Decrypto: Bitcoin กับวาทกรรม “เงินโจร”

“Bitcoin เป็นเครื่องมือของผู้ร้ายเอาไว้ใช้ฟอกเงินและแลกเปลี่ยนสิ่งผิดกฎหมาย เพราะรัฐไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าผู้แลกเปลี่ยนเป็นใคร”

ผู้เขียนเชื่อว่าผู้อ่านทุกท่านจะต้องเคยได้ยินวาทกรรมดังกล่าวจากข่าวหรือหน่วยงาน ของรัฐอย่างแน่นอน เพราะในอดีตก่อนที่บุคคลทั่วไปหรือหน่วยงานของรัฐจะรู้จัก Bitcoin และเทคโนโลยีที่ใช้ขับเคลื่อน Bitcoin นั้น Bitcoin ถูกเชื่อว่ามีส่วนในการฟอกเงินและแลกเปลี่ยนสิ่งผิดกฎหมาย เนื่องจากไม่ต้องใช้เอกสาร หรือต้องยืนยันตัวตนใด ๆ ในการเปิดหรือเริ่มใช้ Bitcoin

แม้ธุรกรรมบน Blockchain ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเบื้องหลังของ Bitcoin จะมีความโปร่งใสทุกคนสามารถตรวจสอบความเคลื่อนไหวของแต่ละธุรกรรมได้ว่ามีการโอนย้ายจากบัญชีใดไปบัญชีใด แต่ก็จะไม่ทราบได้อยู่ดีว่าเจ้าของบัญชีนั้น ๆ เป็นใคร เพราะจะทราบเพียง Public Key ซึ่งเป็นเพียงรหัสตัวเลขผมกับตัวอักษรภาษาอังกฤษเท่านั้น

แตกต่างกับเงิน (Fiat) ทั่วไปที่หากผู้ใดต้องการเปิดบัญชีจำเป็นต้องใช้เอกสารหรือหลักฐาน เช่น บัตรประจำตัวประชาชน เอกสารยืนยันหลักแหล่งที่อยู่ หรือเอกสารยืนยันที่มาของเงินนั้น ๆ ในการเปิดบัญชีหรือเริ่มใช้บริการของธนาคารหรือผู้ให้บริการด้านการเงินต่างๆ

อย่างไรก็ตาม ก่อนการทำธุรกรรมใด ๆ ด้วย Bitcoin บุคคลนั้น ๆ จะต้องทำการซื้อหรือขาย Bitcoin ด้วยเงิน Fiat ผ่านนายหน้าหรือศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลก่อน ซึ่งล้วนแล้วแต่มีมาตรการให้ผู้ใช้งานทุกคนต้องยืนยันตัวตนในระดับต่าง ๆ แตกต่างกันไป แล้วแต่ความเข้มงวดของผู้ให้บริการนั้น ๆ

ดังนั้น เมื่อบุคคลใด ๆ ต้องการขาย Bitcoin และนำเงินสดมาใช้ จำเป็นต้องขายผ่านนายหน้าหรือศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีระบบเชื่อมกับธนาคารหรือผู้ให้บริการรูปแบบเดิม ซึ่งเป็นอุปสรรคอย่างมากหากผู้ร้ายหรือผู้ที่ต้องการฟอกเงินจะใช้ Bitcoin เพื่อทำธุรกรรมระหว่างกัน

หากพิจารณาจากข้อเท็จจริงทั่วโลกจะเห็นกว่าผู้ที่ทำผิดกฎหมายด้วย Bitcoin รวมถึงคริปโทเคอร์เรนซีต่าง ๆ นั้นจะอยู่ภายใต้การจับตามองจากหน่วยงานของรัฐอยู่ดี เนื่องจากจากทำธุรกรรม Blockchain จะทิ้งร่องรอยและสามารถติดตามหรือสืบภายหลังได้ง่ายกว่าเสียกว่าการทำธุรกรรมด้วยเงินสด

ในปัจจุบันที่หน่วยงานราชการ หรือผู้บังคับใช้กฎหมายมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ Bitcoin เพิ่มขึ้น จะเห็นได้ว่า Bitcoin ไม่ใช่เครื่องมือหรือวิธีการที่ดีที่จะนำมาใช้เพื่อทำธุรกรรมที่ผิดกฎหมาย หรือหลบเลี่ยงการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่รัฐอีกต่อไป จากที่เห็นได้จากข่าวทั่วโลกที่หน่วยงานของรัฐหรือผู้บังคับใช้กฎหมายสามารถยึดหรืออายัด Bitcoin หรือคริปโทเคอร์เรนซีอื่น ๆ ของผู้กระทำความผิดกฎหมายได้จำนวนมหาศาล เว้นแต่ผู้ที่พยายามกระทำความผิดนั้น ๆ จะซื้อขายแลกเปลี่ยน Bitcoin ด้วยเงินสดโดยไม่ผ่านนายหน้าหรือศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลเสียก่อน ซึ่งก็ไม่ต่างกับการทำธุรกรรมที่ผิดกฎหมายด้วยเงินสดในรูปแบบเดิม ๆ นั่นเอง

นายปรุงศักดิ์ เชาวน์ชาติ

อนุญาโตตุลาการผู้เชี่ยวชาญด้านสินทรัพย์ดิจิทัล ประจำสถาบันอนุญาโตตุลาการ (THAC)

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 เม.ย. 65)

Tags: , , ,
Back to Top