สุพัฒนพงศ์ เชื่อไทยก้าวข้ามวิกฤตไปได้ มั่นใจศก.ยังโตเหตุมีเสถียรภาพ-ความเชื่อมั่น

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน กล่าวเสวนาหัวข้อ “เวทีมองเศรษฐกิจโลกสะท้อนเศรษฐกิจไทย” ในงาน “ถามมา…ตอบไป เพื่อประเทศที่ดีกว่า” (Better Thailand open Dialogue) ว่า หากย้อนไปดูสถานการณ์การลงทุนในประเทศช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 53-62) ก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 จะพบว่าในช่วง 5 ปีแรก (ปี 53-57) ไม่มีการลงทุนใหม่เกิดขึ้นเลย รายได้เข้าประเทศจึงเป็นผลจากการลงทุนเดิม แต่ช่วง 5 ปีต่อมา (ปี 58-62) รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีการลงทุนเพิ่มมากขึ้น ขณะที่การหารายได้เข้าประเทศนั้นเป็นการพยายามรักษาฐานรายได้เดิมที่มาจากการส่งออก ขณะเดียวกันก็เน้นการอุปโภคบริโภคภายในประเทศส่งผลให้อัตราหนี้ครัวเรือนเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในอัตรา 15% ซึ่งรัฐบาลพยายามควบคุมไม่ให้สูงมากเกินไป

ภาวะการต่อสู้กับสถานการณ์โควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลมีเพียงการใช้หน้ากากและกำหนดมาตรการเว้นระยะห่าง แต่สามารถป้องกันการแพร่ระบาดได้ดีจนกระทั่งปลายปี 63 มาพบการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลตา ท่ามกลางสถานการณ์ที่ทั่วโลกขาดแคลนวัคซีน แต่เราสามารถเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติตามโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ในวันที่ 1 พ.ย.64 ซึ่งนับถึงปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาแล้ว 1.2 ล้านคน

อย่างไรก็ตาม เมื่อต้นปี 65 เกิดวิกฤตซ้ำเติมจากกรณีการสู้รบระหว่างรัสเซียกับยูเครน ซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อรุนแรง ทำให้ราคาสินค้าและพลังงานแพงสูงสุดในรอบ 10 ปี

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาความสามัคคีภายในชาติที่ร่วมมือร่วมใจกันแก้ไขปัญหาทำให้ประเทศชาติสามารถผ่านพ้นวิกฤตมาได้จนถึงทุกวันนี้ จะเห็นได้ว่าประเทศยังมีเสถียรภาพทางการเงินการคลัง ระดับความเชื่อมั่นยังคงที่ตามเดิม ซึ่งถือเป็นเสน่ห์ของประเทศไทย แม้จะมีเสียงบ่นมากมายแต่สุดท้ายทุกคนก็ร่วมมือกัน ตอนนี้รอเพียงให้สามารถเปิดประเทศได้อย่างเต็มที่ และคิดว่าทุกคนจะสามารถปรับตัวได้

“เชื่อว่าเศรษฐกิจปีนี้ยังเติบโตไปได้ ปัญหาเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นทั่วโลกรัฐบาลก็แก้ปัญหากันต่อไป ความร่วมมือร่วมใจในการแก้ไขปัญหาของคนไทยจะสามารถผ่านพ้นวิกฤตไปได้เหมือนที่ผ่านมา”

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว

ด้านนายสมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCBX) และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน Ecomomic Intelligence Center (EIC) กล่าวว่า สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่มีความไม่แน่นอนเกิดขึ้นถือเป็นความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะเห็นว่าท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ก็เกิดสถานการณ์สู้รบระหว่างรัสเซียกับยูเครน ซึ่งมาทับซ้อนกับปัญหา distruption ก่อนหน้านี้ ดังนั้นจึงเป็นโอกาสดีที่จะมีการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ เพราะหลังวิกฤตโควิด-19 คลี่คลาย ความต้องการสินค้าและบริการของผู้บริโภคจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ขณะที่ภาคเศรษฐกิจจะต้องมีการปรับโครงสร้างให้เกิดการเกื้อกูลกัน เพื่อให้เติบโตไปด้วยกันทั้งเครือข่าย ไม่มีใครสามารถเติบโตต่อไปได้โดยลำพัง

“การพัฒนาประเทศในช่วง 40-50 ปีที่ผ่านมาก็เป็นไปด้วยดี เพราะมีการเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิต แต่พอนานๆ ไป การพัฒนาช้าลง ดังนั้นจึงต้องมีการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ การเกิดวิกฤตทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง อยากให้ทุกคนย้อนดูตัวเองว่าพัฒนาแล้วหรือยัง”

นายสมประวิณ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 พ.ค. 65)

Tags: , , ,
Back to Top