SCBEIC ห่วงหนี้ครัวเรือนปีนี้ยังทรงตัวสูง จากแรงกดดันเงินเฟ้อ-รายได้ฟื้นช้า

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุว่า ในไตรมาส 4 ปี 2564 สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ขึ้นไปแตะที่ระดับ 90.1% ปรับตัวขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า จากการที่หนี้ครัวเรือนขยายตัวสูงกว่า GDP ในช่วงเวลาเดียวกัน โดยไตรมาส 4 ปี 2564 หนี้ครัวเรือนของไทยขยายตัวที่ 1.6% จากไตรมาส 3 นำโดยการกู้ยืมเพื่อทดแทนสภาพคล่องที่ยังเติบโตสูงสะท้อนจากสินเชื่อส่วนบุคคลที่ยังเติบโตสูง ขณะที่ GDP ที่นำมาคำนวณสัดส่วนหนี้ครัวเรือนในช่วงดังกล่าว ขยายตัวในอัตราที่ต่ำกว่าที่ 1.1% ทำให้ตัวเลขสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ปรับตัวสูงขึ้นจาก 89.7% ในไตรมาส 3 มาอยู่ที่ 90.1% ในไตรมาส 4

“สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP เกินระดับ 90% เป็นครั้งแรก และถือว่าสูงอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด ขณะที่ไทยยังคงเป็นประเทศที่มีหนี้ครัวเรือนต่อ GDP สูงเมื่อเทียบกับต่างประเทศ โดยจากข้อมูลของ Bank for International Settlements (BIS) ไทยเป็นประเทศที่มีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP สูงสุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนามาตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบัน”

บทวิเคราะห์ระบุ

EIC มองว่า ปัญหาภาวะเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นในช่วงที่ผ่านมา และยังมีแนวโน้มสูงขึ้นตลอดทั้งปี 2565 จากปัจจัยด้านราคาพลังงานและอาหาร ยิ่งเพิ่มแรงกดดันต่อกำลังซื้อภาคครัวเรือน โดยภาวะเงินเฟ้อสูงในช่วงที่รายได้ฟื้นตัวช้าจากแนวโน้มตลาดแรงงานที่ยังเปราะบาง จะส่งผลกระทบต่อรายได้ที่แท้จริง กำลังซื้อ และความสามารถในการชำระหนี้ที่ลดลง ประกอบกับครัวเรือนบางกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มรายได้น้อยที่มีค่าใช้จ่ายในส่วนอาหารและพลังงานรวมกันมากกว่าครึ่งของค่าใช้จ่ายทั้งหมด อาจจำเป็นต้องก่อหนี้เพิ่มเติมเมื่อรายได้ไม่พอรายจ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นจากราคาที่เร่งตัว

พร้อมมองว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนยังเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย และจำเป็นต้องได้รับการแก้ไข ที่ผ่านมาภาครัฐได้ออกมาตรการช่วยเหลือเพื่อพยุงสถานะทางการเงินของภาคครัวเรือนที่อ่อนแอลงในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผ่านโครงการปรับโครงสร้างหนี้และมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ อย่างไรก็ตาม มาตรการที่ผ่านมายังเป็นเพียงมาตรการแก้ปัญหาในระยะสั้น โดยภาครัฐควรมีมาตรการจัดการเรื่องหนี้ครัวเรือนแบบยั่งยืน โดยมุ่งเน้นทั้งการจัดการหนี้ปัจจุบัน ลดการก่อหนี้ที่เกินตัวเพิ่มเติมในอนาคต รวมถึงการส่งเสริมด้านรายได้และการจ้างงาน เช่น การส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในภาคธุรกิจผ่านการอุดหนุนการจ้างงาน และการปรับทักษะแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด

ทั้งนี้ EIC คาดว่าในปี 2565 สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP จะยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ขณะที่หนี้ครัวเรือนไทยจะยังคงขยายตัวสูงต่อเนื่อง จากแรงกดดันด้านราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ตลาดแรงงานอาจฟื้นตัวไม่ทันภาวะเงินเฟ้อ ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน รวมถึงอาจทำให้มีการก่อหนี้ใหม่เพิ่มเติมเพื่อชดเชยสภาพคล่อง อย่างไรก็ตาม ตัวเลขสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP มีแนวโน้มที่จะยังทรงตัวในปีนี้ แม้ว่าหนี้ครัวเรือนจะเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั้งในด้านปริมาณ (Real GDP) และด้านของราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นจะทำให้ Nominal GDP (GDP ตามราคาปัจจุบัน) ยังขยายตัวสูงขึ้นในระดับที่ใกล้เคียงกับการขยายตัวของหนี้ครัวเรือน

“EIC มองว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนมีโอกาสทรงตัวอยู่ในช่วง 89%-90% ต่อ GDP ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ และจะทยอยปรับลดลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงครึ่งหลังของปี จากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เริ่มทยอยดีขึ้น ทั้งในด้านกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จะได้รับอานิสงส์จากการท่องเที่ยวในช่วงหลังของปี และภาวะเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มชะลอลงในช่วงครึ่งหลังของปีจากราคาพลังงานที่คาดว่าจะทยอยลดลง ทั้งนี้แม้ตัวเลขหนี้ครัวเรือนต่อ GDP อาจไม่เพิ่มสูงขึ้น แต่ EIC มองว่าภาวะหนี้ครัวเรือนยังคงเปราะบางและน่ากังวล จากอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น ตลาดแรงงานที่ยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ รวมถึงค่าแรงที่ครัวเรือนได้รับอาจเพิ่มขึ้นตามไม่ทันราคาสินค้าและบริการ”

บทวิเคราะห์ระบุ

ในระยะต่อไป การช่วยเหลือจากภาครัฐยังคงจำเป็นในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน ปัญหาหนี้ครัวเรือนยังเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยโดยยังจำเป็นต้องได้รับการแก้ไข เนื่องจากภาระหนี้สูงจะทำให้การใช้จ่ายของภาคครัวเรือนมีข้อจำกัด สร้างแรงกดดันสำคัญต่อการบริโภคภาคเอกชน ซึ่งถือเป็นฟันเฟืองสำคัญของเศรษฐกิจของไทยในยามที่เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัว ส่งผลต่อเนื่องให้เศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า

ในระยะข้างหน้า แม้ที่ผ่านมาภาครัฐได้ออกมาตรการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และมาตรการช่วยเหลือเพื่อพยุงสถานะทางการเงินของภาคครัวเรือนผ่านโครงการปรับโครงสร้างหนี้และมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ แต่มาตรการที่ผ่านมายังเป็นเพียงมาตรการแก้ปัญหาในระยะสั้น ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การอุดหนุนด้านค่าใช้จ่าย หรือเพียงบรรเทาภาระการผ่อนชำระหนี้ต่อสถาบันการเงิน

ทั้งนี้ ภาครัฐควรมีมาตรการจัดการแบบยั่งยืน โดยมุ่งเน้นทั้งการจัดการหนี้ปัจจุบัน ลดการก่อหนี้ที่เกินตัวเพิ่มเติมในอนาคต รวมถึงการส่งเสริมในด้านรายได้และการจ้างงาน ซึ่งจะสนับสนุนความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนในปัจจุบันและในระยะข้างหน้า เช่น การส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในภาคธุรกิจ ผ่านการอุดหนุนการจ้างงาน เพื่อให้แรงงานมีรายได้ต่อเนื่อง และการมีนโยบายการเพิ่มรายได้ต่อหัวของประชากรในระยะยาวผ่านการปรับหรือเพิ่มทักษะ (Reskill-Upskill) แรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและเพื่อเพิ่มผลิตภาพ ที่จะส่งผลต่อโอกาสในการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น โดยควรเป็นความร่วมมือของทั้งเอกชนและภาครัฐ ในการกำหนดทักษะที่เป็นที่ต้องการ จัดหาแหล่งการเรียนรู้ที่เข้าถึงง่ายและเข้าถึงได้ตลอดเวลา และมีการรับรองทักษะ

นอกจากนี้ ยังอาจสนับสนุนกลุ่มที่ยังขาดโอกาสในการพัฒนาทักษะ โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานที่มีรายได้น้อยที่ขาดการแนะแนวทางการพัฒนาทักษะหรือไม่มีเวลาพัฒนาทักษะ โดยสำหรับกลุ่มนี้อาจจำเป็นต้องมีการชดเชยรายได้ที่ขาดหายไปจากการปลีกเวลาเพื่อพัฒนาทักษะตามความเหมาะสมต่อไป

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 เม.ย. 65)

Tags: , , , , , ,
Back to Top