Decrypto: FinTech กับ กระบวนการยุติธรรม

การพัฒนาทางเทคโนโลยีในด้าน FinTech ก่อให้เกิดนวัตกรรมและบริการทางการเงินที่มีความซับซ้อนมากขึ้น โดยในตลาดการเงิน FinTech ได้มีผู้เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายฝ่าย (เช่น สถาบันแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล, ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์, ผู้ให้บริการ และผู้ใช้บริการ เป็นต้น) ซึ่งเพิ่มโอกาสให้เกิดความขัดแย้งได้มากมายหลายรูปแบบ

อาทิ การกระทำผิดสัญญา FinTech ต่างๆ (เช่น ข้อตกลงการพัฒนา/บำรุงรักษาซอฟต์แวร์, ข้อตกลงการให้บริการ, joint ventures, และสัญญาใช้บริการแพลตฟอร์มซื้อขายแลกเปลี่ยนคริปโทเคอร์เรนซี เป็นต้น), การละเมิดลิขสิทธิ์ และการใช้ข้อมูลที่เป็นความลับในทางที่ผิด, การละเมิดความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ การสูญเสียข้อมูล และการละเมิดความลับ, ข้อพิพาทด้านไอทีเกี่ยวกับการสร้างแพลตฟอร์ม, การละเมิดข้อมูลหลังการแฮกคอมพิวเตอร์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อพิพาทจากการหลอกลวงให้ลงทุนใน cryptocurrency และทรัพย์สินดิจิทัลที่อื่น ๆ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเทคโนโลยีต่างๆ ในแวดวง FinTech เช่น สกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrencies) สัญญาอัจฉริยะ (Smart Contracts) และบล็อกเชน (Blockchain) เป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ จึงยังคงมีคำแนะนำและแนวปฏิบัติเพียงเล็กน้อยเกี่ยวกับวิธีการจัดการกับข้อพิพาททางกฎหมายที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้

ตัวอย่างเช่น จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อฝ่ายต่างๆ ไม่เห็นด้วยกับ Rate การแปลง Bitcoin สู่สกุลเงินปกติ, คู่สัญญาอาจโต้แย้งจำนวนเงินที่มีในแพลตฟอร์มกระเป๋าเงินดิจิทัลของตน, การทำรหัสผ่านหายและไม่สามารถเข้าถึงได้ตามปกติ หรือหากสมาชิกในครอบครัวเสียชีวิต ทายาทจะกู้คืนทรัพย์สินในแพลตฟอร์มกระเป๋าเงินดิจิทัลได้อย่างไร หากไม่ทราบถึงรหัสผ่านของพวกเขา?

การระงับข้อพิพาทที่เกี่ยวข้องกับ FinTech อาจดำเนินการได้หลายช่องทาง เช่น การระงับข้อพิพาททางเลือก (Alternative Dispute Resolution) รวมถึง การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท (Mediation) และการอนุญาโตตุลาการ (Arbitration) ซึ่งปัจจุบันนับว่าเป็นวิธีการระงับข้อพิพาทที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เนื่องจากการทำธุรกรรม FinTech บน Blockchain ที่มีความซับซ้อนที่เกิดขึ้นจากการไม่เปิดเผยตัวตนของผู้ทำธุรกรรม ต้องการความเข้าใจในระบบ coding จึงต้องการความยืนหยุ่นในการดำเนินกระบวนพิจารณา และผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้าน FinTech มาเป็นผู้ดำเนินการไกล่เกลี่ย หรืออนุญาโตตุลาการ

อย่างไรก็ดี การระงับข้อพิพาททางเลือกยังคงมีข้อจำกัดบางประการ เช่น ค่าใช้จ่ายสูง อำนาจในการขอให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่างๆ และยังคงจำกัดเฉพาะข้อพิพาทที่เกิดขึ้นจากการทำสัญญาเท่านั้น

แต่หากเป็นข้อพิพาทที่เกี่ยวกับการฉ้อโกงหรือ หลอกลวงให้ลงทุนใน cryptocurrency และทรัพย์สินดิจิทัลต่าง ๆ การโดนแฮก หรือการเข้ามาจัดการทรัพย์สินดิจิทัลให้แก่บุคคลในครอบครัวที่เสียชีวิตนั้น ก็ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องพึ่งพากระบวนการยุติธรรมทางการศาล (Litigation)

อย่างกรณีที่เกิดขึ้นในศาลประเทศอังกฤษเมื่อเร็ว ๆ นี้ เป็นคดีฉ้อโกง cryptocurrencies ในบัญชีของ Binance ได้แก่คดี Fetch.AI Ltd and Another v Persons Unknown and others [2021] EWHC 2254 (Comm)

ความน่าสนใจของคดีนี้คือ เป็นคดีที่บริษัทสัญชาติอังกฤษ ชื่อ Fetch AI Limited และนิติบุคคลสัญชาติสิงค์โปร์ ชื่อ Fetch.ai Foundation PTE Limited ร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้อง ‘บุคคลที่ไม่รู้ว่าใคร’ (Persons Unknown) ต่อศาลอังกฤษ ด้วยเหตุว่า ‘บุคคลที่ไม่รู้ว่าใคร’ ได้กระทำการฉ้อโกงด้วยการเข้าถึงบัญชี Binance ของโจทก์ที่มี cryptocurrencies หลายสกุลเงิน จากนั้น ‘บุคคลที่ไม่รู้ว่าใคร’ ก็ได้ดำเนินการแลกเปลี่ยน cryptocurrencies เหล่านี้ในราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าตลาดอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อโอนไปยังบัญชีของพวกเขาเอง มูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นประมาณ 2.6 ล้านดอลลาร์

ในการดำเนินคดี โจทก์ผู้ฟ้องคดีได้เริ่มจากการขอตรวจสอบกลุ่มบุคคลที่เรียกว่า ‘บุคคลที่ไม่รู้ว่าใคร’ (Persons Unknown) โดยได้กำหนดกรอบไว้ ได้แก่ 1) ผู้ที่สามารถเข้าถึงบัญชีได้ และ 2) ผู้ที่เป็นเจ้าของหรือควบคุมบัญชีที่มีการโอน cryptocurrencies ผ่านตลอดสาย หรือมี cryptocurrencies ที่ถูกฉ้อโกงมานั้นอยู่

ศาลอังกฤษเห็นว่ากรอบดังกล่าวกว้างเกินไปและจะทำให้ผู้ที่ได้รับโอน cryptocurrencies (ที่ถูกฉ้อโกง) มาตลอดสายที่ไม่ได้มีส่วนรู้เห็นต้องถูกระงับบัญชีชั่วคราว ส่งผลให้ศาลได้นิยามคำว่า ‘บุคคลที่ไม่รู้ว่าใคร’ (Persons Unknown) ใหม่ และจำกัดว่าการระงับบัญชีชั่วคราวให้มีเฉพาะกับผู้ที่รู้หรือควรจะรู้ว่า cryptocurrencies ที่ถูกฉ้อโกงนั้นเป็นของโจทก์

ต่อมาศาลได้พิจารณาว่าคดีนี้อยู่ภายใต้เขตอำนาจศาลอังกฤษ และใช้กฎหมายอังกฤษในการพิจารณาคดี โจทก์จึงขอให้ศาลสั่งให้ Binance เปิดเผยข้อมูลการแลกเปลี่ยน เพื่อค้นหาผู้อยู่เบื้องหลังการฉ้อโกง และได้ร้องขอให้ Binance ในประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิ้งของ Binance ที่จดทะเบียนที่หมู่เกาะเคย์แมน เยียวยากรณีดังกล่าว

โดยในประเด็นการพิจารณาว่าจะต้องให้ Binance เปิดเผยข้อมูลการแลกเปลี่ยนหรือไม่นั้น ศาลได้คำนึงถึงความเสี่ยงต่อผลประโยชน์ของผู้ใช้บริการรายอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับการรักษาความลับของพวกเขา อย่างไรก็ตาม ในที่สุดศาลก็ได้ตัดสินว่าการแทรกแซง (โดยจำกัด) นี้ เป็นความเสี่ยงที่คุ้มค่าที่จะทำให้เหยื่อสามารถกู้คืนทรัพย์สินของพวกเขาคืนมาได้ คำสั่งดังกล่าวจึงได้รับความร่วมมือจาก Binance ในประเทศอังกฤษเปิดเผยข้อมูลเพื่อการสืบสวน และมีการดำเนินคดีหาตัวผู้กระทำความผิดต่อไป

คดีพิพาทดังกล่าวแสดงให้เห็นได้ว่า อย่างน้อยที่สุดกระบวนการยุติธรรมทางศาล ก็ยังสามารถคุ้มครองผู้ที่ตกเป็นเหยื่อให้ได้รับการเยียวยาความเสียหาย และได้รับความช่วยเหลือในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด

นางสาวดุษดี ดุษฎีพาณิชย์

ทนายความผู้เชี่ยวชาญด้านนิติกรรมสัญญา

และอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 พ.ค. 65)

Tags: , , , ,
Back to Top