RATCH เคาะราคาเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน PO เบื้องต้น 37.75 บาท/หุ้น

บมจ.ราช กรุ๊ป (RATCH) เปิดเผยว่า ในวันที่ 27 เมษายน 2565 ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นได้มีมติอนุมัติการเพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัทฯ การแก้ไขหนังสือบริคณห์สนธิของบริษัทฯ ข้อ 4. เพื่อให้สอดคล้องกับการเพิ่มทุนจดทะเบียน และการจัดสรรหุ้นสามัญที่ออกใหม่เพื่อการเสนอขายหุ้น PPO ตามที่คณะกรรมการบริษัทฯ เสนอโดยมีรายละเอียดของราคาเสนอขายต่อหุ้น จำนวนหุ้นที่เสนอขาย และอัตราส่วนการเสนอขายต่อหุ้นในเบื้องต้น 37.75 บาทต่อหุ้น

ราคาดังกล่าวเป็นราคาที่คำนวณจากราคาถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของหุ้นของบริษัทฯ ในระหว่างวันที่ 31 มีนาคม – 26 เมษายน 2565 เป็นระยะเวลา 15 วันทำการติดต่อกันก่อนวันประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2565 หักด้วยส่วนลดร้อยละ 15 ซึ่งเป็นการคำนวณตามเงื่อนไขที่ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ได้เสนอให้ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นอนุมัติ

ทั้งนี้ ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นมีมติอนุมัติมอบอำนาจให้กรรมการผู้จัดการใหญ่ และ/หรือ ให้กรรมการผู้จัดการใหญ่มอบอำนาจช่วงให้บุคคลอื่นที่มีความเหมาะสม พิจารณาการปรับเปลี่ยน หรือแก้ไขราคาเสนอขายที่ประกาศไว้ไม่ว่าโดยการเพิ่มหรือลดราคาดังกล่าวหากพิจารณาแล้วว่ามีความเหมาะสมเพื่อความสำเร็จของการเสนอขายหุ้นโดยการปรับราคาเสนอขายดังกล่าวจะต้องไม่เกินกว่า 10% ของราคาเสนอขายที่ประกาศไว้และในการกำหนดราคาเสนอขายหุ้น

และการปรับราคาเสนอขายดังกล่าว จะพิจารณาจากสภาวะตลาดความสำเร็จของการเสนอขายหุ้น เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์สูงสุดในการระดมทุนของบริษัทฯ และปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องตามที่บริษัทฯพิจารณาเห็นสมควร

ในกรณีที่มีการปรับราคาเสนอขายที่ประกาศไว้ตามเงื่อนไขดังกล่าว (ไม่ว่าโดยการเพิ่มหรือลดราคาดังกล่าว) ราคาเสนอขายสุดท้ายต่อหุ้นจะอยู่ในช่วงตั้งแต่ 33.97 ถึง 41.52 บาทต่อหุ้น ซึ่งหากมีการปรับราคาเสนอขายที่ประกาศไว้บริษัทฯ จะแจ้งการปรับราคาเสนอขายที่ประกาศไว้และราคาเสนอขายสุดท้ายผ่านระบบสารสนเทศของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2565

สำหรับจำนวนหุ้นที่เสนอขาย ไม่เกิน 769,230,770 หุ้น และอัตราส่วนการเสนอขายต่อหุ้น ไม่ต่ำกว่า 1.885 หุ้นสามัญเดิมต่อ 1 หุ้นสามัญที่ออกใหม่ (ในกรณีที่มีเศษของหุ้นจากการคำนวณตามอัตราส่วนการจัดสรรหุ้น ให้ปัดเศษของหุ้นนั้นทิ้ง) ทั้งนี้บริษัทฯ จะกำหนดอัตราส่วนการเสนอขายต่อหุ้นที่แน่นอนในภายหลัง โดยจะประกาศอัตราส่วนการเสนอขายต่อหุ้นสุดท้ายผ่านระบบสารสนเทศของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ภายในวันที่ 12 พฤษภาคม 2565

นางสาวชูศรี เกียรติขจรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ RATCH กล่าวว่า บริษัทจะแจ้งการปรับราคาเสนอขายที่ประกาศไว้และราคาเสนอขายสุดท้ายภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2565 เพื่อออกและเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทฯ ตามสัดส่วนการถือหุ้น โดยไม่จัดสรรให้ผู้ถือหุ้นที่จะทำให้บริษัทฯ มีหน้าที่ตามกฎหมายต่างประเทศ (PPO)

ทั้งนี้ วันที่ผู้ถือหุ้นไม่ได้รับสิทธิจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน (XR Date) คือวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 ซึ่งบริษัทฯ ได้กำหนดให้วันที่ 9 พฤษภาคม 2565 เป็นวันกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิได้รับการเสนอขายหุ้นสามัญที่ออกใหม่ในการเสนอขายหุ้น PPO (Record Date) และกำหนดระยะเวลาจองซื้อและการชำระราคาหุ้น ในระหว่างวันที่ 6-10 มิถุนายน 2565

การออกหุ้นสามัญใหม่เพื่อเพิ่มทุนครั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านโครงสร้างเงินทุนของบริษัทฯ รองรับแผนการดำเนินงานเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนและต่อเนื่องในระยะยาว โดยบริษัทกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อสร้างการเติบโตภายใต้ “กลยุทธ์ 3-G”ได้แก่ G-1 คือ Growth มุ่งเน้นแสวงหาโอกาสเติบโตเพื่อต่อยอดและสร้างมูลค่ากิจการเพิ่มในอนาคต G-2 คือ Green สนับสนุนพลังงานทดแทนและยกระดับการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล หรือ ESG ตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน และ G-3 คือ Generate มุ่งเน้นเพิ่มขีดความสามารถและประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจ เพื่อสร้างผลตอบแทนที่คุ้มค่าและความเป็นเลิศขององค์กร

บริษัทกำหนดเป้าหมายการลงทุนเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน (Renewable) โดยมีเป้าหมายเพิ่มขึ้นเป็น 2,500 เมกะวัตต์ในปี 2568 และเพิ่มเป็น 4,000 เมกะวัตต์ภายในปี 2578 หรือคิดเป็น 40% ของกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 10,000 เมกะวัตต์ เพื่อเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานหมุนเวียนและพลังงานทดแทนภายใต้นโยบายที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 6 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และ 10 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ตามลำดับ ตอกย้ำความมุ่งมั่นการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) รวมถึงความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)

บริษัทวางเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าเป็น 10,000 เมกะวัตต์และมูลค่ากิจการเป็น 200,000 ล้านบาทภายในปี 68 ผ่านแผนขยายการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศผ่านการพัฒนาโครงการใหม่ (Green-field Projects) ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการและการเข้าซื้อกิจการ (M&A) ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่ากิจการได้เร็วขึ้น รวมถึงกระจายการลงทุนไปยังโครงการระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานและธุรกิจอื่นที่มีแนวโน้มการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว เช่น ธุรกิจเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ (Health Care) โดยกำหนดกรอบการลงทุนในส่วนของโครงการระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานและธุรกิจอื่นไว้ปีละประมาณ 20% ของเงินลงทุนรวม อีกทั้งยังเดินหน้าขยายและต่อยอดการลงทุนธุรกิจในต่างประเทศ อาทิ ออสเตรเลีย, สปป.ลาว, อินโดนีเซีย และเวียดนาม เป็นต้น เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีและยั่งยืนจากการลงทุนในระยะยาว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 เม.ย. 65)

Tags: , ,
Back to Top