่ผ่านมานั้น ซาอุดีอาระเบียและ UAE คอยช่วยเพิ่มผลผลิตน้ำมันเพื่อสร้างความสงบให้กับตลาดเสมอ แม้เป็นช่วงที่ไม่พอใจต่อนโยบายของสหรัฐ เช่น การเพิ่มอุปทานอย่างมากในช่วงต้นปี 2546 ซึ่งเป็นช่วงที่สหรัฐเตรียมโค่นอำนาจซัดดัม ฮุสเซน อดีตผู้นำอิรัก

เหล่ารัฐมนตรีประเทศสมาชิกโอเปกพลัสมีกำหนดจัดการประชุมประจำเดือนในวันพฤหัสบดีที่ 31 มี.ค.นี้ เพื่อตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายการผลิตน้ำมันระยะต่อไป โดยมีแนวโน้มว่าโอเปกพลัสจะเพิ่มการผลิตเพียงเล็กน้อยตามข้อตกลงเดิมเท่านั้น โดยโอเปกพลัสได้ผนึกกำลังกันลดผลผลิตครั้งประวัติศาสตร์ในเดือนเม.ย.ปี 2563 เพื่อรักษาอุตสาหกรรมน้ำมันท่ามกลางวิกฤตโรคระบาด และเริ่มกลับมาทยอยเพิ่มผลผลิตเดือนละ 400,000 บาร์เรลต่อวันนับตั้งแต่เดือนส.ค.ปีที่ผ่านมา

นักวิเคราะห์บางรายคาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันอาจพุ่งสู่ระดับ 200 -250 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในปีนี้ เนื่องจากรัสเซียอาจหยุดส่งน้ำมันเข้าสู่ยุโรปหลังรุกรานยูเครน ซึ่งจะนำไปสู่การพลิกโฉมของตลาดพลังงาน แม้ราคาน้ำมันเริ่มชะลอตัวลงในช่วงนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากความกังวลเรื่องภาวะอุปสงค์ชะลอตัว หลังจีนล็อกดาวน์นครเซี่ยงไฮ้เพื่อสกัดการระบาดของโรคโควิด-19 แต่นักวิเคราะห์ชี้ว่า ปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลกระทบในช่วงสั้น ๆ เท่านั้น

ตอนนี้ภาระหนักตกอยู่ในมือของปธน.ไบเดนว่า จะตัดสินใจเดินหน้านโยบายตีตัวออกหากจากตะวันออกกลางต่อไป หรือจะยอมประนีประนอมและให้ความสำคัญกับการลดปัญหาราคาพลังงานและเงินเฟ้อสูงเพื่อที่จะดึงคะแนนเสียงจากชาวอเมริกันกลับมา เพราะตอนนี้ไบเดนมีการเลือกตั้งกลางเทอมในสหรัฐเป็นเดิมพัน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 มี.ค. 65)

Tags: , , , ,
Back to Top