ADD ศึกษาลงทุนธุรกิจเทคฯต่อยอดคอนเทนต์โซลูชั่นครบทุกมิติสรุปใน 3-6 เดือน

นายสมโภช ทนุตันติวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บมจ.แอดเทค ฮับ (ADD) เปิดเผยว่า บริษัทมีแผนศึกษาเพื่อเข้าลงทุนในบริษัทฯอื่นที่เกี่ยวข้องกับ Core Business ต่อยอดสู่การพัฒนาคอนเทนต์-โซลูชั่น ให้ครบทุกมิติ

ทั้งนี้ บริษัทเตรียมศึกษาแผนการลงทุนธุรกิจด้านเทคโนโลยีเพิ่มเติม ภายหลังที่ผู้ถือหุ้นได้มีมติแก้ไขวัตถุประสงค์การใช้เงินเพิ่มทุนที่ได้จากการการเสนอขายหุ้น IPO ในปี 64 จำนวน 150 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาในการศึกษา 3-6 เดือน ซึ่งบริษัทฯมองว่าแผนการศึกษาดังกล่าวจะส่งผลดีต่อธุรกิจในอนาคต

ขณะที่ภาพรวมธุรกิจในไตรมาส 2/65 บริษัทยังคงเดินหน้าการให้บริการดิจิทัล โดยเฉพาะด้าน E-Content ในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งสาระและความบันเทิงที่เพิ่มมากขึ้น ควบคู่กับการต่อยอดการลงทุนในธุรกิจด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ ภายใต้การนำเทคโนโลยีและกลยุทธ์ทางดิจิทัล (Digital Transformation) ไปใช้กับองค์กรของกลุ่มพันธมิตร ที่ให้ความสนใจร่วมทุนกับบริษัทฯ เพื่อเป็นการสร้างโอกาสการเติบโตอย่างแข็งแกร่งในระยะยาวมากขึ้น

โดยจากความสำเร็จในการเข้าถือหุ้น 46.73% ในบริษัท เซเว่น คอนเนค แอดไวซอรี่ จำกัด (7C) ผู้ดำเนินธุรกิจเป็นที่ปรึกษาด้านบัญชี การวางระบบควบคุมภายใน การปรับโครงสร้างกิจการ การควบรวมกิจการ และที่ปรึกษาในการเตรียมตัวเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ มีกลุ่มลูกค้ามากกว่า 30 บริษัท และยังเป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯอีกหลายบริษัท

ทั้งนี้ 7C มีบริษัทย่อย 2 บริษัท คือ บริษัท มาย โค๊ดดิ้ง โรแมนซ์ จำกัด (MCR) และ บริษัท ไท-ไท วิศวกร จำกัด (TTE) ซึ่งมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีต่อเนื่อง ส่งผลให้ ADD สามารถรับรู้กำไรได้ทันทีตั้งแต่เข้าไปลงทุน โดยบริษัทจะเริ่มทยอยรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากกลุ่ม 7C ตามสัดส่วนการถือหุ้นตั้งแต่ไตรมาส 2/65 เป็นต้นไป

สำหรับผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 1/65 บริษัทฯมีรายได้จากการให้บริการรวม 110.47 ล้านบาท ลดลง 18.01% และมีกำไรสุทธิ 21.23 ล้านบาท ลดลง 20.08% ซึ่งมาจากการรับรู้รายได้จาก 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่

  1. ธุรกิจการให้บริการดิจิทัลคอนเทนต์ มีรายได้ 91.38 ล้านบาท ลดลง 21.62% เมื่อเทียบกับปี 64 เนื่องจากภาวะสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 และปัญหาเงินเฟ้อ ซึ่งส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคในวงกว้าง ขณะที่กำไรขั้นต้น อยู่ที่ 23.48 ล้านบาท หรือลดลง 25.76% โดยมีอัตรากำไรขั้นต้น เท่ากับ 25.70% ลดลงจากปี 64 ที่มีอัตรากำไรขั้นต้น 27.13% เนื่องจากต้นทุนส่วนแบ่งรายได้ให้แก่คู่ค้าด้านการตลาดในช่องทางออนไลน์โดยเฉลี่ยมีอัตราส่วนแบ่งรายได้ที่สูงขึ้น
  2. ธุรกิจการให้บริการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ มีรายได้จำนวน 18.80 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% ขณะที่กำไรขั้นต้น อยู่ที่ 10.42 ล้านบาท ลดลง 10.54% โดยมีอัตรากำไรขั้นต้น เท่ากับ 55.43% ลดลงจากปี 64 ที่มีอัตรากำไรขั้นต้น 64.44% เนื่องจากต้นทุนค่าบริการคลาวด์เซิร์ฟเวอร์และต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับพนักงานเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับโครงการใหม่ในอนาคตและ
  3. ธุรกิจการให้บริการโฆษณาผ่านอินเทอร์เน็ต มีรายได้ 0.30 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 217.39% เนื่องจากลูกค้ากลุ่มผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์มีการใช้จ่ายด้านสื่อโฆษณาเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีขาดทุนขั้นต้น 0.42 ล้านบาท เนื่องจากต้นทุนส่วนใหญ่เป็นต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับพนักงาน ซึ่งเป็นต้นทุนคงที่

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 พ.ค. 65)

Tags: , , ,
Back to Top