Decrypto: แบน Privacy Coins ชัยชนะเดียวของรัฐบาลทั่วโลก

นับตั้งแต่การแพร่หลายของสินทรัพย์ดิจิทัลทั่วโลก รัฐบาลหรือหน่วยงานกำกับ (Regulator) ของประเทศต่าง ๆ ก็พยายามศึกษาและทำความเข้าใจลักษณะและคุณสมบัติของสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีหลากหลายรูปแบบตามแต่ความสามารถของผู้พัฒนาที่จะออกแบบและกำหนดไว้ ทำให้การกำกับดูแลการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลของรัฐหรือหน่วยงานกำกับทั่วโลกเป็นไปด้วยความยากลำบากเนื่องจากเป็นสิ่งใหม่

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คริปโทเคอร์เรนซีประเภท Privacy Coins ที่มีลักษณะเป็น Anonymity – enhanced cryptocurrency (AEC) ที่สามารถปกปิดข้อมูลการทำธุรกรรม โดยอนุญาตให้ผู้ใช้ควบคุมสิทธิการไม่เปิดเผยข้อมูลกระเป๋า (Wallet) ของผู้โอนหรือผู้รับโอนหรือธุรกรรมที่ทำระหว่างกันได้ ซึ่งต่างจากสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทอื่น ๆ ที่สามารถเรียกดูธุรกรรมบนระบบบล็อกเชน (Blockchain) ได้ คณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงิน หรือ Financial Action Task Force: FATF จึงได้มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางในกำกับดูแล Privacy Coins ว่ารัฐบาลหรือหน่วยงานกำกับไม่ควรอนุญาตให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลทำธุรกรรมเกี่ยวกับ Privacy Coins

รัฐบาลหรือหน่วยงานกำกับทั่วโลกส่วนใหญ่ ทั้งที่มีแนวนโยบายเป็นมิตรและไม่เป็นมิตรกับธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น ประเทศญี่ปุ่น ประเทศฝรั่งเศส และประเทศเกาหลีใต้ รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ของไทย ก็ได้มีแนวนโยบายกำกับดูแลการใช้ Privacy Coins อย่างเคร่งครัด กล่าวคือ การห้ามใช้ เนื่องจากประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการกระทำความผิดต่าง ๆ เช่น การหลีกเลี่ยงภาษี การฟอกเงิน หรือ การหลีกเลี่ยงการยึดอายัดทรัพย์สินของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายโดยใช้ Privacy Coins

โดย ก.ล.ต. เห็นชอบในหลักการกำหนด ห้าม ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทยให้บริการ Privacy Coins หลักการสำคัญโดยสรุปกล่าวคือ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องคัดกรองสินทรัพย์ดิจิทัลที่นำมาให้บริการแก่ลูกค้า ต้องไม่มีลักษณะเป็น Privacy Coins (ปกปิดข้อมูลผู้โอน ผู้รับโอน ปริมาณการโอน) และหากผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลใดให้บริการ Privacy Coins อยู่ก่อนแล้ว ต้องให้ลูกค้าเปิดเผยข้อมูลเลขกระเป๋า (Wallet) ของผู้โอนและผู้รับโอน หรือชื่อเจ้าของกระเป๋า (Wallet) ของผู้โอนหและผู้รับโอน ข้อมูลส่วนตัว เช่น หมายเลขบัตรประชาชน หรือกำหนดให้ลูกค้าไม่ใช้สิทธิการปกปิดข้อมูลการทำธุรกรรม

แม้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกจะมีแนวนโยบายเกี่ยวกับธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ต่างกันหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนขั้นสุดหรือการห้ามเด็ดขาด แต่การกำกับดูแลคริปโทเคอร์เรนซีประเภท Privacy Coins ที่มีลักษณะพิเศษนั้น รัฐบาลหรือหน่วยงานกำกับทั่วโลกกลับเห็นพ้องต้องกันให้มีการควบคุมอย่างเข้มงวด ทำให้การพัฒนาหรือการใช้ Privacy Coins อาจต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างมาก

รวมถึงสถาบันทางการเงินหรือนักลงทุนที่ช่ำชองในสินทรัพย์ดิจิทัลก็เห็นความเสี่ยงในด้านนี้ จึงอาจมองได้ว่าการแบนหรือห้ามใช้ Privacy Coins อาจจะเป็นความสำเร็จเดียวของรัฐบาลหรือหน่วยงานกำกับที่จะสามารถควบคุมการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลได้อย่างเด็ดขาด

นายปรุงศักดิ์ เชาวน์ชาติ

อนุญาโตตุลาการผู้เชี่ยวชาญด้านสินทรัพย์ดิจิทัล ประจำสถาบันอนุญาโตตุลาการ (THAC)

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 เม.ย. 65)

Tags: , , , ,
Back to Top