วิจัยกสิกรฯ คาดหนี้ครัวเรือนไทยปี 65 ยังทรงตัวสูงกดดันกำลังซื้อ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุคาดว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยในปีนี้จะยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูงในกรอบประมาณการที่ 86.5-88.5% ต่อ GDP โดยมีค่ากลางกรณีพื้นฐานที่ 87.5% ต่อ GDP ซึ่งแม้สัดส่วนดังกล่าวจะต่ำลงเมื่อเทียบกับระดับ 90.1% ต่อ GDP ณ สิ้นปี 64 แต่ก็ยังนับว่าเป็นสัดส่วนหนี้ครัวเรือนที่ค่อนข้างสูง

สาเหตุสำคัญที่ทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ย่อตัวลงมานั้น มาจากการที่ GDP ณ ราคาประจำปี (Nominal GDP) มีแนวโน้มเติบโตสูงจากผลของภาวะเงินเฟ้อที่เร่งตัว ไม่ได้เป็นผลมาจากหนี้สินของครัวเรือนที่ปรับลดลง หรืออีกนัยหนึ่ง คือ ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนไทยในปี 65 จะยังคงเพิ่มสูงขึ้น

ทั้งนี้ เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวในกรอบจำกัด ย่อมทำให้ประชาชน ครัวเรือนรายย่อยยังคงมีความจำเป็นต้องพึ่งพาเงินกู้มาเสริมสภาพคล่อง หรือเป็นเงินทุนหมุนเวียนในระยะสั้น ขณะที่ครัวเรือนที่มีกำลังซื้อและมีแผนที่จะซื้อที่อยู่อาศัย อาจเร่งตัดสินใจก่อนที่แนวโน้มดอกเบี้ยไทยจะเปลี่ยนเป็นขาขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ระบุว่า จากข้อมูลเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานออกมาล่าสุด ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนไทยในปี 64 ขยับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 14.58 ล้านล้านบาท เติบโตขึ้นประมาณ 3.9% ใกล้เคียงกับการเติบโตของยอดคงค้างหนี้ในปี 63 ที่ 4.0% อย่างไรก็ดี เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 64 ยังคงเติบโตช้า ทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ณ สิ้นปี 64 ยังคงขยับสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 90.1% จากระดับ 89.7% ในปี 63

ทั้งนี้ ในโครงสร้างหนี้ครัวเรือนภาพรวม ณ สิ้นปี 64 หนี้ส่วนใหญ่ของครัวเรือน 3 อันดับแรกยังคงเป็น 1. เงินกู้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัย ซึ่งมีสัดส่วน 34.5% ของหนี้ครัวเรือนรวม 2. เงินกู้เพื่อการประกอบธุรกิจ สัดส่วน 18.1% ของหนี้ครัวเรือนรวม และ 3. เงินกู้เพื่อซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์/รถจักรยานยนต์ สัดส่วน 12.4% ของหนี้ครัวเรือนรวม

อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสังเกตว่า ประชาชนรายย่อยและภาคครัวเรือน มีการพึ่งพาบริการสินเชื่อที่ไม่ต้องใช้หลักประกันในการกู้ยืม เช่น บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลมากขึ้น (สัดส่วนหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลขยับขึ้นมาที่ 8.0% ของหนี้ครัวเรือนรวมในปี 64 จากที่มีสัดส่วนประมาณ 7.0% ของหนี้ครัวเรือนรวมในปี 62 ซึ่งเป็นช่วงก่อนโควิด-19) เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องและแก้ไขปัญหารายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย เพราะภาพรวมเศรษฐกิจและรายได้ของภาคครัวเรือนในหลายๆ ส่วน ยังคงไม่ฟื้นตัวขึ้นจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ลากยาวยืดเยื้อ

“โดยสรุป สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ยังคงขยับสูงขึ้นมาที่ระดับ 90.1% ในปี 64 จากระดับ 89.7% ในปี 63 และสำหรับในปี 65 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดว่า ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนไทยจะยังคงขยับขึ้นต่อเนื่อง แต่เมื่อเทียบกับมูลค่าเศรษฐกิจที่วัดจาก Nominal GDP ที่เติบโตสูงตามภาวะเงินเฟ้อ ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ประเมินว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนอาจชะลอลงมาอยู่ที่กรอบ 86.5-88.5% ต่อ GDP อย่างไรก็ดี สัดส่วนหนี้ครัวเรือนดังกล่าวยังคงเป็นระดับสูง และเป็นหนึ่งในปัญหาเชิงโครงสร้างที่กดดันการบริโภคของครัวเรือนและเศรษฐกิจในภาพรวม” ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ระบุ

ทั้งนี้ ภายใต้สภาวะที่การเติบโตของมูลค่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจ เป็นผลมาจากแรงผลักดันของภาวะเงินเฟ้อสูงมากกว่าการฟื้นตัวอย่างแท้จริงของเศรษฐกิจ ทำให้โจทย์เฉพาะหน้าของครัวเรือนไทยที่เป็นหนี้ ยังคงเป็นการดูแลบริหารจัดการภาระค่าใช้จ่ายให้สอดคล้องกับกระแสรายรับ-รายได้ของครัวเรือน เพื่อให้ยังคงมีความสามารถในการชำระคืนหนี้ แม้ว่าปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงที่ไทยเผชิญจะไม่แตกต่างไปจากประเทศอื่นๆ แต่เนื่องจากการหยั่งลึกของผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ภาคครัวเรือนไทยมีฐานะทางการเงินอ่อนแอลง

ดังนั้น การแก้ไขปัญหาหนี้สินของภาคครัวเรือนซึ่งเป็นจุดเปราะบางหนึ่งของโครงสร้างเศรษฐกิจไทยนั้น นอกจากจะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ต้องมีความต่อเนื่องแล้ว ยังจะต้องใช้เวลา เพราะหนี้ครัวเรือนเชื่อมโยงกับปัญหาเศรษฐกิจการเงินในระดับครัวเรือน และประชาชนรายย่อยอีกหลายด้าน ทั้งปัญหาความสามารถในการหารายได้เพื่อเลี้ยงชีพ ซึ่งจะมีผลช่วยชะลอการก่อหนี้ใหม่ และการแก้ไขภาระหนี้สินเดิมที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งกระทบคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ในปัจจุบัน

ขณะที่ ประเด็นหนึ่งซึ่งอยู่ในแนวนโยบายภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทยของ ธปท. ที่เป็นส่วนสำคัญในช่วยดูแลปัญหาหนี้ครัวเรือน ก็คือ การขยายขอบเขตการกำกับผู้ให้บริการสินเชื่อรายย่อยในลักษณะ activity-based เพื่อให้ครอบคลุมไปถึงผู้ประกอบการกลุ่มอื่นๆ ที่เป็นแหล่งกู้เงินของภาคครัวเรือน

ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนรายย่อยได้รับความคุ้มครอง ควบคู่กับการดูแลเสถียรภาพระดับมหภาค ขณะที่ผู้ให้บริการสินเชื่อก็จะดำเนินตามแนวทางการปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ โดยให้มั่นใจว่าลูกหนี้จะมีรายได้เหลือเพียงพอต่อการดำรงชีพ และไม่มีพฤติกรรมการก่อหนี้ที่ไม่พึงประสงค์เช่น การกู้วนเพื่อรีไฟแนนซ์หนี้เดิม

นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างหนี้ครัวเรือนตั้งแต่ช่วงหลังปี 59 เป็นต้นมา สะท้อนว่า สัดส่วนหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลเพิ่มมากขึ้นจาก 6.0% ในปี 59 มาที่ 8.0% ในปี 64 สวนทางกับสัดส่วนสินเชื่อเพื่อการประกอบอาชีพที่ทยอยปรับลดลงจาก 19.3% ปี 59 มาที่ 18.1% ในปี 64 ซึ่งภาพดังกล่าวน่าจะสะท้อนว่า อาจต้องมีเกณฑ์ที่เข้ามาดูแลเพื่อช่วยลดการก่อหนี้โดยไม่จำเป็นของครัวเรือน และช่วยเพิ่มการเข้าถึงสินเชื่อให้แก่ภาคครัวเรือนที่เป็นหนี้เพื่อการประกอบอาชีพ เป็นต้น

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 เม.ย. 65)

Tags: , , ,
Back to Top