วิจัยกรุงศรี คง GDP ปีนี้โต 2.8% ความเชื่อมั่นยังอ่อนแอ-แรงกดดันหลายปัจจัย

วิจัยกรุงศรี ระบุว่า สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เผย GDP ไตรมาสแรกของไทยปี 2565 ขยายตัว 2.2% (YoY) และเติบโตต่อเนื่องจาก 1.8% ในไตรมาสสุดท้ายของปีก่อน โดยปัจจัยหนุนสำคัญมาจากการขยายตัวเร่งขึ้นของการบริโภคภาคเอกชน และการส่งออกภาคบริการ จากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว ผนวกกับการเติบโตอย่างต่อเนื่องของการส่งออกสินค้า และการบริโภคภาครัฐ

อย่างไรก็ตาม การลงทุนภาครัฐกลับมาหดตัว ด้านภาคการผลิต สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร และสาขาเกษตรกลับมาขยายตัว ส่วนสาขาการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม สาขาการขายส่ง ขายปลีก เติบโตชะลอลง ขณะที่สาขาก่อสร้างหดตัวต่อเนื่อง

“ภาพรวมเศรษฐกิจ มีสัญญาณเชิงบวกจาก GDP ในไตรมาสแรกของปี ซึ่งเมื่อหักผลของปัจจัยทางฤดูกาลแล้วขยายตัว 1.1% (QoQ) ดีกว่าที่วิจัยกรุงศรีคาดไว้ที่ 0.8% ผนวกกับแนวโน้มการเปิดประเทศที่เร็วกว่าคาด”

วิจัยกรุงศรี ระบุ

อย่างไรก็ดี ในช่วงที่เหลือของปี เศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงภายนอก และแรงกดดันจากภายใน ดังนี้

1. ผลกระทบเชิงลบของสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อเกินคาด และยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง

2. การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน จากมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวด ซึ่งอาจกระทบต่อการส่งออกไทย และภาวะชะงักงันของห่วงโซ่การผลิต

3. แรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อในประเทศ ที่เร่งขึ้นการลดการอุดหนุนจากภาครัฐ (อาทิ น้ำมันดีเซล และก๊าซหุงต้ม) และการทยอยลดลงของมาตรการพยุงเศรษฐกิจ ซึ่งอาจส่งผลต่อกำลังซื้อในประเทศ

“วิจัยกรุงศรี ยังคงประมาณการ GDP ปีนี้จะขยายตัวที่ 2.8% ขณะที่ล่าสุด สภาพัฒน์ฯ ได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจปีนี้เหลือเติบโต 2.5-3.5% จากเดิมคาด 3.5-4.5% และปรับคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเป็น 4.2-5.2% จากเดิมคาด 1.5-2.5%”

วิจัยกรุงศรี ระบุ

ด้านดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือนเม.ย. ปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 สู่ระดับต่ำสุดในรอบ 8 เดือน ที่ 40.7 ถือเป็นระดับที่ต่ำรองจากเดือนส.ค. 64 ที่ทำสถิติต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 39.6 และเทียบกับ 42.0 ในเดือนมี.ค. 65 สาเหตุสำคัญจากความกังวลเกี่ยวกับการระบาดของไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนในช่วงเดือนเม.ย. ที่ยังมีจำนวนผู้ติดเชื้อสูง และปัญหาค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น จากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าและน้ำมันเชื้อเพลิง

ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัว สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ในระยะ 6 เดือนข้างหน้า ร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 7 เดือนที่ 48.0 บ่งชี้ถึงอุปสงค์ภายในประเทศยังอยู่ในภาวะอ่อนแอ ท่ามกลางแรงกดดันทางด้านราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่อยู่ในระดับสูง จากผลกระทบของสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ และมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียที่แรงขึ้น

อย่างไรก็ตาม ยังพอมีปัจจัยบวกที่อาจช่วยสนับสนุนการใช้จ่าย และฟื้นความเชื่อมั่นได้บ้างในระยะถัดไป หลังสถานการณ์การระบาดบรรเทาลง ทางการทยอยปรับลดระดับการแจ้งเตือนภัยโควิด เพื่อสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น ผนวกกับมาตรการรัฐเพื่อพยุงการใช้จ่ายในประเทศ โดยมีการขยายโครงการเราเที่ยวด้วยกันเฟส 4 เพิ่มอีก 1 ล้านสิทธิ์ ขยับเป็นสิ้นสุดเดือนก.ย. 65 (เดิมพ.ค.) รวมถึงมีการเตรียมออกโครงการคนละครึ่งเฟส 5

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 พ.ค. 65)

Tags: , , , , ,
Back to Top