ก.ล.ต.เจาะพฤติกรรมพบ GenX-GenY นิยมลงทุนผ่านกองทุนรวม-ผู้ลงทุนตจว.เพิ่ม

นายอรัณย์ พริ้งเพริศ ฝ่ายวิจัย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวถึงภาพรวมผู้ลงทุนและมิติการเข้าถึงการลงทุนกองทุนรวมว่า การเข้าใจบทบาทและพฤติกรรมของผู้ลงทุนซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดแนวทางการส่งเสริมความรู้ทางการเงินและการลงทุนให้กับผู้ลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นแนวทางการขยายฐานผู้ลงทุนในอนาคต

ฝ่ายวิจัย ก.ล.ต. จึงได้ศึกษาพฤติกรรมการลงทุนผ่านกองทุนรวม โดยใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ของการถือครองหน่วยลงทุนในกองทุนรวมของผู้ลงทุนบุคคล ตั้งแต่ปี 2562 โดยจำแนกลักษณะของผู้ลงทุนในด้าน อายุ เพศ และถิ่นที่อยู่ ทำให้สามารถมองเห็นภาพรวมการลงทุนผ่านกองทุนรวมของทั้งประเทศ และนำไปประยุกต์และรองรับนโยบายในการขยายฐานและส่งเสริมความรู้แก่ผู้ลงทุนแต่ละกลุ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับภาพรวมของผู้ลงทุนในกองทุนรวม (Profile) ณ สิ้นปี 63 มีจำนวนบัญชีในกองทุนรวมทั้งสิ้น 8.3 ล้านบัญชี (เพิ่มขึ้น 1.2 ล้านบัญชีจากปี 62 ที่มี 7.1 ล้านบัญชี) มีจำนวนผู้ลงทุนบุคคลทั้งสิ้น 1.5 ล้านคน (เพิ่มขึ้น 3.2 หมื่นคนจากปี 62 ที่มี 1.48

ล้านคน) และส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง (เป็นผู้หญิง 58% เป็นผู้ชาย 42%) หากพิจารณาสัดส่วนตามภูมิภาคพบว่า 63% อยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (ลดลง 2% จากปี 62 ที่มีสัดส่วนอยู่ที่ 65%) แสดงให้เห็นว่าสัดส่วนผู้ลงทุนบุคคลในพื้นที่ต่างจังหวัดมีการขยายตัวสูงขึ้น

จากข้อมูลของแต่ละ generation ที่ลงทุนในกองทุนรวม ในการศึกษานี้ได้แบ่งผู้ลงทุนบุคคลตาม generation ทั้งหมด 5 generations ด้วยกัน ได้แก่ Post war, Baby Boomer, X, Y และ Z ในด้านจำนวนผู้ลงทุนพบว่า generation Y มีสัดส่วนมากที่สุดคือ 36% ของผู้ลงทุนในกองทุนรวมทั้งหมด โดยเป็นกลุ่มที่มีอัตราการเติบโตของจำนวนผู้ลงทุนสูงที่สุดในปี 56-63 รองลงมาคือ generation X มีสัดส่วน 35% ของผู้ลงทุนในกองทุนรวมทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม Baby Boomer มีแนวโน้มลงทุนลดลงในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา จาก 33% ในปี 56 ลดลงเหลือ 24% ในปี 63 ในด้านของมูลค่าการลงทุนพบว่า กว่าครึ่งของมูลค่าเงินลงทุนเป็นของ Baby Boomer ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีการสะสมเงินลงทุนที่สูงกว่า generation X และ Y

นอกจากนี้ การเข้าถึงกองทุนรวมมีความสำคัญต่อการพัฒนาตลาดทุนไทยเพราะเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดว่าประชากรไทยสะสมเงินลงทุนผ่านตลาดทุนมากน้อยเพียงใด ข้อมูล penetration rate ที่เปรียบเทียบจำนวนผู้ลงทุนบุคคลที่ลงทุนในกองทุนรวมกับประชากรกลุ่มต่าง ๆ ในประเทศไทยจะช่วยสนับสนุนนโยบายการขยายฐานผู้ลงทุนต่อไปในอนาคต โดยการศึกษานี้ได้จัดแบ่งการเข้าถึงการลงทุนในกองทุนรวมเป็น 3 มิติ ดังนี้

มิติแรก คือ การเข้าถึงการลงทุนในกองทุนรวมจำแนกตามกลุ่มประชากร เพื่อประเมินความเป็นไปได้ของประชากรกลุ่มต่าง ๆ ที่มีโอกาสเข้าถึงการลงทุนในกองทุนรวม โดยเปรียบเทียบจำนวนผู้ลงทุนบุคคลในกองทุนรวมกับจำนวนประชากรผู้มีงานทำ จำนวนทั้งสิ้น 37 ล้านคน พบว่า penetration rate เพิ่มขึ้นจาก 3.9% ในปี 62 เป็น 4% ในปี 63 หากเปรียบเทียบกับจำนวนแรงงานในระบบ 15 ล้านคน พบว่า penetration rate อยู่ที่ 10% ซึ่งเห็นได้ว่าอัตราการเข้าลงทุนในกองทุนรวมยังอยู่ในระดับน้อย จึงมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก หรือหากเปรียบเทียบกับจำนวนผู้เสียภาษีทั้งหมด 4 ล้านคน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังในการออมและเป็นเป้าหมายที่จะขยายฐานผู้ลงทุน พบว่า penetration rate อยู่ที่ 34.4% ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 3 ของผู้เสียภาษี จึงเป็น target group ในการผลักดันให้เข้ามาลงทุนในกองทุนรวมมากขึ้นในอนาคต

มิติที่สอง คือ การเข้าถึงการลงทุนในกองทุนรวมจำแนกตามภูมิภาค เพื่อศึกษาว่าพื้นที่ใดมีการเติบโตของผู้ลงทุนในกองทุนรวม ซึ่งในภาพรวมจำนวนผู้ลงทุนในกองทุนรวมยังมีทิศทางเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ เฉลี่ย 9% ต่อปี ในช่วงปี 56-63 โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสูงสุด เฉลี่ย 24% ต่อปี ภาคตะวันออกและภาคเหนือมีการเติบโตเฉลี่ย 12% ต่อปี ภาคกลางเติบโตเฉลี่ย 9% ต่อปี ภาคใต้เติบโตเฉลี่ย 8% ต่อปี ในขณะที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีฐานผู้ลงทุนค่อนข้างสูง ดังนั้นการเติบโตของผู้ลงทุนจึงน้อยกว่าภูมิภาคอื่น ๆ เฉลี่ย 7% ต่อปี จากมิติดังกล่าวแสดงให้เห็นศักยภาพการเข้าถึงกองทุนรวมในภูมิภาคที่มีการเติบโตที่เร็ว สะท้อนถึงความจำเป็นในการขยายฐานผู้ลงทุนนอกเหนือจากพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล

มิติที่สาม คือ การเข้าถึงการลงทุนในกองทุนรวมจำแนกตาม generation เพื่อศึกษาว่ากลุ่ม generation ใดให้ความสนใจในการลงทุนในกองทุนรวม เมื่อทำการวิเคราะห์ penetration rate ตามกลุ่มของ generation ณ สิ้นปี 63 จะเห็นได้ว่ากลุ่มที่มี penetration rate สูงสุดคือ generation X และ generation Y ตามลำดับ ซึ่งอัตราการเข้ามาลงทุนกองทุนรวมสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา โดยสิ่งที่น่าสนใจคืออัตราการเติบโตของ penetration rate ใน generation Y นั้นเติบโตอย่างรวดเร็ว จากปี 56 จนถึง 63 เพิ่มขึ้นเป็น 2.5 เท่า

จากผลการศึกษา Big data นี้แสดงให้เห็นว่า generation X และ generation Y คืออนาคตสำคัญของตลาดทุนมีแนวโน้มในการสะสมเงินลงทุนมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่ม generation Y ที่มีการเพิ่มจำนวนของผู้ลงทุนที่รวดเร็ว จึงเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพและเป็นเป้าหมายสำคัญของ ก.ล.ต. ที่จะส่งเสริมการลงทุนโดยเฉพาะในด้านการให้ความรู้ทางการเงินและการลงทุนที่เหมาะสมกับอายุและเป็นเป้าหมายในการขยายฐานต่อไป เพื่อดึงดูดผู้ลงทุนรุ่นใหม่เข้าถึงตลาดทุนได้มากขึ้นและพัฒนาตลาดทุนไทยอย่างมีประสิทธิภาพ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 มี.ค. 65)

Tags: , , ,
Back to Top