In Focus: ตามติดทวิตเตอร์ หลัง “อีลอน มัสก์” เจ้าของคนใหม่ย้ำแจกเสรีภาพการพูด

ภาพ: รอยเตอร์

เป็นที่ชัดเจนแล้วว่านายอีลอน มัสก์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทเทสลา จะเป็นเจ้าของคนใหม่ของบริษัททวิตเตอร์ หลังจากที่คณะกรรมการบริหารของทวิตเตอร์ยอมรับข้อเสนอการซื้อกิจการของนายมัสก์ โดยข้อตกลงดังกล่าวมีมูลค่าถึง 4.4 หมื่นล้านดอลลาร์และจะชำระเป็นเงินสด

เหตุใดบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลกอย่างอีลอน มัสก์ ผู้เป็นเจ้าของบริษัทเทคโนโลยีทั้งเทสลา และสเปซเอ็กซ์ ถึงสนใจบริษัทแพลตฟอร์มโซเชียลที่ไม่ใช่เบอร์หนึ่งของตลาด และหลายฝ่ายมีมุมมองกับเรื่องนี้อย่างไร In Focus สัปดาห์นี้จะพาไปค้นหาเรื่องดังกล่าว

*ทำไมต้องซื้อทวิตเตอร์

นายมัสก์ซึ่งมีผู้ติดตามบนทวิตเตอร์เกือบ 86 ล้านคนได้ประกาศเข้าซื้อบริษัททวิตเตอร์ โดยตกลงที่จะซื้อหุ้นของทวิตเตอร์ทั้งหมดในราคา 54.20 ดอลลาร์ต่อหุ้น คิดเป็นมูลค่ารวม 4.4 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยคาดว่าข้อตกลงทั้งหมดจะเสร็จสิ้นภายในสิ้นปี 2565 ซึ่งจะส่งผลให้นายมัสก์เป็นผู้ถือหุ้น 100% ของทวิตเตอร์ และทวิตเตอร์จะถูกปรับโครงสร้างจากบริษัทมหาชนกลายเป็นบริษัทเอกชนอีกครั้ง

นายมัสก์ระบุว่า ต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงแพลตฟอร์มทวิตเตอร์เพื่อส่งเสริมเสรีภาพในการพูด และการทำให้ทวิตเตอร์กลายเป็นบริษัทเอกชนนั้นจะทำให้นายมัสก์สามารถดำเนินการต่าง ๆ ได้โดยไม่ต้องสนใจความเห็นของนักลงทุน หน่วยงานกำกับดูแล หรือผู้อื่น

แม้ว่าทวิตเตอร์จะไม่ใช่แพลตฟอร์มโซเชียลใหญ่ที่สุด โดยมีผู้ใช้ประมาณ 217 ล้านคนต่อวัน น้อยกว่าหลักพันล้านคนของเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม แต่ทวิตเตอร์ก็เป็นแพลตฟอร์มที่บรรดาผู้นำทางการเมือง บริษัทต่าง ๆ รวมถึงเหล่าเซเลบริตี้ ใช้เป็นช่องทางในการสื่อสารประชาสัมพันธ์ และทำให้ตนเองเป็นที่รู้จัก

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาด้านตัวเลขรายได้ จะพบว่าทวิตเตอร์เป็นบริษัทที่มีผลการดำเนินงานขาดทุนถึง 8 ใน 10 ปีหลังสุด แต่นายมัสก์กล่าวว่า เขาไม่ได้สนใจเรื่องดังกล่าวเลยแม้แต่น้อย

เชื่อกันว่าหนึ่งในเหตุผลที่นายมัสก์ตัดสินใจซื้อทวิตเตอร์แทนที่จะสร้างแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียของตัวเอง (เหมือนที่อดีตปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ทำ) ก็เพราะรูปแบบและฐานผู้ใช้งานของทวิตเตอร์ ซึ่งก็เป็นเรื่องยากที่จะมีแพลตฟอร์มใดสามารถทำได้คล้ายกัน

*การเปลี่ยนแปลงที่ “อีลอน มัสก์” ต้องการ

“เสรีภาพในการพูดถือเป็นรากฐานที่ทำให้ระบอบประชาธิปไตยเดินหน้าต่อไปได้ และทวิตเตอร์จะเป็นเหมือนกับจัตุรัสกลางเมืองดิจิทัลที่เปิดกว้างให้ผู้คนเข้ามาร่วมอภิปรายเรื่องสำคัญต่ออนาคตของมนุษยชาติ นอกจากนี้ ผมต้องการปรับปรุงทวิตเตอร์ให้มีความทันสมัยมากขึ้นด้วยการสร้างฟีเจอร์ใหม่ ๆ, สร้างอัลกอริทึมแบบโอเพ่นซอร์สเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ, กำจัดสแปมในรูปแบบของบอต และให้การรับรองตัวตนของผู้ใช้งานทุกคน” นายมัสก์กล่าวหลังประกาศซื้อกิจการทวิตเตอร์

นายมัสก์ได้ทวีตข้อความเพิ่มเติมว่า “เสรีภาพในการพูดนั้นหมายถึงสิ่งที่เป็นไปตามกฎหมาย ผมต่อต้านการเซ็นเซอร์ที่เกินกว่ากฎหมายกำหนด ถ้าผู้คนต้องการเสรีภาพในการพูดที่น้อยลง พวกเขาจะไปร้องขอให้รัฐบาลผ่านกฎหมายเพื่อให้เกิดเรื่องแบบนั้น ดังนั้นการอยู่เหนือกฎหมายนั้นขัดกับความต้องการของผู้คน”

*ความกังวลด้านสิทธิมนุษยชนจากทั่วโลก

การเข้าซื้อทวิตเตอร์ครั้งนี้นำมาซึ่งความกังวลจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะหน่วยงานสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะเป็นฮิวแมนไรท์วอทช์ กลุ่มดิจิทัลไรท์วอทช์จากออสเตรเลีย หรือมูลนิธิอิเล็กทรอนิกส์ ฟรอนเทียร์ รวมถึงผู้มีอำนาจในยุโรปที่เกรงว่า การผ่อนคลายกฎต่าง ๆ ในทวิตเตอร์อาจทำให้การระรานทางไซเบอร์และการบิดเบือนข้อมูลเพิ่มสูงขึ้น หลังจากที่นายมัสก์ซึ่งเรียกตนเองว่าเป็นผู้มีเสรีภาพในการแสดงความเห็นอย่างสมบูรณ์ (free speech absolutist) เข้าซื้อทวิตเตอร์

กระแสความกังวลหลัก ๆ มาจากการที่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า นายมัสก์อาจจะลดข้อจำกัด ข้อห้ามหรือการควบคุมต่าง ๆ ลง ซึ่งอาจทำให้มีการบิดเบือนข้อมูล ข่าวปลอม และถ้อยคำสร้างความเกลียดชังเพิ่มขึ้นกว่าที่เคยเป็น รวมถึงอาจอนุญาตให้ผู้ที่ถูกแบนจากทวิตเตอร์กลับมาใช้งานได้อีกครั้ง (เช่น อดีตปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งได้ออกมายืนยันแล้วว่าจะไม่กลับไปเล่นทวิตเตอร์แน่นอน)

โฆษกของนายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษกล่าวว่า “ไม่ว่าใครจะเป็นเจ้าของก็ตาม แต่แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียทั้งหมดต้องมีความรับผิดชอบ”

นายเธียร์รี เบรตัน กรรมาธิการตลาดภายในประจำคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ออกมาเตือนว่า “ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์หรือโซเชียลมีเดียก็ตาม ทุกบริษัทที่ดำเนินงานในยุโรปจำเป็นต้องทำตามกฎของเรา ไม่ว่าผู้ถือหุ้นจะเป็นใครก็ตาม”

เดบอราห์ บราวน์ นักวิจัยด้านสิทธิทางดิจิทัลของฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวว่า “ไม่ว่าใครจะเป็นเจ้าของทวิตเตอร์ก็ตาม บริษัทก็ต้องรับผิดชอบต่อสิทธิมนุษยชนเพื่อเคารพสิทธิของประชาชนทั่วโลกที่ใช้แพลตฟอร์มนั้น การเปลี่ยนแปลงนโยบาย ฟีเจอร์ และอัลกอริทึม ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ อาจจะไม่เหมาะสม และบางครั้งก็สร้างผลกระทบที่รุนแรง รวมถึงความรุนแรงในโลกที่เป็นจริงด้วย”

กลุ่มดิจิทัลไรท์วอทช์ระบุว่า “เสรีภาพในการพูดเป็นสิ่งสำคัญ แต่เราต้องคำนึงถึงความสมดุลระหว่างอำนาจกับข้อห้ามอื่น ๆ ที่ทำให้ผู้คนไม่สามารถพูดได้อย่างอิสระ แนวทางของนายมัสก์ที่เป็นผู้มีเสรีภาพในการแสดงความเห็นอย่างสมบูรณ์มีแนวโน้มที่จะทำให้ทวิตเตอร์เป็นสถานที่ที่ปลอดภัยน้อยลงสำหรับผู้ที่ต้องการจะพูดอย่างอิสระ ขณะเดียวกันก็จะทำให้มีการบิดเบือนข้อมูล และการโฆษณาชวนเชื่อที่ทรงพลังแพร่กระจายโดยไม่ได้รับการตรวจสอบ”

ด้านมูลนิธิอิเล็กทรอนิกส์ฟรอนเทียร์ระบุว่า “นามแฝงและการไม่เปิดเผยตัวตนเป็นเรื่องสำคัญในการปกป้องผู้คนจากการแสดงความเห็น ตัวตน หรือความสนใจที่ไม่ตรงกับผู้มีอำนาจ ความเห็นต่างทางการเมือง อาจเป็นเรื่องอันตรายอย่างยิ่งได้ หากผู้มีอำนาจรู้ตัวตนของผู้แสดงความเห็น”

*”เจฟฟ์ เบซอส” ตั้งคำถาม ซื้อทวิตเตอร์กระทบธุรกิจเทสลาในจีนหรือไม่

การเข้าซื้อทวิตเตอร์ยังอาจส่งผลทางอ้อมถึงบริษัทอื่น ๆ ของนายมัสก์ด้วยเช่นกัน โดยนายเจฟฟ์ เบซอส ผู้ก่อตั้งบริษัทแอมะซอนดอทคอมได้ตั้งคำถามว่า “การซื้อทวิตเตอร์จะทำให้ธุรกิจของเทสลาในประเทศจีนมีปัญหาหรือไม่?”

“นี่เป็นคำถามที่น่าสนใจมาก รัฐบาลจีนจะได้ประโยชน์อะไรบ้างจากทวิตเตอร์ซึ่งเป็นเหมือนจัตุรัสแห่งการแสดงความเห็นสาธารณะ แต่สำหรับผมแล้ว ผมตอบได้เลยว่า รัฐบาลจีนจะไม่ได้ประโยชน์จากเรื่องนี้ ผมมองว่าผลที่ตามมาไม่ใช่การที่จีนจะเซ็นเซอร์ทวิตเตอร์ แต่กลายเป็นว่าธุรกิจของเทสลาจะเผชิญกับความซับซ้อนในประเทศจีน” นายเบซอสกล่าว

นายเบซอสกล่าว

นายมัสก์ได้ชูแคมเปญเสรีภาพในการพูดบนแพลตฟอร์มทวิตเตอร์ หลังจากบรรลุข้อตกลงซื้อกิจการ อย่างไรก็ดี ทวิตเตอร์ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่ได้รับความนิยมสูงสุดของชาวอเมริกัน กลับถูกห้ามใช้งานในประเทศจีน เนื่องจากรัฐบาลจีนกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของการแสดงความเห็นอย่างเปิดกว้างบนพื้นที่สาธารณะ

ที่ผ่านมานั้น กิจการเทสลาในประเทศจีนมีความก้าวหน้าอย่างมาก ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากลดหย่อนภาษี, เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และการที่รัฐบาลจีนอนุญาตให้บริษัทต่างชาติเป็นเจ้าของธุรกิจได้อย่างเต็มรูปแบบ อย่างไรก็ตาม เทสลาเผชิญแรงกดดันในปีที่แล้ว หลังจากสื่อและหน่วยงานของรัฐบาลจีนได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับทัศนคติของเทสลาที่มีต่อลูกค้า

*อนาคตที่ยังไม่แน่นอนภายใต้การนำของ “อีลอน มัสก์”

เมื่อวันจันทร์ (25 เม.ย.) นายปารัก อักราวัล ซีอีโอของทวิตเตอร์ได้แจ้งกับพนักงานของบริษัทในการประชุมกับพนักงานหลังทวิตเตอร์ยอมรับข้อเสนอซื้อกิจการของนายมัสก์ ว่าอนาคตของบริษัทนั้นอยู่ในความไม่แน่นอน

นายอักราวัลได้แจ้งให้พนักงานทำงานในโปรเจกต์ที่มีอยู่ต่อไป และจะหาเวลาสอบถามข้อสงสัยต่าง ๆ ของพนักงานกับนายมัสก์ โดยนายอักราวัลระบุว่าได้พูดคุยกับนายมัสก์เพียงไม่กี่ครั้ง และอนุมานเอาจากที่พูดคุยกันว่า “นายมัสก์ต้องการให้ทวิตเตอร์เป็นพลังด้านบวกของโลกเหมือนกับเราทุกคน นายมัสก์เชื่อว่าทวิตเตอร์นั้นสำคัญ”

นอกจากนี้ นายอักราวัลยังเรียกร้องให้พนักงานดำเนินงานกับทวิตเตอร์เหมือนที่ผ่านมา พร้อมเสริมว่า วิธีที่เราดำเนินการ การตัดสินใจที่เราทำ และการเปลี่ยนแปลงด้านบวกที่เราขับเคลื่อน ทั้งหมดนั้นจะเป็นของเรา และอยู่ภายใต้การควบคุมของเรา

แม้ว่าจะมีความกังวลมากมายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของทวิตเตอร์ แต่นายแจ็ค ดอร์ซีย์ ผู้ร่วมก่อตั้งและอดีตซีอีโอของทวิตเตอร์ได้ออกมาสนับสนุนการซื้อทวิตเตอร์ของนายมัสก์ด้วยการทวีตลิงก์ไปยังเพลง “Everything in Its Right Place” ของวง Radiohead และขอบคุณนายมัสก์ที่นำบริษัทออกจากสถานการณ์ที่ยากลำบาก พร้อมระบุเสริมว่า “ผมเชื่ออย่างสุดหัวใจว่านี่เป็นหนทางที่ถูกต้อง”

ขณะนี้อาจจะยังไม่มีความแน่นอนเกี่ยวกับข้อมูลต่าง ๆ อยู่มาก และจะมีความชัดเจนมากขึ้นหลังข้อตกลงทั้งหมดเสร็จสิ้นอย่างสมบูรณ์ ซึ่งเชื่อว่าจะไม่เกินปีนี้ ถึงตอนนั้นเราจะได้เห็นกันว่า แพลตฟอร์มเพื่อเสรีภาพในการพูดภายใต้การบริหารของบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลกนั้น จะออกมามีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 เม.ย. 65)

Tags: , , , , , , , , ,
Back to Top