สภาพัฒน์ แนะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ สร้างภูมิคุ้มกันรับมือวิกฤต

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวในงานเสวนาในหัวข้อ “มองเศรษฐกิจโลกสะท้อนเศรษฐกิจไทย” ในงาน”ถามมา…ตอบไป เพื่อประเทศที่ดีกว่า” (Better Thailand open Dialogue) ถึงการประคองเศรษฐกิจในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หลังจากเกิดวิกฤตโควิด-19 ว่า รัฐบาลได้ออกมาตรการด้านการเงินและการคลัง ผ่านโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” “คนละครึ่ง” เพื่อช่วยค่าครองชีพและกระตุ้นการบริโภค รวมทั้งมาตรการเงินกู้ช่วยเหลือรายย่อย และมาตรการสาธารณสุขเพื่อรักษาชีวิตประชาชน รวมถึงมีการออกมาตรการกระตุ้นการบริโภค ผ่านโครงการ”เราเที่ยวด้วยกัน” เพื่อช่วยการท่องเที่ยว โครงการ “เราชนะ” และเติมเงินในโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยโครงการดังกล่าวต้องใช้เงินกู้ภายใต้ พ.ร.ก.เงินกู้เพื่อฟื้นฟูและเยียวยาเศรษฐกิจ

“สิ่งที่รัฐบาลทำ คือ การประคับประคองเศรษฐกิจ การดูแลรักษาชีวิตประชาชน และมีการอัดเม็ดเงินลงทุน รักษาการจ้างงาน ซึ่งนโยบายที่ทำต้องดูจังหวะ เวลา และต้องติดตามตลอด และสิ่งที่เกิดขึ้นการใช้โครงการคนละครึ่ง โครงการเราชนะ ทำให้ประชาชนมีการปรับตัวหันมาใช้เทคโนโลยีมากขึ้น และช่วงที่เดลตาระบาด สามารถดึงแรงงานนอกระบบ เข้าสู่ระบบมากขึ้น ประมาณ 20 ล้านคน”

สำหรับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 นั้น ที่ผ่านมาโครงสร้างเศรษฐกิจยังไม่มีภูมิคุ้มกันที่เพียงพอ และเศรษฐกิจพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวเป็นหลักและการผลิตแบบเดิม แต่จากการวิกฤตโควิดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมารวมถึงสงครามรัสเซีย-ยูเครน จึงต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจอีกรอบ โดยแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ฉบับที่ 13 กำหนดเรื่องที่ต้องให้ได้ภายใน 5 ปีข้างหน้า ให้เกิดการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูงขึ้น เน้นการวิจัยนวัตกรรม โดยเน้นเรื่องใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ มีสินค้าใหม่ เกษตรแบบ Smart Farming ด้านอุตสาหกรรมรถยนต์ต้องปรับตัว ปรับสู่ยานยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมบริการ รวมถึงในแผนมีความพยายามลดความเหลื่อมล้ำ สร้างซัพพลายเชน กระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค มีกิจกรรมเศรษฐกิจไปภูมิภาค แก้ปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้า การปรับระบบจัดการภาครัฐให้รวดเร็วมากขึ้น ลดเวลา ลดต้นทุนภาคธุรกิจ ปรับปรุงการศึกษา

สำหรับการปรับตัวเพื่อรับมือกับวิกฤตที่เกิดขึ้นนั้น เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวว่า ประชาชนปรับตัวมามากแล้ว ปีนี้ยังมีวิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งเชื่อว่าสถานการณ์น่าจะมีความยืดเยื้อไปทั้งปีนี้ สิ่งแรกที่ต้องปรับตัว คือ ยืนด้วยตัวเอง เน้นการพึ่งพาในประเทศ

ด้านนายสมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCBX) และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน Ecomomic Intelligence Center (EIC) กล่าวว่า สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่มีความไม่แน่นอนเกิดขึ้นถือเป็นความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะเห็นว่าท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ก็เกิดสถานการณ์สู้รบระหว่างรัสเซียกับยูเครน ซึ่งมาทับซ้อนกับปัญหา distruption ก่อนหน้านี้ ดังนั้นจึงเป็นโอกาสดีที่จะมีการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ เพราะหลังวิกฤตโควิด-19 คลี่คลาย ความต้องการสินค้าและบริการของผู้บริโภคจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ขณะที่ภาคเศรษฐกิจจะต้องมีการปรับโครงสร้างให้เกิดการเกื้อกูลกัน เพื่อให้เติบโตไปด้วยกันทั้งเครือข่าย ไม่มีใครสามารถเติบโตต่อไปได้โดยลำพัง

“การพัฒนาประเทศในช่วง 40-50 ปีที่ผ่านมาก็เป็นไปด้วยดี เพราะมีการเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิต แต่พอนานๆ ไป การพัฒนาช้าลง ดังนั้นจึงต้องมีการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ การเกิดวิกฤตทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง อยากให้ทุกคนย้อนดูตัวเองว่าพัฒนาแล้วหรือยัง”

นายสมประวิณ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 พ.ค. 65)

Tags: , , ,
Back to Top